ผู้ว่าฯ กทม.ประกอบพิธี ‘พลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์’ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
เมื่อเวลา 13.06 น. วันที่ 13 กรกฎาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
โดยพิธีอันศักดิ์สิทธิ์เริ่มตั้งแต่พระสงฆ์ 5 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขึ้นไปยังหอศาสตราคม จุดธูปเทียนบูชา ถวายพวงมาลัย และกราบพระประธาน แล้วอธิษฐานจิตพลีกรรมตักนํ้าศักดิ์สิทธิ์จากบาตรนํ้ามนต์ภายในหอศาสตราคมแล้วบรรจุในคนโท บริเวณอาสน์สงฆ์ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกรวดนํ้า
ต่อมาเวลา 13.18 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ขึ้นรถเมอเซเดสเบนซ์หมายเลขทะเบียน ฮ 6428 กรุงเทพมหานคร ออกจากหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ผ่านประตูพิมานไชยศรี และเลี้ยวขวายังประตูวิเศษไชยศรี เพื่อเชิญคนโทน้ำไปเข้าริ้วขบวนที่ตั้งรอบริเวณถนนหน้าพระลาน เพื่ออัญเชิญคนโทน้ำไปเก็บรักษารวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ อีก 76 จังหวัด ที่กระทรวงมหาดไทย
เมื่อขบวนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงยังริ้วขบวนที่ตั้งแถวรอบริเวณถนนหน้าพระลาน ซึ่งในริ้วขบวนประกอบด้วยวงดุริยางค์ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริ้วขบวนธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่เทศกิจของทั้ง 50 เขต ทำความเคารพน้ำศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นผู้ควบคุมริ้วขบวนให้สัญญาณ เคลื่อนริ้วขบวน จากถนนหน้าพระลาน เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสนามไชย เลี้ยวซ้ายถนนกัลยาณไมตรี ก่อนจะเลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์ และเข้าสู่กระทรวงมหาดไทย
สำหรับ ‘หอศาสตราคม’ เป็นหอขนาดเล็กหลังคาทรงไทยมุงกระเบื้องเคลือบสีอยู่ริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก อยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังแต่เดิมเป็นพระที่นั่งโถงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งแล้วสร้างหอศาสตราคมขึ้น สำหรับให้พระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายมาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อถวายพระมหากษัตริย์สรงพระพักตร์ และสรงเป็นประจำวัน ตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียรคือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
ต่อมาในรัชกาลที่ 4, 5, 6 และรัชกาลที่ 7 มีการสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวัน เวลา 14.00 น. ต่อมาในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบัน ได้นิมนต์พระสงฆ์ฝ่ายรามัญ 5 รูป มาสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ และประพรมน้ำมนต์รอบพระมหามณเฑียรทุกวันธรรมสวนะ เวลา 13.30 น. เสร็จแล้วนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป ประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบพระมหามณเฑียรครั้งหนึ่ง และนิมนต์พระพิธีธรรจาก วัดต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาสวดทำน้ำพระพุทธมนต์อีกครั้งในเวลา 18.00 น. น้ำพระพุทธมนต์ทั้งสองเวลานี้รวมเก็บไว้ในหม้อน้ำมนต์เพื่อจัดไปถวายสรงทุกวันตามราชประเพณีที่ได้เคยปฏิบัติสืบมา
น้ำพระพุทธมนต์จากหอศาสตราคมนี้กรุงเทพมหานครเคยกราบบังคมทูลขอพระราชทานน้ำไปเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดต่างๆ 76 จังหวัดทั่วประเทศสำหรับถวายสรงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ 9 วาระครบรอบนักษัตร คือ 6 รอบ 7 รอบ และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 น้ำพระพุทธมนต์แห่งนี้ก็จะรวมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์อีกจาก 76 จังหวัด เพื่อถวายสรงในการพระราชพิธีอันเป็นมหามงคลยิ่งของปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
นายชัชชาติเปิดเผยภายหลังเสร็จพิธีว่า วันนี้ กทม.ได้ทำพิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ ซึ่งดำเนินพิธีไปด้วยความเรียบร้อย ทุกคนที่มามีความภาคภูมิใจ จะใช้วันนี้เป็นเครื่องเตือนใจ ในการทำงานรับใช้ประเทศชาติให้เต็มที่ทุกคนมีความยินดีที่จะมาร่วมพิธีในครั้งนี้
“กทม.ได้ประดับตกแต่งต้นไม้ดอกไม้ตามถนนราชดำเนินอย่างสวยงาม รวมถึงมีงานมหรสพที่ท้องสนามหลวง เป็นช่วงเวลามหามงคลที่ทุกคนจะได้มีโอกาส ร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีอันสำคัญยิ่ง และ กทม.พร้อมดูแลความสะอาดความเรียบร้อยของเมือง ให้ทุกคนมีความสุขในเดือนนี้” นายชัชชาติกล่าว