เกษตรกรอุทัยฯสู้แล้ง พลิกนาข้าวปลูกแตงกวาปลอดสาร ดีเกินคาด 2 เดือนทำเงินกว่าแสนบาท

วันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 08.00 น. ที่ จังหวัดอุทัยธานี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วยนายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ลงพื้นที่ดูสวนแตงร้าน ของนายสุชิน แสกรุง เกษตรกร ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ที่ได้ปรับเปลี่ยนปลูกพืชอายุสั้น ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ภายใต้มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 1 ใน 6 มาตรการของแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/60 ซึ่งได้ผลลัพธ์จากการปลูกที่ดีกว่าการทำนา ทำให้มีรายได้ทดแทนจากการงดเว้นการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง อีกด้วย

นายสุชิน เล่าว่า  พื้นที่ดังกล่าวนั้นแต่ก่อนเคยทำนา เดิมทีครอบครัวตนเองนั้นได้ทำการขอซื้อมา เพื่อจะมาทำไร่ข้าวโพด แต่ช่วงนั้นตนฉุกคิดได้ว่า ที่นี่ไม่มีใครปลูกแตงกวาเลย ตนจึงอยากลองทำแตงกวาหน้าแล้งดูอาจจะได้ผลผลิตและรายได้ที่ดีกว่าก็เป็นได้ เพราะคนปลูกกันน้อยทำให้จำหน่ายแตงกวาได้ไม่ยากเพราะยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก็เสี่ยงกับการขาดทุนสูง เนื่องจากว่าช่วงหน้าแล้ง จะปลูกแตงกวายากมาก  แต่ตนเองนั้นก็อยากที่จะลองเสี่ยงปลูกแตงกวาดู เพราะเห็นว่ามีระบบน้ำที่ดี ก็เลยได้ผลดีตามมาอย่างที่คิดไว้
นายสุชินกล่าวต่อว่า โดยครั้งนี้ขึ้นทำเป็นรุ่นแรก ลงทุนทำประมาณ 2 ไร่ เป็นเงินประมาณ 30,000 บาท แบ่งเป็นค่ารถไถ ค่าวัสดุอุปกรณ์ไม้ไผ่ ตาข่าย เมล็ดพันธุ์ และระบบน้ำ ซึ่งได้รับการสนันสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้คำแนะนำเรื่องระบบน้ำ รวมถึงเมล็ดพันธุ์ และวิธีการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษที่ผ่านการรับรอง GMP   ส่วนในด้านการดูแลรักษานั้น จะทำการให้น้ำวันเว้นวัน โดยจะให้น้ำในช่วงเย็นเท่านั้น ซึ่งแตงกวาจะมีอายุเก็บเกี่ยว 35 วัน  โดยการลงทุนครั้งเดียวจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 2 รุ่น  ซึ่งในรุ่นแรกก็จะได้ทุนคืนมา ส่วนรุ่นหลังก็เป็นกำไร  ถือว่าคุ้มค่ามากในการใช้เวลาปลูกเพียง 2 เดือน โดยจากการประเมินแล้วนั้รคาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 15 ตัน ซึ่งตอนนี้ตลาดรับซื้อแตงกวาราคาดีมาก ถึงกิโลกรัมละ 10 บาท ก็จะได้ราวๆ 150,000 บาท เนื่องจากตอนนี้มีคนปลูกน้อย ตลาดจึงมีความต้องการสูง นายสุชิน กล่าว
ด้านนายแมนรัตน์ กล่าวว่า เกษตรกรรายนี้ ถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างในการลดพื้นที่การปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง ด้วยการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งได้ผลดีมาก ในระยะเวลา 2 เดือน มีรายได้ถึงประมาณ 100,000 บาท  โดยที่ต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 40,000 บาท แม้อาจจะดูต้นทุนสูง แต่ผลกำไรที่ได้ก็สูงเช่นกัน เพราะภายใน 2 เดือนนี้ มีรายได้สูงกว่าการทำนา ถึง 10 เท่า ในขณะเดียวกันยังเป็นการลดการใช้น้ำและประมาณ 4-5 เท่า หากเทียบกับการทำนา

201703171002191-20140425161738

“จึงอยากประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องเกษตรกร ที่ทำนาอยู่ในขณะนี้ว่า อยากให้งดเว้นทำนาปรังในช่วงนี้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการขาดน้ำและขาดทุนสูงมาก อยากให้ทดลองปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรในด้านอื่น อาจจะไม่ปลูกแตงกวาก็ได้ แต่ให้ยึดหลักทำในสิ่งที่ตนเองถนัดและมีความเชี่ยวชาญ เพื่อทำให้ลดต้นทุน และลดความเสี่ยงขาดทุนได้ หรือหากไม่มีความรู้ใดๆในการที่จะปรับเปลี่ยนทำการเกษตร สามารถติดต่อขอคำปรึกษาในด้านการทำเกษตร ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี หรือ สำนักงานเกษตรประจำอำเภอได้ เพื่อให้ชาวนาได้มีความรู้ความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย อยากให้ลองปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงการทำการเกษตรให้เข้ากับฤดูกาลเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ที่ผ่านมาก็มีเกษตรกรตัวอย่างในการทำพืชที่ใช้น้ำน้อย และประสบผลสำเร็จให้เห็นอยู่จำนวนมาก และจากนี้ทางจังหวัดอุทัยธานี จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันสร้างความเข้าใจและสร้างการรับรู้ รณรงค์ให้เกษตรกรในจังหวัดอุทัยธานี หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยในหน้าแล้งอย่างต่อเนื่องอีกด้วย” นายแมนรัตน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image