แล้งแล้ว! มท.ร่อนหนังสือถึงผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้บริหารอปท. บริหารน้ำให้พอใช้ รับมือขาดแคลน

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)ทุกจังหวัด เรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนว่า เดือนมีนาคมประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง พยากรณ์สภาพอากาศได้คาดการณ์ว่าฤดูแล้งปีนี้อาจสั้นกว่าปีก่อนๆโดยฝนจะเริ่มตกในเดือนพฤษภาคม และอาจเกิดฝนทิ้งช่วงสลับกันไปจนถึงเดือนมิถุนายน ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจทำให้ปริมาณน้ำในพื้นที่ต่างๆไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน นั้น เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงขอแนะนำจังหวัดให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขจัดตั้งคณะทำงานสำรวจข้อมูลแหล่งน้ำและปริมาณการใช้น้ำในระดับพื้นที่หมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอโดยแยกเป็นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 2.ให้พิจารณามอบหมายรอง ผวจ.หรือ ปลัดจังหวัดตามความเหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะทำงานประกอบด้วยนายอำเภอหรือผู้แทน/ผู้แทนหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯในจังหวัดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับน้ำ/ชลประทานพื้นที่/กปภ.จังหวัด/ปภ.จังหวัด/ผู้แทน อปท./ตัวแทนประชาชนหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำฯลฯ โดยให้นำข้อมูลน้ำตามข้อ 1มาวิเคราะห์เพื่อประเมินหรือคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำแต่ละประเภทว่า จะเพียงพอถึงช่วงเวลาใดเพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการต่างๆต่อไป

3.ขอให้จังหวัดได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำโดยให้พิจารณาดัดแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่เช่น ลำเหมืองเดิม ทางน้ำไหลในฤดูฝน ที่ราบลุ่มเชิงเขา แล้วนำมาทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ โดยให้ประสานงานสำนักงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค/สำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประเภทการพัฒนาแหล่งน้ำหรือการเกษตรหรือการรักษาป่าในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯ/สำนักงานมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ/มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงและองค์กรภาคประชาสังคมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำรวมทั้งให้เชิญชวนผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำมาร่วมกันจัดทำโครงการแหล่งเก็บกักน้ำประจำหมู่บ้าน/ชุมชนดังกล่าวข้างต้นโดยให้จังหวัดหรืออำเภอหรือ อปท.เชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมทำโครงการโดยอาจใช้วัสดุตามธรรมชาติในพื้นที่หรือซื้อวัสดุก่อสร้างบางส่วนแล้วเชิญชวนประชาชนสละแรงงานเข้าร่วมก่อสร้างโครงการหรือจัดทำโครงการด้วยก็จะเป็นการสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกความเป็นเจ้าของโครงการซึ่งอาจส่งผลในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดหรือการบำรุงรักษาโครงการให้ยั่งยืนด้วย สำหรับพื้นที่ดำเนินการซึ่งอยู่ในเขตป่าประเภทต่างๆหรือที่สาธารณะให้ประสานงาน/มอบหมายหน่วยงานกระทรวงทรัพย์ฯในพื้นที่หรือหน่วยงานเจ้าของพื้นที่เป็นหน่วยดำเนินงานเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ป่าหรือที่สาธารณะ

4.ขอให้นำสถานการณ์การขาดแคลนน้ำหรือประสบการณ์ปัญหาการใช้น้ำในปีก่อนๆ มาปรับปรุงแก้ไขจัดทำเป็นเเผนบริหารการใช้น้ำในฤดูแล้งดังนี้ จัดตั้งผู้รับผิดชอบพื้นที่ที่เคยมี/หรืออาจมีความขัดแย้งในการใช้น้ำ,หาวิธีแบ่งปันน้ำที่ทุกฝ่ายยอมรับหรือวิธีกักเก็บน้ำในช่วงที่จะมีฝนตกในพื้นที่ ,สร้าง/ปรับปรุง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำประจำหมู่บ้านตำบลให้ใช้การได้ตามปกติหรือการชักน้ำหรือนำน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาใช้ในพื้นที่/จัดหาภาชนะเก็บน้ำหรือไซโลน้ำเพิ่มเติม ,รณรงค์ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดหรือรณรงค์โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยโดยให้พิจารณากลุ่มเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีการขยายผลหรือเครือข่ายออกไปให้มากขึ้น ,วางแผนแจกจ่ายน้ำของ กปภ.หรือหน่วยงาน อปท.ให้ครอบคลุมพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ,ให้ใช้ศักยภาพของโครงการน้ำดื่มที่ใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ/ประชารัฐประเภทต่างๆ มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนฯลฯ

5.สำหรับงบประมาณดำเนินการตามข้อแนะนำข้างต้นนั้น จังหวัดสามารถพิจารณาขอใช้งบประมาณด้านป้องกันภัยตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งต้องพิจารณาเงื่อนไขการใช้จ่ายงบประมาณให้รอบคอบหรือประสานโดยตรงกับกรม ปภ.อีกทางหนึ่งด้วย หรือ ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดๆละ 2 ล้านบาทตามแผนพัฒนาจังหวัด/งบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดปี 60 งบประมาณ ของ อปท. พื้นที่รวมทั้งงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่หรืองบประมาณดูแลสังคมสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนหรือประชารัฐด้วยก็ได้ และหากมีปัญหาอุปสรรคหรือข้อเสนอแนะที่อาจเป็นแนวปฏิบัติที่ดี ขอให้รายงาน มท.ทราบด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image