ชาวชะอวด จัดเวทีช่วยเหลือ-หาทางออกภัยพิบัติท่วม

วันที่ 28 มกราคม 2560 สภาพบรรยากาศโดยทั่วไปของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันนี้ ท้องฟ้าแจ่มใส มีแดดตั้งแต่เช้า จะมีบางพื้นที่ในโซนเขาที่ท้องฟ้ายังคงมืดครึ้ม ขณะที่ประชาชนทุกพื้นที่ ต่างนำข้าวของออกมาตากแดด ซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุด เทศบาลนครนครศรีธรรมราช

โดยนายมนัส พงศ์ยี่หล้า รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เร่งนำเจ้าหน้าที่ออกทำความสะอาดในพื้นที่ พร้อมระบุ เร่งทำความสะอาดทุกพื้นที่ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองต่อไป ส่วนพื้นที่ อ.ชะอวด ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในครั้งนี้ ได้มีภาคประชาชนจัดเวทีประชาสังคม การจัดการเมืองชะอวด ประเด็น การรวบรวมข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาวการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ศาลาอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลชะอวด อำเภอชะอวด ในช่วงบ่ายของวันนี้

นายสุรชัย วรชาญชัย เครือข่ายเฝ้าระวังภัยพิบัติ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรุงชิง ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในเฟซบุ๊ก ถึงการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ อ.นบพิตำ ว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 60 ผมได้มองเห็นอะไรมากมาย ที่ได้รับประสบการณ์น้ำท่วมปี 54 มา พอเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความเป็นห่วงและห่วงใยต่อผู้ประสบภัยของพี่น้องคนไทยและคนเทศก็จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่เกิดภัย พร้อมทั้งมีถุงยังชีพติดไม้ติดมือมาภัยหนึ่งภัยที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่ามีคนอยู่ 3 กลุ่มด้วยกันคือ 1.กลุ่มผู้ให้(ผู้ช่วยเหลือ) 2.กลุ่มผู้รับ(ผู้ประสบภัย) 3.กลุ่มผู้จัดการของแจก(กลุ่มนี้จะผสมผสานกันทั้งกลุ่ม1และ2) กลุ่มที่ 3 ส่วนมากจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครในหมู่บ้านและ อาจจะมีสมาชิก อบต.ในหมู่บ้านนั้นๆร่วมอยู่ด้วย

“ในยามเกิดเหตุภัยพิบัติผู้คนทั้ง 3 กลุ่ม อาจจะมีความคิดที่เหมือนกันและอยากให้มันเป็น ในการแจกจ่ายถุงยังชีพ คือ ความทั่วถึง เท่าเทียม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ด้วยความที่เป็นห่วงเป็นใยกันกับเหตุการณ์ที่มันเกิด ต่างคนต่างกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม คงจะลืมนึกถึงเครื่องมือการจัดการการแจกจ่ายถุงยังชีพ เพื่อมาลดความวุ่นวายในการแบกรับของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทั้ง 3 กลุ่ม เครื่องมือที่ว่า คือ ฐานข้อมูล ฐานข้อมูลในการแจก คือ ข้อมูลทะเบียนบ้าน ที่มีอยู่ในหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว อาทิ อำเภอ เทศบาล และหมู่บ้าน เอาข้อมูลทะเบียนบ้านมาเป็นตัวตั้ง พอได้ข้อมูลที่เป็นตัวตั้งมาแล้ว จากนั้นกลุ่ม 3 ก็มีสำรวจข้อมูลเพิ่มเพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน คือ ข้อมูลบ้านที่ยังไม่ขอทะเบียนบ้าน และคนต่างถิ่นต่างชาติที่มาเป็นแรงงานในหมู่บ้าน พอได้มาซึ่งข้อมูลแล้วสมบูรณ์แล้ว ก็มาทำการจัดการ (การจัดทำข้อมูล ถ้าช้าสุดคาดว่า 2 วัน เร็วสุดคาดว่า 1 วัน) ” นายสุรชัย กล่าว

Advertisement

201701281118126-20041020143405

นายสุรชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเราเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เห็นว่าหน่วยงานใดของรัฐจะหยิบเอาฐานข้อมูลมารณรงค์เพื่อให้เอาใช้ให้เป็นประโยชน์ มันจึงไม่แปลกเลย ว่าทำไมประชาชนทั่วไปจากจังหวัดต่างๆต้องการเข้าไปมอบด้วยตัวเองกับผู้ประสบภัย เหมือนจะเชื่อได้เลยว่า เกิดเหตุภัยพิบัติแต่ละครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการถอดบทเรียนการจัดการ ด้วยการหยิบข้อมูลมาใช้กันเลย

“ บอกตรงๆผู้ใหญ่บ้านและท้องถิ่น น่าสงสารเป็นอย่างมาก ส่วนหน่วยงานรัฐอื่นๆที่อยู่ห่างชาวบ้านก็สบายไป ผมไม่เคยเห็นสื่อพาดหัวข่าวว่า ผู้ว่าฯสั่งให้ใช้ฐานข้อมูลแก้ปัญหา เห็นแต่คำสั่งกดดันลูกน้องตัวเองที่อยู่ระดับล่างสุดความผิดพลาดมันอยู่ที่ผู้ใหญ่บ้านหรือ พ่อเมืองมีอำนาจมากมายทำไมไม่ใช้อำนาจให้เกิดความสร้างสรรค์บ้าง หยุดโทษผู้นำส่วนล่างกันเองเถอะครับ มองให้รอบด้านกันดีกว่า ว่าหลังจากนี้เราจะเดินไปด้วยกันอย่างไร ” นายสุรชัย กล่าวอีก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image