ผู้ว่าฯน่านขอกม.ป่าสงวนคุ้มครองแก้เขาหัวโล้น เมินปลูกพืช มีแต่ต้องย้ายลงมา

 

เมื่อวานนี้ ( 9 ธันวาคม )นายไพศาล วิมลรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น ว่า ตนใช้ศาสตร์พระราชาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่มีอุปสรรคผู้ว่าฯเข้าไปทำอะไรในป่าไม่ได้เลยเพราะผิดกฎหมาย และบอกคนที่เข้าจะหารือเรื่องปลูกป่าว่าไม่ต้องมา ให้ไปหาอธิบดีกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ว่าฯเข้าไปทำอะไรในป่าไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย ถูกจับไปแล้วกี่คน ผู้ว่าฯไม่ใช่มนุษย์พิเศษจะได้รับการยกเว้น วันนี้ก็ถูกฟ้องร้องป.ป.ช.สอบไปแล้วคนหนึ่ง ใครมาถามหารือเรื่องปลูกป่าตนบอกเลยไม่ต้องมา ให้ไปคุยเลยกับอธิบดีกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องยอมรับว่าคนที่อยู่บนดอยนั้นเป็นคนน่าน อยู่กันมานานตั้งแต่สมัยไหนๆ และให้ความหวังเขาเรื่อยมาตลอดว่าวันหนึ่งจะได้มีเอกสารสิทธิ์ แต่จู่ๆ กฎหมายบ้านเมืองก็มาประกาศป่าครอบ

“เขาต้องมีที่อยู่ไม่งั้นจะไปอยู่ที่ไหน แล้วก็ต้องกินต้องใช้ ลูกเข้าโรงเรียน เจ็บป่วย มันก็ต้องมีอาชีพ แล้วอาชีพในป่านี่ใครเข้าไปทำอะไรก็ไม่ได้ ราชการจะเข้าไปช่วยเหลือก็ทำไม่ได้ งบประมาณหลายอันต้องคืนไป เพราะเข้าไปทำแล้วจะโดนจับ นี่คือข้อเสีย” นายไพศาลกล่าว และเชื่อว่าจะยังไม่สามารถแบ่งโซนป่ากับพื้นที่ทำกิน เพราะปัญหาเรื่องคนยังไม่นิ่ง ปัญหาภูเขาหัวโล้นต้องแก้ใหม่ที่โครงสร้างด้านการผลิต อะไรก็ได้ที่ทดแทนปลูกข้าวโพด แต่ต้องได้ผลประโยชน์ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะใช้นโยบายของรัฐบาลคือเกษตรแปลงใหญ่หรือฟาร์มแปลงใหญ่ มาดำเนินการและต้องสัญญาจะไม่ทำบนที่ปลูกข้าวโพดนั้นอีก เมื่อย้ายลงจากดอยมาทำกินอยู่ใกล้ชุมชนแล้ว ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ก็จะหายไปเองโดยอัตโนมัติ

201612100534013-20021028190217

Advertisement

นายไพศาลกล่าวว่า วันนี้ปัญหาที่พบคือคนที่อยู่ในชุมชนที่หนึ่ง แต่รุกเข้าไปทำกินอีกที่หนึ่ง เราต้องการให้เขาลงทำกินในพื้นที่อยู่อาศัยเลยเพื่อที่จะตีขอบได้ ตนอาศัยศาสตร์พระราชาเป็นเรื่องที่สำคัญของแนวทางนี้ แต่แยกทางเดินกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพราะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ตนเสนอม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เรียกร้องให้นำเข้าค.ร.ม.หรืออะไรก็ได้ ให้โครงการของยุทธศาสตร์จังหวัดควรได้รับคุ้มครอง ตามมาตรา 19 ด้วยเช่นกัน เพื่อจะไม่ให้คนที่อยู่บนพื้นที่สูงในป่าต้องเสียโอกาสการพัฒนา จะเริ่มทำที่อ.นาน้อยเป็นพื้นที่นำร่องก่อน พร้อมกับขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยวิธีปลูกพืชอื่นทดแทนข้าวโพดซึ่งเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย พืชอะไรแทนก็ยังผิดกฎหมายอยู่ดี มันไม่ยั่งยืน ฉะนั้นมีวิธีการเดียวคือต้องให้เขาลงมาอยู่ข้างล่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image