เอกชนห่วงความเชื่อมั่น หากรถไฟเส้นเด่นชัย-เชียงรายเลื่อนอีก 4 ปี

วันที่ 17 มีนาคม 2560 นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเดินทางไปประชุมโครงการศึกษาสำรวจเพื่อการประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะเพื่อคนพิการ เด็กและผู้สูงอายุของกระทรวงคมนาคมระยะที่ 3 ที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ว่า กรณีกระทรวงคมนาคมโดยรัฐบาลมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ไปยัง จ.เชียงราย และทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เคยแจ้งว่าจะพยายามให้มีการก่อสร้างภายในปี 2560 นี้เป็นต้นไปนั้น ล่าสุดโครงการดังกล่าวจะมีการเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนเป็นปี 2564 เป็นต้นไป เพราะต้องมีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกเล็กน้อย เนื่องจากมีบางช่วงของเส้นทางที่ต้องผ่านป่าเขา อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเส้นทางรถไฟจะต้องไปถึง จ.เชียงราย อย่างแน่นอน เพราะได้มีการออกแบบโครงการแล้วเสร็จไปแล้ว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า เส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะใช้คมนาคมภายในประเทศแล้วยังเชื่อมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และจากการที่จะมีสถานีเปลี่ยนถ่ายหัวลากที่ด่านพรมแดน อ.เชียงของ เชื่อมกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 โดยเดิมออกแบบให้สถานีรถไฟไปถึงแค่ด้านนอกสถานีเปลี่ยนถ่ายหัวลากนั้น ตนก็ได้ให้มีการปรับให้มีการจัดทำเป็นเส้นทางรถไฟให้เข้าไปถึงสถานีดังกล่าวเลย เพื่อให้การขนส่งโดยเฉพาะสินค้าชายแดนมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย กระนั้นเมื่อการดำเนินการทั้งหมดแล้วเสร็จก็จะสามารถเดินหน้าโครงการได้ต่อไปตามแผน โดยเรื่องของงบประมาณนั้นไม่สำคัญมากนัก และคงใช้ใกล้เคียงที่ตั้งเอาไว้แต่เดิม เพราะมีการออกแบบโครงการเอาไว้แล้วเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการจัดทำอีไอเอถือว่าได้รับการให้ความสำคัญโดยมีตัวอย่างกรณีการก่อสร้างผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเชื่อมโยงถนนสายอาร์ 9 ในภูมิภาค แต่ปรากฏว่าบางช่วงต้องผ่านป่าเขาทำให้อีไอเอไม่ผ่านมาแล้ว
ด้านนายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการการคมนาคม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางหอการค้าจังหวัดเชียงรายได้ส่งผู้บริหารเข้าไปร่วมประชุมและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องรถไฟสายเด่นชัย-เชียงรายด้วย ก็ได้รับคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องว่าจะมีการเดินหน้าก่อสร้างโครงการได้ในปี 2561 เป็นต้นไป ดังนั้น จึงถือว่าข้อมูลไม่สอดคล้องกัน ซึ่งจะได้ติดตามข้อมูลกันต่อไป
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการดังกล่าว มีรองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.คนใหม่ ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ครบถ้วน ซึ่งก็ได้รับการยืนยันเช่นนั้นอย่างชัดเจน เพราะอีไอเอนั้นถือว่าได้ทำแล้วเสร็จไปแล้ว และเตรียมตั้งงบประมาณดำเนินการได้แล้ว รวมทั้งยังพูดล่วงหน้าไปถึงการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่าง อ.เชียงของ-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ว่าปัจจุบันจีนมีโครงการสร้างเส้นทางรถไฟจากมณฑลยูนนานผ่านเข้ามาในแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว แล้วเลี้ยวตรงแยกนาเตย แขวงหลวงน้ำทา เพื่อไปทางตอนใต้ของ สปป.ลาว แต่หากไทยเราสามารถสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ก็จะทำให้ขนส่งไปเชื่อมกับจีนที่แยกนาเตยได้เลยด้วย ขณะเดียวกันก็มีการหารือเรื่องการหากลุ่มทุนเข้าไปลงทุนพื้นที่ชายแดน ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดเชียงรายขอให้มีความชัดเจนในโครงการก่อน เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ แต่หากมีการเลื่อนออกไปนานกว่า 3 ปีดังกล่าวก็น่าหวาดหวั่นเรื่องความมั่นใจอย่างมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย รัฐบาลได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 2503 แล้ว หรือประมาณ 57 ปีแล้ว ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำการออกแบบโครงการและจัดทำอีไอเอแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยเส้นทางส่วนหนึ่งป่าเขาและเขตชุ่มน้ำชั้น 1 เอ และเส้นทางรวมจะเชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผ่าน จ.ลำปาง จ.พะเยา อ.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงราย และเชื่อมไปยังชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร ผ่าน 59 ตำบล 17 อำเภอ และ 3 จังหวัด ตลอดทางมีจำนวน 26 สถานี มีอุโมงค์จำนวน 3 แห่ง โดยอุโมงค์ที่ อ.สอง จ.แพร่ ยาวที่สุดกว่า 6.4 กิโลเมตร รองลงมาคือที่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร และ อ.เมือง จ.พะเยา ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ใช้งบประมาณทั้งหมด 76,980 ล้านบาท โดยเป็นค่าก่อสร้างทางวิศวกรรม 73,172 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 7,292 แปลง เนื้อที่ 9,661 ไร่ 3,803 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน
ทั้งนี้ เดิมทาง ร.ฟ.ท.เคยประเมินว่า หลังจากนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ในเดือนธันวาคม 2560 แล้วจะส่งเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ทันดำเนินการในเดือนธันวาคม2560 และทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าโครงการจะเดินหน้าตามนั้น แต่ต่อมาได้เกิดกรณีมีคำสั่งย้ายนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ออกจากตำแหน่งอย่างเร่งด่วน กระทั่งมีการเลื่อนโครงการไปเป็นปี 2564 ดังกล่าวในที่สุด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image