‘หมอน่าน’ เตือนโรคท้องร่วงฤดูร้อนระบาด หลังคุมเชื้อดื้อยารุนแรงในระบบทางเดินอาหาร แนะปรุงอาหารสุก-อย่าเสียดายของบูด

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน หัวหน้ากลุ่มเวชกรรมสังคม เปิดเผยความคืบหน้ากรณีโรงพยาบาลน่านใช้มาตรการเข้มงวดยับยั้งเชื้อดื้อยาชนิดรุนแรง หรือ CRE (Carbapenem Resistant Entereceae) ระบาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ประสบความสำเร็จการกักกันโรคอย่างเข้มข้นและเข้มงวดไว้ได้ จากผู้ป่วยระยะแรกขยาย 13 ราย วางแผนควบคุมและจำกัดพื้นที่ทำให้คนไข้ลดลงเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือ 3 ราย นอนอยู่ห้องแยกทั้งหมดเพื่อไม่ให้กระจายเชื้อ คล้ายกับไฟที่ลุกลามก็จำกัดพื้นที่และควบคุมไว้ หรือปล่อยให้ร่างกายคนทำลายเชื้อไปเรื่อยๆ คนไข้ก็จะลดจำนวนลง ถึงแม้จะยังไม่มียาฆ่าเชื้อแต่ให้ภูมิคุ้มกันจัดการเอง เหมือนไฟที่ค่อยๆมอดลงไป อย่างไรก็ตาม ขณะที่เชื้อโรคมีการพัฒนาตัวเอง ดื้อขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดยาที่เป็นไม้ตายของโรงพยาบาลน่านไม่สามารถจัดการกับมันได้ ยาฆ่าเชื้อจึงเป็นเพียงตัวเสริมให้ภูมิคุ้มกันกำจัดเชื้อโรคหรือผู้ป่วยหายเร็วขึ้น โดยอาศัยธรรมชาติและหวังว่าจะไม่มีโผล่ขึ้นมาอีก ตนอยากให้รับทราบข้อมูลด้วยความตระหนักมากกว่าตระหนกหรือกังวลกลัวไปหมด แต่ควรมีองค์ความรู้ วางแผนและแก้ปัญหา

“เรายังใช้มาตรการเท่าเดิมเรื่องเชื้อดื้อยา แต่เนื่องจากจำนวนคนไข้ลดลง และคนไข้เดิมเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เมื่อตรวจทุก 7 วัน เพาะเชื้อ 3 ครั้งแล้วไม่เจอ ก็ถือว่าคนไข้นั้นปลอดเชื้อและกลับบ้านได้ โรคดังกล่าวไม่ใช่เชื้อไวรัสแต่เป็นแบคทีเรียที่ติดต่อยากกว่า ไวรัสติดเมื่อไอจามรดกันแต่แบคทีเรียอาศัยการสัมผัส มีสุขอนามัยและภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี พบในระบบทางเดินอาหาร อุจจาระและปัสสาวะ ยอมรับว่าน่ากลัวเพราะไม่มียาจะจัดการได้ แต่ติดต่อไม่ง่ายเหมือนไวรัส ติดเชื้อจากทวารต่างๆ หรือลูกบิดประตู ราวบันได ฯลฯ ของใช้ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังเน้นรณรงค์ไม่ให้ประชาชนซื้อยาให้ฤทธิ์แรงกว่าที่ควรมากินเอง ไม่ใช้ยาเกินกำลังไม่จำเป็นหรือป่วยเป็นไข้หวัดด้วยไวรัส แต่ไปกินยาฆ่าเชื้อที่ไม่เกี่ยวกัน เป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาต่างๆ หากอาการป่วยเกิน 7 วันค่อยมาปรึกษาแพทย์แนะนำให้ใช้ยาเอง ดังนั้นกำลังประสานกับเภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน ตรวจตราร้านขายยาต่างๆ หรือบางร้านอาจไม่มีเภสัชกรคุมประจำอยู่จริง”

นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นฤดูร้อนที่มักมีโรคท้องร่วงระบาด เนื่องจากแบคทีเรียทำให้อาหารบูดเน่าเสียง่าย ควรปรุงอาหารให้สุกและไม่ควรเก็บอาหารเหลือไว้ เพราะหากทั้ง 2 โรคเกิดขึ้นพร้อมกันจะทำให้ไปกันใหญ่ หลักสำคัญจึงต้องเข้าใจเชื้อแบคทีเรียแบ่งตัวเร็ว ส่วนใหญ่ติดจากอาหารการกิน เมื่อกินเหลือต้องใส่ตู้เย็น อย่ากินมื้อเช้าแล้วตั้งทิ้งไว้มื้อกลางวันต่อ ชิมก่อนอุ่นถ้าเปรี้ยว บูด เสียให้ทิ้งทันที อย่าเสียดายถ้ามีรสเปรี้ยวแล้วอุ่นกิน เพราะแม้เชื้อโรคตายแต่พิษของมันยังอยู่และท้องเสียอยู่ดี โดยเฉพาะที่เสี่ยงคืออาหารถุงเมื่อซื้อมาแล้วควรอุ่นให้ร้อนอีกรอบ บางร้านทำตั้งแต่เช้ามาขายกลางวันหรือตอนเย็น อารบูดง่ายคือพวกกระทิหรือรสหวาน ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือ แต่ช้อนกลางไม่ควรใช้ร่วมกันตักอาหารเข้าปากโดยตรง หากเจ็บป่วยแล้วลางาน นอนให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลต้องเสียเงินเยอะกว่านี้ ส่วนความทรมานตีเป็นมูลค่าไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image