นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้วิกฤตหมอกควันไฟจากประเทศเพื่อนบ้านน่าเป็นห่วง แนะประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง เฝ้าระวังผู้สูงอายุและควรสวมหน้ากากอนามัย
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ จากการติดตามข้อมูลและเฝ้าระวังสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดย Asst. Prof. Dr. HELMUT JOSEF DURRAST อาจารย์ประจำหลักสูตรฟิสิกส์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าเป็นห่วงในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันว่า จะเห็นค่า PM2.5 สูงเข้าขั้นวิกฤต ในพื้นที่จังหวัดสงขลา รวมถึงภาคใต้ตอนล่าง โดยได้เผยข้อมูลสำคัญจากการติดตามเรดาห์ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าฝุ่นควันการเผาไหม้จากบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ประชาชนป้องกันอันตรายจาก PM2.5 แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา และภาคใต้ตอนล่าง งดออกกำลังกายกลางแจ้ง เฝ้าระวังผู้สูงอายุและควรสวมหน้ากากอนามัย
โดยจากการเก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากเรดาห์ย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา พบค่า PM2.5 อยู่ที่ 80 และสูงสุดอยู่ที่ 153 ซึ่งถือว่าเข้าขั้นวิกฤต รวมถึง เรดาห์บริเวณพื้นที่คอหงส์ พบค่า PM2.5 อยู่ที่ 87 และสูงสุดอยู่ที่ 178 ซึ่งแรงลมมีผลสำคัญต่อสภาพอากาศ โดยเมื่อดูข้อมูลรวมของเดือนกรกฎาคม จะเห็นว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น คุณภาพอากาศจากข้อมูลจะอยู่ในโซนสีแดง ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่
“แรงลมพัดจากทางประเทศอินโดนีเซีย ผ่านอ่าวไทยไปทางใต้ตอนบน เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากเรดาห์ จะเห็นชัดเจนว่าภาคใต้ตอนล่างนั้นลมพัดน้อย ปริมาณการระบายออกของ PM2.5 ยังคงอยู่ในพื้นที่ และเป็นอันตรายอย่างมากต่อประชาชน ซึ่งปริมาณฝุ่นควันในโซนสีแดง เราสามารถสังเกตได้ผ่านสายตา ซึ่งจากการได้ถ่ายภาพมุมสูงจากเขาเล่ จุดชมวิวมุมสูงของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในช่วงเที่ยงของวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณหมอกควันสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าและเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งต้องเฝ้าระวังแรงลมและสภาพอากาศในทุกระยะ และคาดเดาไม่ได้ว่าวิกฤตดังกล่าวจะบรรเทาลงได้ในช่วงเวลาใด เนื่องจากตัวแปรสำคัญคือ การเผาไหม้จากบริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย” Asst. Prof. Dr. HELMUT JOSEF DURRAST กล่าวพร้อมให้ข้อมูลเรื่องกระแสลม
โดยผลกระทบจากการเผาไหม้ในพื้นที่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งจะกระทบไปยังประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากช่องโหว่ด้านกฎระเบียบ ทำให้ยากสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่จะลดการจุดไฟเพื่อแผ้วถางพื้นที่เกษตรกรรมของอินโดนีเซีย โดยจากการเก็บข้อมูลในหน่วยงานรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบ พบว่าไฟดังกล่าวได้เผาพื้นที่หลายล้านไร่ในอินโดนีเซีย และส่งหมอกควันปกคลุมหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นประวัติการณ์