อีกราย! นายกโต้ง นพพร ยื่นลาออก นายก อบจ.ชุมพร มีผลตั้งแต่วันนี้

อีกราย! นายกโต้ง นพพร ยื่นลาออก นายก อบจ.ชุมพร มีผลตั้งแต่วันนี้

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดชุมพร แจ้งว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายนพพร อุสิทธิ์ (นายกโต้ง) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชุมพร มีเนื้อหาว่า

“เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ด้วยข้าพเจ้า นายนพพร อุสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2563 มีความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ”

ซึ่ง กกต.ชุมพรจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพรคนใหม่ภายใน 60 วันหลังจากใบลาออกดังกล่าวมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 โดยคาดว่าคงมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 22 กันยายน 2567

ADVERTISMENT

นายนพพร เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตนยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.ชุมพร ประเด็นแรกก็คือ ขณะนี้ กกต.มีการควบคุมการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 180 วัน หรือ 6 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวหากเรายังเป็นนายก อบจ.ชุมพรคงทำกิจกรรมในเรื่องหน้าที่หรือเรื่องการเมือง คงค่อนข้างสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ ประเด็นต่อไปก็คือ หากผู้บริหารกับสภา อบจ.ชุมพรต้องพ้นวาระไปพร้อมกันในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 คงเกิดสุญญากาศ ไม่มีใครคอยควบคุมดูแลหรือติดตามการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ และคงทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากเป็นจังหวัดอื่นส่วนใหญ่นายก อบจ.จะลาออกก่อน 180 วัน แต่ชุมพรคงเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่นายก อบจ.ลาออกก่อน ซึ่งขึ้นกับ กกต.ชุมพรว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ถ้าจัดก็ต้องอยู่ในช่วงเวลาไม่เกิน 60 วันนับจากหนังสือลาออกมีผล หากไม่จัดเลือกตั้งใหม่ก็อาจไปเลือกนายก อบจ.ชุมพรพร้อมกับสมาชิกสภา อบจ.ชุมพรในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 และช่วงที่ไม่มีนายก อบจ.ชุมพร ปลัด อบจ.ชุมพรก็จะรักษาการในตำแหน่งนายก อบจ.ชุมพรไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยมีการควบคุมโดยสภา อบจ.ชุมพร และชาวบ้านก็ไม่ได้เสียโอกาสอะไร

“เท่าที่ทราบขณะนี้ผมยังไม่มีคู่แข่งที่ลงเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพร แต่ตัดสินใจลาออกก่อนเพราะไม่ต้องการให้มีการกล่าวหาว่าผมใช้ตำแหน่ง หน้าที่ในฐานะนายก อบจ.ชุมพรเอาเปรียบใครในการทำกิจกรรมทางการเมืองหากจะมีคนเสนอตัวลงเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพร แต่การลาออกของผมอาจจะถูกโจมตีบ้างในเรื่องสิ้นเปลืองงบประมาณจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาผมได้บริหารจัดการเรื่องงบประมาณ อบจ.ชุมพรปี 2566 ในทุกๆ โครงการแล้ว ยังมีเงินเหลือจ่ายที่นำไปสนับสนุนโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ในการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจประมาณ 20.5 ล้านบาท ทำงบเหลือจ่าย 35 ล้านบาทให้ค่าตอบแทนพิเศษพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือเงินโบนัสอีก 12 ล้านบาท ทุกๆ โครงการจะใช้วิธีประมูลออนไลน์ (E-Bidding) ผู้สนใจเป็นผู้รับจ้าง อบจ.ชุมพร ก็จะไม่รู้จักกัน โดย อบจ.ชุมพรก็ไม่ต้องเป็นตัวกลางในการเจรจาเรื่องการประมูล ทำให้ปี 2566 อบจ.ชุมพรมีงบเหลือจ่ายอีกประมาณ 60 ล้านบาท ส่วนในปี 2567 แนวทางการบริหารงบประมาณก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้น การจัดเลือกตั้งนายก อบจ.ชุมพรก็สามารถนำงบเหลือจ่ายเหล่านี้มาใช้ได้” นายนพพร กล่าว

นายนพพร กล่าวว่า ตามกฎหมายผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน ดังนั้น จึงอยากขอโอกาสจากชาวชุมพรในการเป็นนายก อบจ.ชุมพรอีก 1 สมัยเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ตนอายุ 56 ปีแล้ว หากได้เป็นนายก อบจ.ชุมพรอีก 4 ปี เมื่อครบวาระตนก็จะอายุ 60 ปี และจะขอวางมือจากการทำงานการเมืองเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและเลี้ยงหลาน แม้จะมีการแก้กฎหมายให้ผู้บริหารอยู่ในวาระได้มากกว่า 2 สมัย ตนก็จะไม่ขอลงสมัครอีกแล้ว เพราะผมอยู่ในแวดวงการเมืองมาตั้งแต่ปี 2547 และที่ผ่านมาที่ตนเป็นนายก อบจ.ชุมพร ตนทำงานอย่างมีความสุขกับบุคลากรทุกคนใน อบจ.ชุมพร