เชียงรายใช้แอพฯ-หุ่นยนต์ รับมือไฟป่า-หมอกควัน จับตาฤดูเตรียมเพาะปลูกอาจเผากันหนัก

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายไพฑูรย์ นาคแท้ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 เชียงราย นำเจ้าหน้าที่ปล่อยขบวนรถปฏิบัติการป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ณ ศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการสนับสนุนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัดภาคเหนือคือเชียงราย พะเยา แพร่และน่าน โดยเฉพาะระยะหลังแต่ละจังหวัดมีมาตรการห้ามเผาโดย จ.เชียงราย ประกาศห้ามเผาเป็นเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.-17 เม.ย.2560 ทั้งนี้ทาง ศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงราย ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะประกอบด้วยรถดับเพลิงชนิดหอน้ำขนาดสูงไม่น้อยกว่า 35 เมตรจำนวน 1 คัน รถดับเพลิงในอาคารขนาด 4,000 ลิตรจำนวน 2 คน รถบรรทุกช่วยน้ำดับเพลิงขนาดความจุด 10,000 ลิตรจำนวน 2 คัน รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบส่งระยะไกลจำนวน 3 คัน ฯลฯ

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการใช้รถยนต์ต่อต้านวินาศกรรมพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิงระยะไกลหรือรถหุ่นยนต์ LUF 60 จำนวน 2 คันพร้อมปฏิบัติการด้วย โดย LUF 60 ดังกล่าวมีรัศมีทำการโดยรีโมทคอนโทลโดยไม่ต้องใช้คนขับระยะทางประมาณ 300 เมตร สามารถขึ้นปฏิบัติการบนพื้นที่สูงชันได้กว่า 30 องศา พ่นน้ำได้ไกลกว่า 75 เมตร ฉีดพ่นน้ำได้ด้วยหัวฉีด 360 หัว สามารถใช้ฉีดพ่นโฟมกรณีเกิดไฟไหม้จากน้ำมันเชื้อเพลิงได้ รวมทั้งเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินสามารถเปลี่ยนจากระบบควบคุมด้วยรีโมทมาใช้คนควบคุมได้อีกด้วย

 

นายไพฑูรย์ กล่าวว่าเนื่องจากการเปิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันจำเป็นต้องป้องกันภัยให้ได้เร็วที่สุด ดังนั้น ปภ.เขต 15 เชียงราย ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนจึงได้ตั้งทั้งศูนย์ปฏิบัติการและศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับสาธารณภัยดังกล่าว โดยการปฏิบัติการก็ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมออกปฏิบัติเมื่อได้รับการร้องขอจากศูนย์อำนวยเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเข้าไปได้โดยทันที และปัจจุบันศูนย์ให้ความสำคัญกับเรื่องข้อมูลอย่างมากจึงได้ใช้การดูจุดความร้อนหรือฮอตสปอตจากดาวเทียมขององค์กรนาซาทั้งผ่านระบบ VIIRS ที่มีความละเอียดสูงสามารถจับความร้อนได้แม้จุดเล็กๆ ด้วยความสูง 375 เมตร และยังมีระบบ MODIS ที่มีระยะสูงกว่าเพื่อนำมาประมวลสถานการณ์โลก เอเชีย ภูมิภาค ประเทศไทยและพื้นที่ ปภ.15 จากนั้นรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประจำทุกวัน

Advertisement

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่าแม้จะมีข้อมูลดังกล่าวแต่ก็พบว่าข้อมูลท้องที่ยังเป็นปัญหาใหญ่เพราะดาวเทียมผ่านประเทศไทยวันละ 2 เที่ยว แต่กรณีจะเข้าไปปฏิบัติการเมื่อเกิดเหตุต้องมีข้อมูลที่รวดเร็วทันที ปัจจุบันทางศูนย์ ปภ.เขต 15 เชียงราย จึงได้ใช้ระบบไลน์กลุ่มไปก่อนและได้พัฒนาแอพพริเคชั่นผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดในพื้นที่ได้แจ้งเหตุ โดยให้มีการแจ้งพิกัด สถานการณ์ ความต้องการ ภาพถ่าย ฯลฯ เพื่อให้มีข้อมูลช่วงเวลานั้นอย่างแท้จริงหรือเรียลไทม์ จากนั้นส่งข้อมูลไปยังส่วนกลางได้ทันทีและสามารถส่งกี่ครั้งก็ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือบางครั้งพบเห็นกลุ่มควันก็สามารถแจ้งได้ เพื่อส่วนกลางได้ทราบสถานการณ์และบริหารจัดการปัญหาได้อย่างทันท่วงที

“ปัจจุบันได้พัฒนาแอพพริเคชั่นจนเสร็จแล้วและได้นำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ได้รับทราบคาดว่าสัปดาห์หน้าจะดำเนินการได้ต่อไป ทั้งนี้แอพพริเคชั่นออกแบบให้ใช้งาน เข้าใจรวดเร็วและใช้ระบบให้เลือกข้อมูลมากกว่าให้แสดงความเห็นเพื่อให้สะดวกที่สุด ซึ่งหากใช้ได้ดีในครั้งนี้ก็จะเป็นต้นแบบหรือเชียงรายโมเดลที่สามารถนำไปใช้ได้ในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงสามารถนำไปใช้เรื่องแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และแผ่นดินไหวได้ในอนาคตต่อไป” นายไพฑูรย์ กล่าวและว่าสำหรับสถาการณ์เกิดไฟไหม้ในช่วงนี้พบว่าตั้งแต่วันที่ 6-7 มี.ค.นี้ พื้นที่ จ.เชียงราย พบว่าภายในพื้นที่ศูนย์ ปภ.15 เชียงราย โดยเฉพาะ จ.เชียงราย แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยอันเป็นเป็นผลมาจากมาตรการของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เข้มงวด แต่ก็ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูเตรียมเพาะปลูกอาจจะมีการโหมเผากันหนักได้ต่อไป

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image