นายกเล็กน่านแนะ ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว’ กรองคน-ทุนเข้าเมือง หลังลาวเริ่มทำทางรถไฟ-ถนน

วันที่ 26 มกราคม 2560 นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน และอดีตประธานหอการค้าน่าน กล่าวถึงกรณีเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็ว 160 กม./ชั่วโมง จากเมืองคุนหมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับแขวงหลวงพระบาง และนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว เชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคมสายบ้านจอมเพชร เชียงแมน และสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมหลวงพระบาง-เมืองหงสา-ด่านน้ำเงิน (ด่านห้วยโก๋น) แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ระยะ 137 กม. พร้อมแผนพัฒนาเมืองเศรษฐกิจและศูนย์ราชการใหม่แทนหลวงพระบาง จะเกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบระยะ 3-5 ปี จากนักท่องเที่ยวประเทศจีนที่โดยสารมากับรถไฟปีละ 10-16 ล้านคน ส่วนหนึ่งจะหลั่งไหลเข้าทางด้านล้านนาตะวันออกของประเทศไทยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากโครงการสามเมืองแฝด หรือน่าน หลวงพระบาง เชียงรุ่ง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของหอการค้าน่านต่อเนื่องหลายปีที่ผ่านมา

นายสุรพลกล่าวว่า ทางเลือกของการท่องเที่ยวเพื่อไปมาหาสู่กัน มีหลายทางเพื่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดรายได้ แต่ทางเครื่องบินอาจไม่น่าสนใจเพราะระยะสั้น เขาจะเลือกทางรถไฟที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่องเที่ยวทางน้ำและความบันเทิงเนื่องจากทิวทัศน์สวย และทางรถยนต์ที่สามารถเดินทางด้วยตัวเอง สะดวก แวะระหว่างทางได้ง่าย ทั้ง 3 ทางนี้เป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่เป็นโอกาสแน่นอน จึงอยู่ที่เราเตรียมความพร้อมและมองตลาดให้ออก ในฐานะที่ตนดูแลเมืองเก่าที่มีชีวิตของน่านอยู่ ด้วยกฎหมายผังเมืองและควบคุมเขตเทศบาลที่ได้รับประกาศเป็นเมืองเก่า จึงมีความชัดเจนรักษาตัวตนนี้เป็นจุดขาย เสริมด้วยการรองรับนักท่องเที่ยวแบบเอื้ออำนวยความสะดวกแต่ไม่ทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้น ภาษา ความรู้ต่างๆ เตรียมความพร้อมเพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาต้องหลิ่วตาตามเรา

201701261411161-20021028190217

“สมมุติเราตกใจบางประเทศอาจมีปัญหากลัวไม่เข้าใจวัฒนธรรม เอาพฤติกรรมในประเทศของเขามาใช้ เราก็ต้องสร้างองค์ความรู้โดยเฉพาะภาษาที่เราจะต้องสื่อสารด้วยวิธีไหน เรื่องการค้าขายไม่ต้องห่วง เขาหาวิธีการอยู่แล้ว” นายสุรพลกล่าว และว่า นโยบายระบายพลเมืองและทุนจากบางประเทศ ที่หลายคนเป็นห่วง หากปล่อยให้เข้ามาทำธุรกิจได้เสรี ชาวน่านอาจสูญเสียที่ดินและดุลทางเศรษฐกิจนั้น สำคัญว่านักท่องเที่ยวหรือธุรกิจจากกลุ่มไหน เมื่อเข้ามาดูลู่ทางลงทุน สิ่งที่ต้องถือมาด้วยคือเงินและการซื้อที่ดิน ตกลงระหว่างคนจะซื้อกับคนขายซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่จะสร้างความรักผูกพัน ความภาคภูมิใจในน่านแล้วเก็บโอกาสให้กับลูกหลานของตัวเอง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันความเปลี่ยนแปลง โดยให้เขาได้มีเงินในกระเป๋า ในขณะที่คนน่านยังมีความสุขเหมือนเดิม ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นธรรมาภิบาล ความเอื้ออาทรของประชาชนที่อยู่ร่วมกัน ต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด ไม่ใช่พูดแต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว ไม่ต้องไปรีบ แล้วเมืองของเราจะยั่งยืน

Advertisement

201701261411165-20021028190217

นายสุรพลกล่าวด้วยว่า ในฐานะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่ง ตราบที่ตนยังเป็นนายกเทศมนตรีเมืองน่าน จะใช้แนวทางนี้รักษาการท่องเที่ยวแบบนี้ไว้ ได้รับความสนใจจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นเมืองปลอดภัยระดับโลก เป็นที่ศึกษาดูงานหลายเรื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือในและต่างประเทศ เราสามารถวางรูปแบบและตัวตนที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มไหน อย่างไรก็ตาม การวางระบบต่างๆ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานระดับจังหวัด เมื่อการก่อสร้างคมนาคมต่างๆ ใน สปป.ลาวเสร็จแล้ว พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบก่อนคือ อ.ปัว จ.น่าน มีลักษณะคล้ายเมืองท่องเที่ยวของภาคเหนือบางแห่ง มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ผสมผสานเรื่องสถานบันเทิงและแหล่งธรรมชาติ ตนไม่แน่ใจว่าได้วางผังเมืองและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไว้ขนาดไหน เท่าที่สังเกต นักท่องเที่ยวที่มาจากสังคมและภูมิประเทศที่คล้ายน่าน นิยมไปหาความบันเทิงหรือบรรยากาศทะเลที่อื่น ส่วนน่านเองพยายามจำกัดการลงทุนเท่าที่มีอยู่แล้ว เช่น นักท่องเที่ยวหาที่พักหรือร้านอาหารไม่เพียงพอ จะบริการเสริมด้วยเต็นท์พักสนามหน้าสำนักงานเทศบาล จัดลานขันโตกและถนนคนเดิน เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image