หมอธีระวัฒน์ เผย ‘โควิด-19’ มีโอกาสกลายพันธุ์ได้เรื่อยๆ แต่ยังตรวจพบได้

“หมอธีระวัฒน์” เผยความลำบากใจ โควิด-19 กลายพันธุ์เรื่อยๆ ไม่รู้คนไข้เป็นอะไรแน่ หากผิดพลาด วอนให้อภัย 

รายการโหนกระแสวันที่ 6 มี.ค. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.20 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ได้เปิดใจสัมภาษณ์ “ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา” หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ “ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กรณีที่ทีมนักวิจัยจีนตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารวิชาการ เนชั่นแนล ไซนซ์ รีวิว เมื่อวันที่ 3 มีนาคมนี้ ระบุว่าโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 นั้นสามารถกลายพันธุ์ได้

สิ่งที่น่าตกใจมาก ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ได้จริงๆ เหรอ?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “เราทราบกันมาตั้งแต่ปี 2004 สักประมาณ 17 ปีที่แล้วว่าค้างคาวที่อยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคซาร์ส และค้างคาวที่นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนไปสำรวจ พบว่าค้างคาง 1 ตัว มีไวรัสโคโรนาที่ไม่ใช่ซาร์ส แต่ยังไม่ระบุชื่อ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าค้างคาว 1 ตัวมีไวรัส 2 ตัว ฉะนั้นตั้งแต่ปี 2003-2004 ก็เริ่มเตือนให้จับตามองว่าไวรัสโคโรนาอาจประกอบร่างกลายเป็นตัวใหม่ หลังจากนั้นวิวัฒนาการในการแพร่โรคจากค้างคาวเข้าสคน ก็มาจากตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม และขณะนี้ทราบแล้ววิวัฒนาการไวรัสโควิด-19 มาจากตัวลิ่นหรือตัวนิ่ม การแพร่ให้คนจะเกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ย. ตอนที่แพร่ที่คน ตอนไม่ประกอบร่างใหม่ ตอนนี้ตัวไวรัสไม่ได้ประกอบร่างใหม่ แต่ถูกแรงกดดันจากสิ่งมีชีวิต จากสิ่งแวดล้อมมาเข้าสู่คน ตอนเข้าสู่คนแล้วก็มีวิวัฒนาการต่อ จะออกมาเป็นอีก 2 รูปลักษณะ ซึ่งตอนนี้ทั่วประเทศพอจะทราบกันอยู่ ว่ามีการรายงานว่าเป็นชนิด S กับตัว L รูป S คือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม เชื่อว่าเริ่มมาก่อนในคน แต่เมื่อผ่านไปมีแรงกดดันต่างๆ ในทางเอื้อหนุนเลยกลายเป็นตัวแอล ตัวแอลมีการศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดจนระยะหลังการระบาด ตอนเริ่มต้นระบาดประมาณต้นม.ค.เป็นตัวแอล ตัวแอลตัวนี้ดุร้ายมาก มีการกระจายตัวเร็ว”

Advertisement

 

ปัจจุบันนี้ที่สองตัวมารวมกันคืออะไร?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “อันนี้เป็นการรายงานล่าสุด ตอนแรกมีตัวเอสกับแอล ดุร้ายกับนุ่มนวล แต่ตอนนี้ใน 1 คนที่ติดเชื้อปรากฏว่ามีไวรัสตัวนี้ ที่มีพันธุกรรมเริ่มแตกต่างกัน คนนึงติดเชื้อไปแล้ว อาจมีรหัสแตกต่างกันถึง 4 ตัว และอาจจะมากกว่านั้นอีก ลักษณะการที่อยู่ในตัวคนที่มีความเปลี่ยนแปลงในมนุษย์หนึ่งคนที่ติดเชื้อ ลักษณะก็จะคล้ายๆ ที่เราเจอในไวรัสเอดส์ หรือไวรัสหัดที่เราเจอ”

 

มันผสมกันยังไง?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์  : “ผสมอย่างไรยังไม่ทราบ มันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ตรงนี้เป็นลักษณะที่เราไม่ชอบ มันพยายามพัฒนาไปเพื่อให้มีความเหมาะสมที่จะแพร่กระจายไปสู่คนอื่นได้มากขึ้น”

 

มีการยืนยันว่ามันรวมตัวกันแล้วและกลายพันธุ์ได้?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “มันเป็นตัวเก่าซึ่งหน้าตาผิดเพี้ยนไปจากเดิม มันยังเป็นกลมๆ หนามๆ แต่ที่ผิดเปลี่ยนไป คือการตรวจด้วยอณูชีวของเรา ที่เราออกแบบไว้ ตรวจได้แม่นยำเวลาน้อย จะเข้าไปตรวจเป๊ะๆ เลย แต่ถ้ามีการผันแปรของพันธุกรรมตรงนั้น รายงานล่าสุดเมื่อวาน มีการเตือนด้วยว่าการที่เราใช้วิธีอณูวิทยาตรงนั้นอาจต้องระวังเพราะถ้ามันวิ่งหนีจากรหัสที่เราตั้งไว้ก็อาจไม่เจอ เหมือนไขกุญแจ ถ้ารูกุญแจเปลี่ยนเกลียวไปนิดนึง ก็จะบิดไปไม่ได้ แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งตื่นเต้นมาก ในการตรวจ ณ ขณะนี้ยังพอตรวจจับได้ แต่ถ้าผันแปรไปเรื่อยๆ จากคนไข้ไม่กี่สิบคนเท่านั้นเองที่พบว่ามีการผันแปรแบบนี้ ต้องติดตามว่าการตรวจของเรายังแม่นยำอยู่หรือไม่ แล้วการเกิดนั้นก็เกิดในยีนส์แต่ละท่อนพร้อมๆ กันไปหมดเลย ที่เราออกแบบในการตรวจต่างๆ เหล่านี้อยู่ที่ยีนส์ต่างๆ เวลาระวังอาจต้องระวังวิธีการตรวจว่ายังคงแม่นยำอยู่หรือเปล่า”

 

ล่าสุดสี่รายพบในประเทศไทย เพิ่งเดินทางเข้ามา คนนึงน่าจับตามอง นักศึกษาอายุ 20 ปี เดินทางมาจากอิหร่าน ลงจากเครื่องไม่มีอาการอะไร ตรวจฉลุย ขึ้นรถทัวร์กลับบ้านนครศรีธรรมราช แล้วปรากฎว่าไอ เป็นไข้ ไปตรวจเป็นโควิด คนอยู่ในรถล่ะ?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่เราเจอ และเป็นเรื่องปกติที่เราไม่ชอบเลย เรารับทราบมาสองสามเดือนแล้วว่าเชื้อตัวนี้ปฏิบัติตัวไม่เหมือนเชื้อตัวใดๆ ที่เรารู้จัก ทั้งที่มีเชื้อ แต่อาการน้อย และขณะที่อาการน้อยนั้น เชื้ออันนั้นอาจเก่งกว่าปกติก็ได้ ตอนนั้นไม่ได้ขึ้นกับจำนวนเชื้ออย่างเดียว ขึ้นอยู่ที่เชื้อนั้นอาจจะน้อยแต่เก่งและรุนแรงกว่าธรรมดาก็ได้”

 

คนนั่งรถทัวร์จะมีโอกาสติดมั้ย?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “ข้อมูลล่าสุดที่ประเทศอเมริกาสำหรับคนไปติด เป็นคนอเมริกัน ไปติดเพราะมีการไปป้ายที่พื้นผิว ถ้าคนไปโดนเอามาขยี้ตา ปาก นั่นคือการติดที่สำคัญ  บางรายไม่ทราบจำนวนแน่นอน ออกมาทางอุจจาระ และเริ่มมีออกมาทางปัสสาวะ ขณะเดียวกันก็มีออกมาที่น้ำตา สิ่งตรงนี้คล้ายอีโบล่ามาก แต่ตอนนี้ลักษณะของมันเหมือนเชื้อต่างๆ ที่เราเจอ แต่ซ่อนตัวได้เนียนกว่า ถ้าเป็นอีโบล่าหรือตัวอื่น ถ้าปอดบวมก็ไม่ไหว ไปไหนไม่ได้ แต่อันนี้ปอดบวมแล้วแต่ไปสังสรรค์ได้ ตัวนี้ไม่ยอมหยุด”

 

กรณีโควิด-19 ระบาดไปกลุ่มเสี่ยง เรื่องผีน้อยที่ไปทำงานที่เกาหลีใต้ เรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานมองยังไง?

ดร.ดวงฤทธิ์ : “การไปทำงานที่เกาหลีใต้ ไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ตามแต่ ตอนนี้เราบูรณาการร่วมกัน ทั้งหน่วยงานของไทยและเกาหลีใต้ ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ทางรัฐบาลเกาหลีใต้ เขาก็ดูแลและรักษาให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ส่งรถพยาบาลไปรับและดูแลรักษา ไม่ใช่ส่งกลับประเทศเรา”

 

กลุ่มคนที่จะเดินทางกลับมา ภาครัฐจะทำยังไง?

ดร.ดวงฤทธิ์ : “ตอนนี้เราทำงานกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย ถ้ามาแล้วปฏิบัติตามเกณฑ์รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขก่อน เมื่อเรียบร้อยก็ถึงมาอยู่กระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงานก็ไปบูรณาการเขา ใครอยากหางาน เราจะเป็นเจ้าภาพฝึกทักษะ เรามีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็ไปฝึกทักษะเป็นอาชีพ ถ้าใครอยากกลับไปทำงานต่างประเทศอีก คราวนี้เขาต้องมาในช่องทางที่ถูกต้อง”

 

เรื่องการกักตัว?

ดร.ดวงฤทธิ์ : “เราช่วยกันทำงาน แต่หลักคือรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเขาก็วางมาตรการไว้ค่อนข้างดี”

 

เยอะมั้ยผีน้อย?

ดร.ดวงฤทธิ์ : “ที่เขาประเมินกันที่จะกลับมา ตอนนี้น่าจะน้อยมากแล้วแหละ เพราะรัฐบาลเกาหลีเขาก็ชัดเจนแล้ว ว่าถ้ามีคนป่วยเขาจะดูแลและดูแลเรื่องค่ารักษาให้ด้วย แล้วทูตแรงงานก็ไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ประชาสัมพันธ์พูดคุยกันว่าถ้ากลับมาคุณต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนอะไรบ้างถ้ากลับมา”

 

เตรียมสถานที่กักกันหรือยัง?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “ต้องเรียนให้ทราบว่าตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทำค่อนข้างดีมาก ตอนนี้เรื่องสถานที่อย่างช้าเสาร์อาทิตย์หรือวันจันทร์ กระทรวงแรงงานมีรายชื่อ ที่อยู่ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ถ้ากระทรวงสาธารณสุขทำงานปุ๊บ เราจะย้อนหลัง 14 วันเพื่อตามไปกักกัน หมายความว่าจะเรียกกลับมากักตัวใหม่ 14 วัน ถ้ามีปัญหาหรืออาการก็ไปรักษาเลย แต่ถ้ายังไม่ครบ 14 วันก็กลับเข้ามา โดยเฉพาะสองจังหวัดที่เป็นจังหวัดสีแดงของเกาหลี ถ้าเป็นจังหวัดสีเหลืองก็ให้ไปอยู่โรงแรมโดยมีเจ้าหน้าที่ไปสอดส่อง ตรงนี้ผู้ช่วยอาจยืนยันว่าไม่ใช่หมายถึงคนไทย คนต่างชาติเอง ถ้ามาจากจังหวัดสีแดงมีความเสี่ยงต้องปฏิบัติ”

 

ทำไมเอาแค่จังหวัด ไม่เอาทั้งประเทศ?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “ถ้าจะดูทั้งประเทศเลยอาจจะหนักหนาสาหัสเกินไป ถ้าจังหวัดสีแดงและน่าเชื่อถือ กักตัวตามระดับความสำคัญและรุนแรง”

 

สำหรับผีน้อยหรือคนที่ทำงานถูกกฎหมาย เขาจะกักตัวที่ไหน คงไม่ได้กักที่บ้านแล้ว ไปกักที่ภาครัฐจัดเตรียม ได้ยินมาแว่วๆ เขาบอกฐานทัพเรือสัตหีบ และวัดดังแห่งหนึ่ง จริงมั้ย?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “เขาบอกว่าลับ แต่เห็นในที่ประชุมบอกว่าได้ยินกันมา 300-400 คน”

 

เรื่องโควิด-19 ปัญหาเรื่องธนบัตร ที่มีการไปจับธนบัตร คนไปจับต่อมาขยี้ตา มีโอกาสเสี่ยงจริงเหรอ?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “ที่รัฐบาลจีนสั่งเผาธนบัตรทิ้งก็ด้วยเหตุนี้เอง ถ้าเราไปจับใน 9 วัน จับแล้วต้องล้างมือ ส่งเชื่อให้คนอื่นรับก็ต้องล้างมือต่อ”

 

ผีน้อยมาในเมืองไทย แล้วไม่ได้กักตัว ไปเที่ยวไปกินหมาล่า มองยังไง?

ดร.ดวงฤทธิ์ : “ผมว่าตอนนี้ต้องมีความรับผิดชอบในตัวเองและสังคม เป็นนาทีที่เราต้องช่วยเหลือดูแลกัน ทั้งตัวคนที่กลับมาเองและสังคม ครอบครัวต้องช่วยกัน”

 

ชะลอทางฝั่งผีน้อยให้กลับมาจนกว่าภาครัฐจะชัดเจน มีการจัดเตรียมสถานที่ดีกว่าเดินเข้ามาทีละร้อยสองร้อย?

ดร.ดวงฤทธิ์ : “ตอนนี้เขารู้แล้วว่าถ้ากลับมาต้องกักตัวยังไงบ้าง ผมเชื่อว่าตอนนี้แนวความคิดเปลี่ยนแล้ว กลับมาต้องผ่านกระบวนการกักตัว 14 วัน”

อาจารย์มองยังไง?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “ตรงนี้เป็นความรับผิดชอบส่วนตัว โรคติดต่ออันตรายตรงนี้คลี่กฎหมายดูแล้ว จะมีมาตรา 34 และ 35 ให้อำนาจผู้ว่าในพื้นที่นั้นเลย ไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรอรัฐมนตรีหรือใคร ก็เอามากักตัวได้เลย ปรับเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่นาทีนั้นเดี๋ยวนั้นสามารถจัดการได้เลยถ้าไม่ปฏิบัติตาม”

 

โควิด-19 กลายพันธุ์แน่ๆ?

ศ.นพ. ธีระวัฒน์ : “ตอบตรงนี้คือกลายพันธุ์ชัวร์ มีการกลายพันธุ์เรื่อยๆ วันนี้มีการรายงานว่าโควิดไม่ได้มาที่ปอด แต่ทำให้สมองอักเสบ อีกประการมาจากการทดลองก่อนหน้านั้นที่ลงมาที่ก้านสมอง ทำให้หายใจไม่ได้ ที่เรากลัวคือขณะนี้ดูแค่ปอด แต่อาจมาหัว อาจมาท้องเสีย ส่วนไต ม้ามคือผลหนึ่งสองสามสี่ และมีการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยไม่มีไอ ซึ่งพวกเราลำบากใจมากๆ เลยว่าเราดูคนไข้โดยไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไปก็ให้อภัยนะ เพราะเราไม่รู้ว่าหน้าตาที่ออกมา มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ”

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image