หมอเด็ก ย้ำอีกรอบ!! นมแม่บริจาคเสี่ยงสูง กินนมคนอื่นคือเดินถอยหลังย้อนศตวรรษ 18-19

หลังจาก น้ำหวาน พัสวี พยัคฆบุตร ภรรยาสาวของ พระเอกคนดัง นาวิน ต้าร์ ได้ออกมาพูดว่าได้บริจาคน้ำนมแม่ให้กับคุณแม่รายอื่นๆ ที่ไม่ค่อยมีน้ำนมให้กับลูกน้อย เพราะมีเหลือกเก็บถึง 5 ตู้เย็นแล้ว ทำให้มีแฟนคลับเข้ามาชื่นชมจำนวนมาก

ซึ่งทำให้ นพ.ยง ภู่รวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีนี้ว่า

“การแจกจ่ายน้ำนมแม่
นมแม่มีคุณประโยชน์สำหรับลูกเรา อาจเป็นอันตรายสำหรับลูกคนอื่น น้ำนมแม่ถือเป็นชีววัตถุ เช่นเดียวกับเลือด น้ำเหลือง ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอวัยวะ ในทางการแพทย์ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในมนุษย์จะมีเชื้อโรคหรือโรคซ่อนเร้นที่ทราบและไม่ทราบอีกเป็นจำนวนมาก
เราจะเห็นว่าการบริจาคเลือด หรืออวัยวะ สิ่งคัดหลั่ง ทำไมจึงต้องมีการตรวจตั้งแต่ตอบคำถาม 20 ข้อ ไปจนถึงการตรวจเลือดอีกมากมาย ตรวจหาไวรัสต่างๆ เราอย่าคิดว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงแล้วจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ความถูกต้องของนมแม่จะต้องเป็น แม่ใครแม่มัน ไม่มีการให้กันเองโดยเด็ดขาด
นอกจากมีธนาคารนมแม่แบบธนาคารเลือด และความจำเป็นของนมแม่ก็ไม่ได้สูงแบบเลือด การตรวจกรองจึงไม่คุ้มเลย
ในต่างประเทศ ถ้าเด็กหรือทารก ไปรับประทานนมผู้อื่นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็จะดูแลเด็กผู้นั้น แบบการสัมผัสโรคทางไวรัสทั้งหลาย หรือโรคเอดส์ทีเดียว ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ของเรา แปลกมาก มีการปั๊มนมแล้วชื่นชมกับการปั๊มนมเหลือเยอะแยะ แล้วเอามาบริจาค มีการชื่มชมกันมาก แสดงให้เห็นถึงสังคมไทย ยังไม่ได้เป็น “สังคมอุดมปัญญา”

Advertisement

ภายหลังจากที่นพ.ยง ได้เผยแพร่ข้อความนั้น น้ำหวาน พัสวี ก็ได้ออกมาโพสต์ผ่านอินสตาแกรมตัวเอง และเผยภาพของเด็กที่ได้รับบริจาคนมแม่ของตนไป ซึ่งมีสุขภาพดี ว่า

“ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ น้อมรับฟังทุกคำแนะนำค่ะและคุณหมอที่คลีนิคคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดค่ะ แต่ยังไงก็ต้องขอบคุณอีกครั้งคร้า น้องคนนี้น่ารักมั้ยคะ โตมาด้วยนมแม่หวานทานตั้งแต่ตอนอาทิตย์เดียว สุขภาพแข็งแรงดีมากกก น่ารักเหมือนลูก้าเลย ที่สำคัญรับที่คลีนิคนะจ๊ะ #คนไทยมีความรู้ #ตรวจโรคก่อนให้บริจาคคร้า #เกาะกระแส #สมัยนี้ไม่มีใครโง่นะคะโดยเฉพาะคนเป็นแม่ #อย่าว่าคนไทยไม่มีความรู้สิคะ #เราแค่มีจิตวิญญาณของความเป็นแม่คะ #เราแค่อยากทำบุญนะคะ #ไม่มีใครเข้าใจแม่ดีกว่าแม่”

Advertisement

“เตรียมตัวปั้มนมต่อคะ ขอบคุณทุกกำลังใจเลยนะคะที่ส่งมาทุกทิศทุกทาง และขอบคุณที่ทำให้น้ำหวานมั่นใจและอยากจะทำความดีต่อไป น้ำหวานเข้าใจคุณแม่ทุกท่านที่ติดต่อขอรับเข้ามาและขอบคุณที่มั่นใจในตัวแม่น้ำหวาน และน้ำหวานก็เชื่อมั่นว่าแม่ทุกคนแค่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดในความคิดของเราให้กับลูกน้อย แค่นี้ล่ะคะจิตวิญญาณของคนเป็นแม่อย่างเรา และเชื่อมั่นว่าแม่ทุกคนศึกษามาแล้วเป็นอย่างดีเพื่อลูก #ไม่ใช่บ้าดารา แค่รู้สึกแย่กับการมาว่ากลุ่มแม่ที่ทำเพื่อลูกหาอาหารให้ลูกเหมือนเป็นคนบ้าดารา และตัวน้ำหวานเองก็เป็นแม่ธรรมดาคนนึง ที่อยากจะช่วยแม่ด้วยกันเท่าที่เราจะทำได้ พยายามตอบข้อความทุกปัญหาที่แม่ถามมา และเมื่อมีแม่ขอน้ำนมมาเรามีพอที่จะแบ่งปัน เราก็ยินดีช่วย และขอน้อมรับทุกคำติชมที่เกิดจากความหวังดี #ไม่ได้เป็นดาราแค่ผู้หญิงที่เป็นแม่ธรรมดาคนนึง”

ในเรื่องนี้ นพ.ยง ยังได้โพสต์ข้อความ อธิบายไว้เพิ่มเติมว่า

“การบริจาคน้ำนมแม่
ชีววัตถุ เช่น เลือด น้ำนมแม่ อวัยวะต่างๆ สามารถแพร่โรคจากคนหนึ่งไปคนหนึ่งได้
เลือด หรือ ชีววัตถุที่บริจาค ต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค ถึงแม้ว่าบริจาคครั้งที่แล้วตรวจแล้วปกติ
การตรวจเลือดจะรวมไปถึงตัวเลือดที่บริจาคด้วย ต้นทุนในการตรวจมากมาย HIV HCV HBV etc
ตรวจถึง (NAT) DNA RNA ที่มีอยู่น้อยนิด โดยการตรวจสุขภาพจะไม่ตรวจกัน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้รับให้น้อยที่สุด 
การตรวจครั้งที่ผ่านมาว่าปกติ ไม่ได้บอกว่าวันนี้จะปกติ และยังมีโรคอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้ตรวจ หรือไม่สามารถตรวจได้ด้วยเทคนิคปัจจุบัน
เหตุนี้ในน้ำนมก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นสารคัดหลั่ง และระหว่างปั๊ม อาจจะมีบาดแผลเล็กๆน้อยๆที่มีเลือดซึมออกมาก็ได้
ขอยกตัวอย่าง ในอดีตที่ผ่านมา การผลิต growth ฮอร์โมน GH แต่เดิมใช้ต่อมใต้สมองของมนุษย์ปกติแข็งแรง ที่เสียชีวิตแล้ว เอามาสกัดเป็น GH เพื่อกระตุ้นความสูงให้กับเด็ก เป็นผู้บริจาคที่แข็งแรง ไม่มีโรค และตรวจไวรัสเท่าที่ทราบขณะนั้น ผลปรากฏว่าต่อมาในภายหลังที่ได้มีการใช้กันมานานกว่า 10 ปี ก็พบว่าผู้ที่ได้รับ HG เป็นโรคสมองฝ่อ CJD Creutrzfeldt-Jakob Disease มากกว่า 160 คน จึงรู้ว่าเกิดจากไวรัสที่โตช้า ที่ปนเปื้อนมาจากผู้บริจาค แต่กว่าจะรู้ ผู้รับก็ป่วยเป็นโรคสมองฝ่อ มากกว่า 160 คน
อีกกรณีหนึ่ง คือการใช้น้ำเหลือง จากผู้บริจาคที่ได้มีการตรวจกรองอย่างดี มาทำเป็นเซรั่ม ป้องกันเกี่ยวกับตัวเหลืองในทารก ที่มีกลุ่มเลือดต่างกัน Rh incompatibility และทำอิมมูโนโกลบูลินป้องกันโรค เมื่อใช้ไปเป็นจำนวนมาก และต่อมาอีกหลายสิบปีต่อมาจึงรู้ว่า ผู้ที่ได้รับเป็นไวรัสตับอักเสบซี หลายพันคน เพราะตอนผลิตขณะนั้นไม่มีวิธีการตรวจไวรัสตับอักเสบซี จึงไม่ทราบ มีการแพร่กระจายโรคไปเป็นจำนวนมาก และมีการฟ้องร้องกันต่อมา
ตัวอย่างอีกอันหนึ่งคือ วัวบ้า Mad cow disease ก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ที่สามารถแพร่ได้ทางชีววัตถุ เช่นเลือด น้ำนม ผู้รับอาจจะไปแสดงอาการในอีก 20 30 ปีข้างหน้า
คนที่แข็งแรงดี ไม่ได้เป็นการรับประกัน จุลชีพ ที่อยู่ในร่างกาย และยังไม่แสดงอาการ
ตรวจเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ก็ไม่ได้รับประกันว่าวันนี้ปกติเหมือนอาทิตย์ที่แล้ว จึงต้องตรวจทุกครั้งที่บริจาค ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และบางโรคก็ทำได้ยาก และยังมีโรคที่ไม่รู้หรืออาจจะรู้ทีหลังเกิดขึ้นได้อีก
ดังนั้น ชีววัตถุ เช่น เลือด อวัยวะ สิ่งคัดหลั่งที่ออกจากมนุษย์ จะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้”

ทั้งนี้ ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกตามใจหมอ” ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงถึงกรณีนี้ ว่า

“พูดกันทั่ว ๆ ไปถึงการแบ่งปันนมแม่กันเอง โดยไม่ผ่านระบบธนาคารนมแม่ และไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ที่เหมาะสม
แม่ผู้แบ่งปันนมให้คนอื่น ตรวจเลือดแล้วบอกว่า “ปกติ” หรือบอกว่า “ชั้นไม่เป็นโรคอะไรจากการตรวจเลือด” จะปลอดภัยไหม
ทั่วไป การตรวจโรคเช่น ตอนช่วงฝากท้อง … เราตรวจคัดกรอง HIV, ตับอักเสบ บี และซิฟิลิส เท่านั้น
เรามิได้คัดกรองความเสี่ยงทั้งหมด หากจะบริจาคนม พ่อหมอแนะนำให้ตรวจเบื้องต้น ย้ำ ว่าเบื้องต้น คือ NAT test (ตรวจกรดนิวคลีอิกของเชื้อ) for HIV, syphilis, HCV, HBV, HTLV-1 (Human T-cell Lymphotropic Virus I) เพิ่ม CMV, EBV เข้าไปอีกสักหน่อย … และอย่าลืมว่าการคัดกรองเชื้อเหล่านี้ยังมี window period คือ ติดเชื้อแล้วยังคัดกรองได้ผลลบ (ปกติ) ได้เลย …
นี่ยังไม่นับ Case report ที่มีการส่งต่อเชื้อ zika ไปสู่เด็กผ่านทางน้ำนม ก็ได้นะเออ นอกจากนี้ยังมีโรค CJD ที่คิดผ่านนมได้อีก และอื่น ๆ อีกหลายโรค
และบอกได้เลยว่า โดยปกติไม่มีใครตรวจเลือดถึงขั้นนี้ … เพราะแพงและทำได้ที่สถาบันใหญ่ ๆ เท่านั้น ดังนั้น ยังยืนยันคำเดิมคือ “การแบ่งปันนมมีความเสี่ยงสูง หากไม่ผ่านระบบธนาคารนมแม่ อย่าเสี่ยงเลยคุณแม่ทั้งหลาย”
เขามีเหตุผลที่ทั่วโลกเขาไม่ทำกัน
เหตุผล … ที่ทำให้มนุษย์พบกับการถนอมอาหารและผลิตภัณฑ์ของนมด้วยวิธี “พาสเจอร์ไรซ์”
เหตุผล … ที่ทำให้ไม่มีอาชีพ “แม่นม” อีกต่อไปในปัจจุบัน
หากเราจะย้อนกลับไปให้ลูกเรากินนมคนอื่น นั่นคือการเดินถอยหลังย้อนกลับไปอยู่ในก่อน ศตวรรษที่ 18-19 ก่อนที่เราจะรู้จักวิธีการฆ่าเชื้อด้วยระบบพาสเจอร์ไรซ์ และก่อนที่เราจะรู้จักนมผงที่ถูกผลิตขึ้นมาครั้งแรกในยุค 1930s
นมแม่ดีที่สุด เมื่อเป็นแม่แท้ ๆ ให้ลูกเท่านั้น
——————————-
เอาตามตรรกะแสนง่าย คนที่คุณรู้จัก ดูสะอาดสะอ้าน ดูมีสุขภาพดี มายื่นนมแม่ให้ลูกเรากิน … ถามจริง ๆ ว่า
คุณไว้ใจเขาได้แค่ไหน
คุณไว้ใจสามีเขาได้แค่ไหน
ว่าจะเอาโรคมาฝากภรรยาเมื่อไร
แล้วกับคนที่คุณไม่รู้จักดี …
คุณไว้ใจคนที่ไม่รู้จักได้มากแค่ไหน
คุณไว้ใจสามีของคนที่คุณไม่รู้จักได้แค่ไหน
ถามให้ดาร์กกว่า และตรงกว่านั้น รู้ได้ยังไงว่าสามีของคนที่มาให้นมกับคุณแม่ สามีเขาจะไม่ไปนอนกับผู้หญิงอื่น สามีเขาจะไม่ลงอ่าง หรือจะไม่เสพยาเสพติด
ตรวจเลือดทุกวันเหรอ ถามจริง ๆ
ไม่รู้จักฉัน … ไม่รู้จักเธอ
กล้าเสี่ยงจริง ๆ เหรอ

#หมอวินเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ

ปล. ปรึกษาหมอคนไหนเอ่ย เรื่องนี้ถึงได้เชื่อมั่นกับสิ่งที่ตัวเองทำขนาดนี้ อยากรู้จัง เพราะถือเป็นสิ่งที่แนะนำสวนทางกับหมอโรคติดเชื้อ องค์กรด้านสาธารณสุข และคนทำงานด้านนมแม่ทั่วโลกเลยทีเดียว …
ปล2. ตอนนี้ในประเทศไทย ธนาคารนมแม่ที่ได้มาตรฐาน มีแค่ที่ ศิริราช และรามาธิบดีครับ ส่วน รร แพทย์ที่อื่น ๆ น่าจะกำลังพัฒนาระบบและสร้างกันอยู่ครับ เอกชนไม่มีครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image