ส่องปัจจัยความล้มเหลว ‘ช้างศึก’ ร่วงซีเกมส์!

มหกรรมกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ยังไม่ปิดฉาก แต่แฟนกีฬาบ้านเราหลายคนก็รู้สึก “กร่อย” ไปตามๆ กัน หลังจาก “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ดีกรีแชมป์เก่า 3 สมัยซ้อน พลาดท่าตกรอบแรกฟุตบอลชาย หลังจากเสมอ เวียดนาม 2-2 ทำให้ทีมมีสถิติชนะ 3 เสมอ 1 แพ้ 1 เป็นอันดับ 3 ของกลุ่ม พลาดโอกาสเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปตามระเบียบ

การตกรอบแรกของไทยกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลถึงสาเหตุและมุมมองในประเด็นต่างๆ เนื่องจากเป็นภาพที่แฟนลูกหนังไทยไม่ค่อยคุ้นชินนัก

ฟุตบอลชายในซีเกมส์ 10 ครั้งหลังสุด ไทยคว้าเหรียญทองมาได้ถึง 7 สมัย ส่วนที่พลาดไป 2 ครั้งก่อนหน้านี้ เป็นการตกรอบแรกติดๆ กันในปี 2009 และ 2011

ข้อสังเกตน่าสนใจเกี่ยวกับความผิดหวังของช้างศึกในซีเกมส์หนนี้ คือการตัดสินใจไม่เลือกใช้โควต้านักเตะอายุเกิน 23 ปี 3 คนตามเงื่อนไขของการแข่งขันระดับมหกรรมกีฬา โดยตั้งแต่ ซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2011 เป็นต้นมา ช้างศึกก็เลือกใช้ผู้เล่นชุดยู-23 มาโดยตลอด

Advertisement

เรียกว่าเป็นโมเดลเดียวกับทีม “ซามูไรบลูส์” ทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งเวลาส่งนักกีฬาเตะบอลระดับมหกรรมหรือทัวร์นาเมนต์ที่ไม่ใช่ศึกเมเจอร์ ก็มักจะใช้ผู้เล่นชุดยู-23 เพื่อสั่งสมประสบการณ์และขัดเกลาฝีเท้าเตรียมความพร้อมสู่รุ่นใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในศึกซีเกมส์ที่เหรียญทองฟุตบอลชายเป็นเหรียญแห่งศักดิ์ศรีที่สำคัญสำหรับทัพนักกีฬาไทย บางทีการผ่อนผันแนวทางปฏิบัติดังกล่าวลงบ้าง อาจไม่เหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไป

ถ้าช้างศึกตัดสินใจเลือกนักเตะตัวเก๋าหรือตัวเด่นๆ จากชุดหลักไปเสริมในแต่ละตำแหน่งสัก 1 คน เช่นกองหลังมี ธนบูรณ์ เกษารัตน์, กองกลางมี สารัช อยู่เย็น หรือกองหน้ามี ธีรศิลป์ แดงดา น่าจะช่วยในเรื่องความนิ่งและการคุมเกมได้มาก

Advertisement

เหมือนอย่างคู่แข่งชาติอื่นๆ แม้แต่คู่ปรับสำคัญอย่างเวียดนามที่ทุกวันนี้ครองเบอร์ 1 ของอาเซียนในการจัดอันดับฟีฟ่า แรงกิ้ง ก็ยังเรียกตัวผู้เล่นชุดใหญ่อย่าง เหวียน จอง วาน และ โด ฮุง ดุง มาเสริมทัพเพื่อความชัวร์

หรือบางทีถ้า นิชิโนะ อากิระ กุนซือชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ามารับงานคุมทีมชาติไทยได้ 5 เดือน กับทีมงาน ศึกษาข้อมูลของนักเตะไทยที่ค้าแข้งในไทยลีกละเอียดมากกว่านี้ อาจจะสามารถเลือกตัวนักเตะชุดซีเกมส์ที่อายุอยู่ในเกณฑ์ยู-23 ซึ่งมีความหลากหลายในการจัดแผนการเล่นได้มากกว่านี้หรือไม่?

นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามว่า ทั้งที่สต๊าฟโค้ชทราบดีเรื่องที่ต้องแข่งขันบนสนามหญ้าเทียมซึ่งนักเตะไทยไม่คุ้นเคยตลอดทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ กระนั้น ช้างศึกก็ยังซ้อมบนสนามจริงอยู่นาน กว่าจะได้ไปซ้อมทำความเคยชินกับสนามหญ้าเทียมก็ก่อนการแข่งขันเพียง 3 วันเท่านั้น

เกี่ยวกับผลงานที่น่าผิดหวังของทัพช้างศึกในซีเกมส์ครั้งนี้ อดีตแข้งทีมชาติไทยที่คลุกคลีกับวงการลูกหนังมาจนปัจจุบัน แสดงทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

“เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตศูนย์หน้าทีมชาติไทย ที่เคยคว้าแชมป์ซีเกมส์ 5 สมัย กล่าวว่า นิชิโนะมีเวลาในการทำความรู้จักและเข้าใจนักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีน้อยเกินไป เพราะทำงานกับทีมชุดใหญ่มาตลอด ซึ่งสองทีมนี้มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ส่วนผลงานในสนามมีข้อผิดพลาดไม่มาก แค่แพ้อินโดนีเซียนัดแรก ทำให้ต้องเหนื่อยในนัดที่เหลือ ซึ่งนัดที่เหลือทั้งกับบรูไน, สิงคโปร์, ลาว และเวียดนามก็ทำได้ดี ส่วนการไม่เอานักเตะอายุเกินติดทีมไปเลยนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะถ้าต้องการก้าวผ่านอาเซียนไปให้ได้ก็ต้องไม่ใช้นักเตะอายุเกิน ซึ่งก็ถูกแล้ว

อดีตดาวยิงทีมชาติไทยกล่าวอีกว่า ซีเกมส์ในยุคที่ตัวเองยังเล่นอยู่ต่างจากยุคนี้มาก อย่างแรกเลยคือเรื่องของอายุ ยุคนั้นใช้ทีมชาติชุดใหญ่ แต่ซีเกมส์ปัจจุบันใช้รุ่นยู-23 ประสบการณ์ย่อมต่างกันอยู่แล้ว ที่สำคัญซีเกมส์ทุกวันนี้เล่นวันเว้นวัน การฟื้นฟูร่างกายอาจจะไม่ดีนัก แต่ก็ถือเป็นประเพณีของฟุตบอลซีเกมส์ไปแล้ว ส่วนความยากนั้นคงไม่ต่างกัน เพราะในวันที่ยังเล่นอยู่กว่าจะได้แชมป์ก็ทุลักทุเล ไม่ได้ชนะรวดแล้วไปคว้าแชมป์

ด้าน สุรัก ไชยกิตติ ตำนานอดีตแบ๊กซ้ายทีมชาติไทยที่เคยคว้าแชมป์ซีเกมส์หลายสมัย กล่าวว่า ความผิดพลาดของทีมช้างศึกมีสาเหตุหลายองค์ประกอบ การเลือกตัวนักเตะไทยก็มีส่วน นิชิโนะอาจไม่ได้เลือกนักเตะด้วยตัวเองเพราะนิชิโนะอาจไม่ได้รู้จักนักเตะอายุ 23 ปีของไทยมาก ระบบทีมของเราเป็นปัญหาเช่นกันเพราะเด็กยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเล่นตามโค้ชสั่ง ดูอย่างเวียดนาม เขาเล่นทุกแท็คติคตามโค้ช ปาร์ค ฮัง ซอ วางไว้ เล่นแบบมีวินัย นักเตะมีหัวจิตหัวใจนักสู้กว่าเรา นักเตะไทยยังติดนิสัยเล่นแบบไทยๆ ดังนั้นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขคือ ปรับทัศนคติของนักเตะไทยให้สามารถเล่นแบบยอมรับแทคติคของนิชิโนะ ต้องปรับวิธีคิดของเด็กพวกนี้ใหม่ว่า ห้ามประมาท ห้ามเหลิง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่แก้ยากมาก เป็นมาตลอด ใครเข้ามาเป็นโค้ชก็เหนื่อย

“เด็กเรามีปัญหาเรื่องหัวจิตหัวใจ เด็กเราไม่กล้าเล่น เล่นแบบครองบอลนานเกินไป ติดเลี้ยง ต้องหัดและปลูกฝังให้รู้จักวิธีเข้าทำแบบทำชิ่ง และวิธีการอื่นๆ ที่หลากหลายกว่านี้ พอเน้นเลี้ยงบอลมันก็ต้องใช้พละกำลังมาก เวียดนามเขาเล่นมีวินัยมากจังหวะไหนเพรสเขาจะเพรสซิ่งทั้ง 11 คน จังหวะไหนลงมาคุมโซนต่ำเขาจะลงมากันทั้งหมด พอเราได้บอลเขาจะรุมกินโต๊ะนักเตะเรา เขาเล่นตามแบบฉบับของโค้ชเกาหลี เล่นตามแทคติค” สุรัก ไชยกิตติ กล่าว

ขณะที่ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตกองหน้าทีมชาติไทย และอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย กล่าวว่า ซีเกมส์หนนี้เห็นได้ชัดว่านักเตะไม่เข้าใจแทคติคของนิชิโนะ เพราะมีเวลาเจอกันน้อย ได้อยู่ด้วยกันกับหัวหน้าโค้ชแค่วันเดียวก่อนเดินทาง ทำให้ไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่สำคัญนักเตะชุดนี้ไม่มีคนที่เป็นที่เป็นผู้นำ ไม่มีความโดดเด่น ต่างจากยุคที่ตนเคยคุมทีม ตำแหน่งผู้รักษาประตูมีทั้ง “ตอง” กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ กองหลังมี “เก่ง” อดิศร พรหมรักษ์ กองกลางมี “เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ ส่วนกองหน้าก็มี “กอล์ฟ” อดิศักดิ์ ไกรษร ที่สามารถกระตุ้นเพื่อนร่วมทีมได้ จริงๆ แล้วไม่อยากให้โทษใครไม่ว่าจะนักเตะหรือโค้ช อยากให้ช่วยพัฒนาไปด้วยกันมากกว่า เรียนรู้ไปด้วยกัน มากกว่าที่จะโทษใคร

จะเห็นว่าประเด็นหนึ่งที่ตำนานแข้งไทยชี้ให้เห็นคือการที่นิชิโนะมีเวลาทำความรู้จักกับแข้งชุดยู-23 ไม่มากนัก และนักเตะยังเล่นตามแทคติคของกุนซือชาวญี่ปุ่นได้ไม่ดีพอ ซึ่งประเด็นเหล่านี้น่าจะพัฒนาขึ้นได้หากมีเวลาสร้างความคุ้นเคยและได้ฝึกซ้อมร่วมกันมากขึ้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ คือเรื่อง “ใจ” ซึ่งดูจะเป็นปัญหาของช้างศึกมายาวนาน

แมตช์สุดท้ายของรอบแรกที่ไทยเจอกับเวียดนามบนเงื่อนไขที่ว่า ต้องชนะให้ได้ผลต่างอย่างน้อย 2 ประตู และทั้งที่สามารถขึ้นนำได้ 2-0 ตั้งแต่ 10 กว่านาทีแรก ไทยกลับไม่สามารถรักษาสกอร์หรือยิงประตูเพิ่มได้ จนสุดท้ายก็โดนตีเสมอ

เรื่องรูปเกมถือว่าสูสี นักเตะไทยอาจมีปัญหาในการต่อบอลเมื่อโดนเพรสซิ่งหนักๆ แต่ที่แฟนบอลหลายคนอดบ่นไม่ได้คือเรื่องความทุ่มเทโดยเฉพาะช่วงท้ายเกม

ถึงจะตกรอบ แต่ถ้านักเตะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ วิ่งไล่บอลกันเต็มที่จนสัญญาณนกหวีดหมดเวลา ไม่ถอดใจไปก่อน ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ดูเหมือนว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ที่ชมการถ่ายทอดจะยังสัมผัสความมุ่งมั่นดังกล่าวไม่ชัดเจนเสียทีเดียว

สำหรับทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 เมื่อพลาดหวังไปแล้ว ก็ต้องมองไปข้างหน้า มุ่งเป้าไปที่การเตรียมความพร้อมสำหรับศึกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือศึก ฟุตบอลยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 8-26 มกราคม โดยมีเดิมพันเป็นตั๋วลุยศึก โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึก ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่ไทยต้องลุ้นเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบสุดท้าย

เป็นความท้าทายสำคัญที่รอนิชิโนะ อากิระ และแข้งช้างศึกอยู่ข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image