“หมอระวี” เตรียมยื่นร่างกม.นิรโทษกรรรมทุกสี เว้นโทษทุจริต-คดีอาญารุนแรง-ม.112 เข้าถกสภา

“หมอระวี” เตรียมยื่นร่างกม.นิรโทษกรรรมทุกสี เว้นโทษทุจริต-คดีอาญารุนแรง-ม.112 เข้าถกสภา คาดเสร็จทันสมัยประชุมนี้

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ (กมธ.) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ไปหารือกับหลายฝ่ายเพื่อหาทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ยุติความแตกแยกทางความคิดในบ้านเมืองช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พร้อมยกร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน มีวัตถุประสงค์ให้คนในชาติกลับสู่ความสงบสุขสามัคคีกัน

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า โดยสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้กระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ครอบคลุมตั้งแต่การใช้วาจา การโฆษณาต่อต้านรัฐบาล การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการชุมนุม การประท้วงที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นที่เป็นเหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง จะไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาและแพ่ง ให้พ้นจากการกระทำผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ จะไม่ครอบคลุมถึงความผิด 3 กรณีได้แก่ 1.การทุจริตคอร์รัปชั่น 2.ความผิดทางอาญาที่รุนแรง เช่น การยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือบุคคลอื่น และ 3.ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่อยู่ในข่ายได้รับนิรโทษกรรม หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ถ้าคดีใดยังไม่ถูกฟ้องต่อศาลหรืออยู่ระหว่างสอบสวน ถือว่าให้ระงับการสอบสวน หรือยุติการส่งฟ้องต่อศาล หากถูกฟ้องต่อศาลแล้วให้ถอนฟ้อง หรือถ้าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี และกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษบุคคลใดไปแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด

นพ.ระวี กล่าวอีกว่า หากใครอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุด และได้รับการปล่อยตัว ร่างกฎหมายฉบับนี้เพิ่งยกร่างเสร็จเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ขณะนี้จะนำไปประสานส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ ผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะพยายามผลักดันเข้าสู่สภาฯ ให้เร็วที่สุด ให้พิจารณาเสร็จทันก่อนปิดสมัยประชุมสภาฯ นี้ โดยใช้เวลาพิจารณาในชั้นกมธ.ไม่นานแค่ 2-3 สัปดาห์ ก็ส่งให้สภาลงมติวาระ 2-3 ได้ เพราะจะมีเนื้อหาแค่ 7 มาตราเท่านั้น มั่นใจจะได้รับความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะตอนยกร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ไปหารือกับแกนนำทุกกลุ่มทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. แม้จะไม่ได้เห็นชอบด้วยทุกคน แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นชอบด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image