โซเชียลเกาะติด #อภิปรายไม่ไว้วางใจ แซะ ‘ไพบูลย์-สิระ-ปารีณา’ รับบทนางเบรก ศึกซักฟอก

โซเชียลเกาะติด #อภิปรายไม่ไว้วางใจ แซะ ‘ไพบูลย์-สิระ-ปารีณา’ รับบทนางเบรก ศึกซักฟอก

นับตั้งแต่เปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในเช้าของวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ ความวุ่นวายก็เริ่มมาเยือน

โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นำโดย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ลุกขึ้นหารือถ้อยคำในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีถ้อยคำเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองทันที

นายชวน ชี้แจงกรณีการบรรจุญัตติตอนหนึ่งว่า เรื่องญัตติแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เราเคยมีญัตติเนื้อหาทำนองนี้มาแล้วในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีมาแล้ว เพียงแต่ถ้อยคำต้องไม่ละเมิดตามมาตรา 6 เรื่องนี้ผมบรรจุผมต้องรับผิดชอบ ถ้าวันข้างหน้าบังเอิญ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมก็ต้องรับผิดชอบ

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวบางช่วงบางตอนว่า หากญัตติเขียนแล้วอ่านญัตติไม่ครบก็เหมือนกับยอมรับว่าคำวินิจฉัยของประธานไม่ชอบ และการบรรจุญัตติครั้งนี้ผิด พวกเราทำไม่ได้ ก็คงจะต้องอาศัยบารมีประธานและจุดยืนของประธาน เรียนว่าไม่สบายใจจริงๆ แต่จำเป็นต้องยึดหลักเอาบรรทัดนี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง และการอภิปรายเราเตือนกันอยู่แล้ว และมีความรับผิดชอบสูงอยู่แล้วว่าเรื่องอย่างนี้ควรไม่ควร ทุกคนต้องตระหนักและยกไว้เป็นวุฒิภาวะเบื้องสูง

Advertisement

ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงญัตติที่เสนอมานั้นมีข้อความที่มีปัญหา ไปเกี่ยวข้องกับสถาบัน กระบวนการที่พยายามให้แก้ไขก็ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ก็ได้รับการยืนยันจากพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ประสงค์จะแก้ไขญัตติดังกล่าว ตนจึงไม่มีหนทางอื่น จึงต้องเสนอเป็นญัตติด่วน เพื่อขอให้สภามีมติขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาหน้าที่และอำนาจของสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เพื่อพิจารณาญัตติที่ปรากฏข้อความนำสถาบันมาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นสภาจะมีอำนาจดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งสภารับญัตติดังกล่าวไปแล้ว และบรรจุในระเบียบวาระแล้ว และเห็นว่าหากให้ผู้นำฝ่ายค้านอ่านญัตติดังกล่าวมีปัญหาเพราะเป็นการกระทำต้องห้ามที่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า วันที่หารือร่วมกันทางผู้นำฝ่ายค้านรับปากในที่ประชุมว่าญัตตินี้ก็ไม่สบายใจและสะเทือนใจ ยินดีกลับไปแก้ไข ตนจึงได้กราบที่ตักท่าน แต่หลังจากออกนอกห้องผู้นำฝ่ายค้านได้รับโทรศัพท์จากดูไบ ให้บรรจุญัตติให้ได้ ดังนั้น เรื่องนี้ผู้นำฝ่ายค้านโดนแทรกแซงจากต่างประเทศ ตนรับไม่ได้ หากวันนี้กล่าวถึงสถาบันตนก็จะขอปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักของประชาชน “ผมขอประท้วง”

จากนั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ขอประท้วงนายชวน โดยขอให้ทำหน้าที่เป็นกลาง เมื่อฝ่ายค้านพูดให้พูดเต็มที่ แต่ฝ่ายรัฐบาลท่านกลับให้พอได้แล้ว เพราะว่าวันนี้รัฐสภากลายเป็นเวทีหนึ่งที่เปิดให้จาบจ้วงสถาบัน ดังนั้น ขอให้ฟังฝ่ายรัฐบาลด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในเวลาต่อมา การอภิปรายเริ่มตึงเครียด เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายถึงการปราบปรามบ่อนการพนันเถื่อน หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยให้สัมภาษณ์ว่า 100 นายกฯก็แก้บ่อนไม่ได้

โดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยกผลงานในสมัยยังรับราชการตำรวจในการปราบบ่อนประตูน้ำ และบ่อนลอยฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้ ส.ส.พรรคเสรีรวมไทยนำเอกสารผลงานของตนเองในอดีตไปมอบให้ประธาน เพื่อส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ศึกษา เพื่อปราบปรามบ่อนการพนันด้วย

ซึ่งตลอดการอภิปราย นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. กับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ผนึกกำลังประท้วงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพูดจาวกวน ซ้ำซาก ไม่เข้าประเด็น และโฆษณาตัวเอง

ตลอดจนเวลา 14.00 น.โดยประมาณ นายสิระลุกขึ้นประท้วงอีกครั้ง พร้อมขอให้ประธานไล่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ออกจากห้องประชุม

ทว่า โลกทวิตเตอร์ที่ติดตาม #อภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างใกล้ชิดต่างวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่ผู้แทนฯยกมือ-ลุกขึ้นประท้วงจนการประชุมไม่เดินหน้า ตลอดจนยกให้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายสิระ เจนจาคะ และ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เป็น “นางเบรก” เนื่องจากประท้วงบ่อยครั้ง อยากให้ประธานสภาพิจารณาปิดไมค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image