ผู้ว่าฯตรัง เสนอตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ “พะยูน” เผยผลชันสูตร ไม่สามารถระบุการตายได้

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตง.0017.3/12944 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2569 เรื่อง สถานการณ์พะยูนในจังหวัดตรัง ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย แม่ทัพภาค 4 อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตวป่า และ พันธุ์พืช

หนังสือระบุว่า ด้วยใยช่วงเดือน ตุลาคม 2560 ได้ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชนต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์พะยูนในจังหวัดตรังมาโดยตลอด ซึ่งทางจังหวัดตรังได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรที่หน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการอนุรักษ์พะยูนตามแนวทางประชารัฐ คือ ข้าราชการ ประชาชน นักวิชาการ นักธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างมีประสิทธิภา

หนังสือระบุอีกว่า โดยเบื้องต้นจังหวัดขอสรุปสถานการณ์พะยูนในจังหวัดตรังดังนี้

1) พื้นที่จังหวัดตรังเป็นแหล่งพะยูนและหญ้าทะเลและมีระบบนิเวศน์เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของพะยูน ทำให้เป็นแหล่งพะยูนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

Advertisement

2) ไม่ปรากฎหลักฐานของกระบวนการการล่าพะยูน เพื่อนำเนื้อมาขายและทำอาหารในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเขี้ยวและกระดูกไปจำหน่ายเป็นเครื่องลางของขลัง

3) การตายที่ผิดธรรมชาติของพะยูนเกือบทั้งหมดเกิดจากเครื่องมือทำการประมงของชาวประมงที่ไม่ได้มีเจตนาฆ่าพะยูน

4)จังหวัด นักวิชาการ ภาคประชาสังคมและชาวบ้านส่วนใหญ่ได้พยายามผลักดันการแก้ปัญหาสถานการณ์พะยูนอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถิติการตายที่ผิดธรรมชาติของพะยูนลดลง และมีจำนวนพะยูนเพิ่มขึ้น

Advertisement

“ดังนั้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือประสานงานกันอย่างปรองดองสมานฉันท์เป็นเอกภาพตามแนวประชารัฐ จึงขอเรียนเสนอให้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์พะยูนในพื้นที่ทะเลจังหวัดตรังอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด”หนังสือระบุ

ขณะที่ สพ.ญ.พัชราภรณ์ แก้วโม่ง นายสัตวแพทย์ปฎิบัติการ และสพ.ญ.ขวัญตา เจียกวธัญญู นายสัตวแพทย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต รายงานผลการชันสูตรซากพะยูน พบว่า ผิวหนังและชั้นไขมัน ผิวหนังมีการตัดด้วยของมีคม โดยเหลือเพียงส่วนครึ่งตัวช่วงล่าง และในส่วนของชั้นไขมันมีความหนา 2 ซม. ซึ่งบ่งบอกได้ว่าพยูนดังกล่าวมีสภาพร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่พบซีสต์ของพยาธิ และตัวพยาธิในชั้นไขมัน บริเวณรอยตัดไม่พบลักษณะของปื้นเลือดออก หรือรอยผิวหนังตลอดแนวรอยตัด รวมถึงครีบด้านซ้ายมีเชือกรัด ไม่พบรอยช้ำ หรือลักษณะของปื้นเลือดออกใต้รอยรัด ซึ่งบ่งชี้ว่า รอยตัดที่พบเกิดขึ้นภายหลังการตายของพะยูน”

“ระบบทางเดินหายใจว่า ปอดมีลักษณะเน่ามาก เนื้อปอดเละเหลวและเปลี่ยนสี จนไม่สามารถระบุความผิดปกติที่ชัดเจนได้ รวมถึงหลอดลมมีลักษณะถูกตัดด้วของมีคม จึงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการจมน้ำจากการตรวจฟองอากาศในหลอดลมได้ ระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจสูญหายไป และม้ามมีลักษณะเน่ามากจนไม่สามารถระบุความผิดปกติได้ ระบบทางเดินอาหาร ในกระเพาะอาหารพบอาหารอยู่เต็ม และพยาธิตัวกลมประมาณ 100 ตัวในส่วนของลำไส้พบว่ามีอาหารที่ย่อยแล้ว และอุจจาระตลอดแนวลำไส้ บ่งชี้ว่าพะยูนค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนของตับ ตับสูญหายไป ส่วนของตับอ่อน ไม่สามารถระบุความผิดปกติที่ชัดเจนได้เนื่องจากอวัยวะเน่ามาก ระบบการสืบพันธุ์ พบส่วนของมดลูกมีลักษณะเจริญเต็มที่ ปีกมดลูกสูญหายไปบางส่วน รวมถึงรังไข่สูญหายไป ระบบขับปัสสาวะ ไม่สามารถระบุความผิดปกติที่ชัดเจนเนื่องจากอวัยวะเน่ามาก” ผลชันสูตระบุ

สรุปผลชันสูตรการตายของพะยูนตัวดังกล่าวว่า ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้เนื่องจากสภาพซากเน่ามาก และอวัยวะภายในเหลวเละ จนไม่สามารถระบุความผิดปกติที่ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามบริเวณรอยตัดไม่พบลักษณะของปื้นเลือดออก หรือรอยซ้ำใต้ผิวหนังตลอดแนวรอยตัด รวมถึงครีบด้านซ้ายที่มีเชือกรัด ไม่พบรอยซ้ำ หรือลักษณะของปื้นเลือดออกได้รอยรัดซึ่งบ่งชี้ว่ารอยตัดที่พบเกิดขึ้นภายหลังการตายของพะยูน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image