ผู้ว่าฯสมุทรสงครามสั่งกำจัดหนอนหัวดำระบาดสวนมะพร้าวภายใน 15 วัน

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จากกรณีที่เกิดปัญหาหนอนหัวดำระบาดในสวนมะพร้าวจังหวัดสมุทรสงครามอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวสวนอย่างมาก ล่าสุด นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของหนอนหัวดำร่วมประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนหัวดำ พบว่ามีการระบาดรวม 16 ตำบล 55 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอเมือง 7 ตำบลคือ ต.ลาดใหญ่ 8 หมู่บ้าน, ต.นางตะเคียน 7 หมู่บ้าน, ต.บางขันแตก 5 หมู่บ้าน, ต.คลองเขิน 5 หมู่บ้าน, ต.แหลมใหญ่ 2 หมู่บ้าน, ต.คลองโคน และ ต.บ้านปรก ตำบลละ 1 หมู่บ้าน, อำเภออัมพวา 7 หมู่บ้าน คือ ต.บางแค 5 หมู่บ้าน, ต.บางนางลี่ 3 หมู่บ้าน  ส่วน ต.เหมืองใหม่, ต.ท่าคา, ต.แควอ้อม, ต.วัดประดู่, ต.ปลายโพงพาง ตำบลละ 1 หมู่บ้าน, อำเภอบางคนที 2 หมู่บ้าน คือ ต.ดอนมะโนรา 7 หมู่บ้าน และ ต.บางสะแก 6 หมู่บ้าน รวมความเสียหาย 554 ราย 1,092 ไร่ จำนวน 27,300 ต้น เป็นมะพร้าวแกง 117 ไร่ 2,917 ต้น มะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวตาล  975 ไร่ 24,383 ต้น

นายคันฉัตรเปิดเผยว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าหนอนหัวดำระบาดเข้ามาในจังหวัด จนเป็นสัตว์ประจำถิ่นไปแล้ว จะอาศัยฝังตัวตามกองเปลือกมะพร้าวต่างๆ และมักจะระบาดเป็นประจำในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งจะกัดกินใบอ่อนจะต้นโทรมและตายในที่สุด โดยแนวทางแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำจะแยกเป็น 3 ระยะ คือระยะแรกต้องตัดใบเผาทำลาย ระยะที่ 2 ส่งเสริมการฉีดเชื้อบีทีสารเคมีตามกรณี คือในต้นที่ระบาดรุนแรงน้อย ฉีดเชื้อบีที (บิวเวอร์เรี่ย) ติดต่อกัน  3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน หากรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก กรณีต้นมะพร้าวสูงน้อยกว่า 12 เมตรให้ฉีดพ่นสารเคมี เช่น ฟลูเบนไดเอไมด์ 20 เปอร์เซ็นต์ WG  จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน กรณีต้นสูงกว่า 12 เมตร ส่งเสริมให้เจาะลำต้นฉีดสารอีมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92 เปอร์เซ็นต์อีซี อัตรา 30 ซีซีต่อต้น

“ระยะที่ 3 หากปริมาณการระบาดลดลงส่งเสริมให้มีการปล่อยแตนเบียนบราคอน 200 ตัวต่อไร่ 10 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน เพื่อควบคุมการระบาดต่อไป ซึ่งตนได้มอบให้กำนันผู้ใหญ่บ้านประสานชาวสวนเพื่อลงแขกกำจัดแตนเบียน โดยให้ท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณซื้อเครื่องฉีดพ่นส่วนหนึ่ง และยืมเอกชนอีกส่วนหนึ่ง ส่วนสารเคมีและค่าแรงตัดใบเจ้าของสวนต้องออกค่าใช้จ่ายเอง โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันเริ่มดำเนินการวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บหนอนหัวดำศัตรูตัวฉกาจของมะพร้าวส่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ตรวจพิสูจน์หากพบว่าไม่มีอันตรายใดๆ สามารถรับประทานได้เช่นตั๊กแตน หนอนไผ่หรือที่เรียกกันว่ารถด่วน ก็จะสนับสนุนให้มีการนำหนอนหัวดำมากินเพื่อเป็นการกำจัดให้เบาบางลงหรือหมดไปจากพื้นที่” นายคันฉัตรกล่าว

ทั้งนี้ นายคันฉัตรกล่าวว่า ส่วนมะพร้าวจากนอกพื้นที่ จะมีหนอนหัวดำติดเข้ามาด้วย จังหวัดจะเรียกประชุมผู้รับซื้อมะพร้าวที่มีอยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม กว่า 600 แห่ง เพื่อขอให้รับซื้อมะพร้าวขาวอย่างเดียว หรือหากมีกาบมะพร้าวติดมาก็ต้องเผาทำลายทันที ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ยอม จังหวัดจะมีมาตรการบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image