ศ.ดร.ธเนศวร์ นำเครือข่าย ปชต. เขียน จม.ถึง กกต.เชียงใหม่ ข้องใจกฎเลือกตั้ง ส.ว. ไม่โปร่งใส

เครือข่ายประชาธิปไตยเชียงใหม่-ลำพูน บุกยื่นจดหมายเปิดผนึก กกต.เชียงใหม่ ขอความชัดเจน หลังประกาศกฎเหล็กคุมเข้มเลือก ส.ว. ห้ามผู้สมัครแนะนำตัว-ตั้งกลุ่ม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายประชาธิปไตยเชียงใหม่-ลำพูน นำโดย รศ.รังสรรค์ จันต๊ะ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกลุ่มผู้เตรียมสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ยื่นจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ระเบียบว่าด้วยการให้ได้มาของ ส.ว.ชุดใหม่ หลัง กกต.ได้ประกาศระเบียบข้อห้ามการแนะนำตัวของผู้สมัคร และการนับคะแนนแบบปิดลับที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้เข้าไปตรวจสอบ โดยมี น.ส.อรัญญา ณ ลำพูน รองผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนรับจดหมายเปิดผนึก

ทั้งนี้ เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึก เครือข่ายประชาธิปไตยเชียงใหม่-ลำพูน ได้ตั้งข้อสงสัยที่ไม่อาจทำความเข้าใจได้ รวม 3 ข้อ เพื่อให้ กกต.ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้ทราบอย่างชัดเจนถึงกระบวนการในการคัดเลือก ส.ว.ที่กำลังจะมีขึ้นให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใส

Advertisement

1.ตราบใดที่ระเบียบการแนะนำตัวของผู้สมัคร ส.ว.ยังไม่มีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษานั้น การที่บุคคลผู้สมัครจะเผยแพร่ประวัติของตัวเองให้ผู้อื่นรู้ด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามย่อมไม่ถือเป็นความผิด ใช่หรือไม่

2.การบังคับให้ผู้สมัครต้องแนะนำตัวกับเฉพาะผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น ก็เท่ากับไปจำกัดการรับรู้ของประชาชน ที่ต้องการรู้ว่ามีใครลงสมัครบ้าง และสุดท้ายใครได้รับการคัดเลือก เพราะ ส.ว.มีหน้าที่สำคัญคือพิจารณาเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญที่จะจัดทำขึ้นใหม่ และพิจารณากฎหมายต่างๆ รวมถึงการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กรอิสระต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน แต่ทำไมประชาชนจึงไม่สามารถเข้าไปรับรู้หรือตรวจสอบได้

3.การนับคะแนนจากการคัดเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว. โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศแบบปิดลับ โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้หรือเป็นสักขีพยานในการนับคะแนนในครั้งนี้เลยนั้น นับเป็นการปฏิบัติที่ขาดความโปร่งใส ซึ่งอาจนำไปสู่การใช้อำนาจในการปิดบังอำพรางซึ่งข้อมูล หรือข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นคะแนนของผู้สมัครอย่างบริสุทธิ์โปร่งใสได้ เรื่องนี้จะมีแนวทางปฏิบัติไปสู่การแก้ไขประการใด

Advertisement

รศ.รังสรรค์เปิดเผยว่า กฎะเบียบการหาเสียงและแนะนำตัวที่ กกต.ประกาศมาสร้างความสับสนแก่ผู้สนใจสมัคร ส.ว.เป็นอย่างมาก เพราะห้ามแนะนำตัวผ่านสื่อให้ประชาชนรับรู้ เวลานี้ยังมีกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส.ว.ออกมาว่าผู้สมัครก็ควรมีอิสระในการแนะนำตัว หรือตั้งกลุ่มเพื่อพูดคุยกันระหว่างผู้สมัคร แต่ กกต.กลับห้าม หากไม่ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจะลงคะแนนเลือกในกลุ่มหรือไขว้กลุ่มได้อย่างไร เพราะผู้สมัครแทบไม่รู้จักกันเลย

รศ.รังสรรค์กล่าวว่า นอกจากนี้ อีกประเด็นที่เครือข่ายตั้งข้อสังเกตคือการนับคะแนนตั้งแต่ระดับอำเภอและจังหวัดที่ทำแบบปิดลับ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วม หรือตรวจสอบได้ อำนาจทั้งหมดอยู่ที่นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด มหาดไทยรับไปเต็มๆ กกต.ควรจะชี้แจงเพื่อให้เกิดชัดเจนว่าทำไมถึงกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ออกมา ทำให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ดูไม่โปร่งใส

ด้าน ศ.ดร.ธเนศวร์กล่าวว่า กฎ ระเบียบ ข้อห้ามของ กกต.ในการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย เพราะหลักการของประชาธิปไตยคือต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่หลักการข้อแรกคนที่จะมีส่วนร่วมได้ต้องเสียค่าสมัคร 2,500 บาท ขณะที่หลายคนอยากมีส่วนร่วมก็ดิ้นรนหาเงินมาลงสมัคร แต่เมื่อเสียเงิน กกต.กลับห้ามตั้งกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้สนใจสมัคร

“คาดว่าหน้าตาของคนที่จะได้เข้ามาเป็น ส.ว.คือเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก และเป็นกลุ่มของใครบางกลุ่มที่จัดตั้งกันมา เพราะมีการกีดกันไม่ให้ผู้สมัครทำความรู้จักและพูดคุยกัน สิ่งที่กังวลตอนนี้คือเริ่มมีการชักชวนและทาบทามคนให้ลงสมัคร ส.ว.แล้ว” ศ.ดร.ธเนศวร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image