รู้จัก Clubhouse โซเชียลใหม่มาแรง ใช้งานอย่างไร และทำไมถึงฮิต

วิธีใช้ Clubhouse
AP Photo

Clubhouse แอพพ์สื่อสารด้วยเสียงมาแรง ที่ถูกจีนแบน เมื่อโหลดแล้ว ใช่ว่าจะเล่นได้เลย

เป็นแอพพลิเคชั่น ที่กำลังมาแรง เป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ Clubhouse เป็นท็อปปิกยอดนิยม ที่คนอยากเข้าไปใช้บริการ ออกมาโพสต์ให้เชิญเข้าไปเล่น นั่นเพราะ แม้จะโหลดแอพพิเคชั่นมาแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะเล่นได้แต่อย่างใด

Clubhouse เรียกว่าเป็นแอพพลิเคชั่นการสื่อสารด้วยเสียง ถูกสร้างในซิลิคอน วัลเลย์ โดย พอล เดวิสัน เน้นการพูดคุยด้วยเสียง มีคนเข้าไปเปิดห้องสนทนา และดึงคนเข้ามารวมกันเพื่อรับฟัง คนสามารถเข้าไปกดฟังได้ ตามที่สนใจ ใน 1 ห้อง จะมี ผู้ดูแล , ผู้พูด และ ผู้ฟัง เรื่องนี้ ผู้ที่ใช้โปรแกรมซูม ก็อาจจะคุ้นชินอยู่ไม่น้อย

เมื่อเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้เสียงสื่อสารกัน ก็คล้ายคลึงกันกับ Podcast ที่ได้รับความนิยมกันมาในช่วงหลายปี ที่เราสามารถเข้าไปฟังเรื่องที่เราสนใจ ไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาตัวเอง หรือ การสัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ เพียงแต่ว่า เราได้ฟังกันสดๆ ไปจนถึงเล่นดนตรี ก็มีให้ได้ฟัง

วิธีใช้เริ่มใช้งาน

1. ลงชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ ก่อนรับรหัส กรอกลงเครื่อง เพื่อสร้าง Username

Advertisement

2. รอเพื่อนจาก รายชื่อในโทรศัพท์ของเรา ที่มีบัญชีอยู่แล้ว กดเชิญผ่าน SMS ถึงมีมีสิทธิได้เข้าร่วม ขั้นตอนนี้ อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย เพราะ 1 คน จะเชิญได้เพียง 2 คนเท่านั้น หลายคนจึงแคปเอาหน้ายูเซอร์เนม ไปโพสต์ในที่ต่างๆ ให้มีคนเชิญ

3. ฟอลโลว์คนอื่นๆ เพื่อจะได้เห็นว่าสมาชิกในคลับ ได้เปิดห้อง ให้เราเข้าฟังหรือไม่

4. กดเข้าฟังในห้องต่างๆ หากจะพูด ก็สามาถยกมือที่ปุ่มด้านล่างขวา เพื่อขอพูดได้

Advertisement

5.หากไม่ชอบ ก็สามารถกดออกไปอย่างเงียบๆ ในปุ่ม Leave quietly

6.หากไม่อยากเป็นผู้ฟังอย่างเดียว ก็สามารถสร้างห้องขึ้นมาเองได้ โดยกด Start the room และเลือกห้อง มีทั้งเลือกให้เป็นสาธารณะ , เฉพาะผู้ติดตาม หรือแบบปิด เฉพาะผู้ที่ถูกเลือกเท่านั้นได้ฟัง วงหนึ่งจะอยู่ได้มากที่สุด 6,000 คน

อย่างไรก็ตามผู้ที่จะใช้ คลับเฮาส์ได้ ต้องเป็นผู้ที่ใช้โทรศัพท์ iPhone เท่านั้น

ทำไม Clubhouse ถึงเป็นที่นิยม

เหตุผลที่ทำให้ แอพพลิเคชั่น Clubhouse เป็นที่นิยม นั่นก็เพราะไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้าไปเล่นได้ แต่ว่าต้องมีผู้เชิญถึงจะเข้าไปเล่นได้ ในห้องหลายห้องที่แนะนำการเล่น ยังพูดว่า เครือข่ายที่ต่างต้องดึงกันเป็นทอดๆนี้ คล้ายกับเครือข่ายลูกโซ่ของไทยเช่นกัน อันเหมือนเป็นเหตุผลทางจิตวิทยา

แต่เหตุผลที่ทำให้คลับเฮาส์ ดังชั่วข้ามคืน เป็นเพราะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีผู้มีอิทธิพลทางความคิด ผู้บริหารในแวดวงต่างๆ นักการเมือง เข้ามาร่วมเล่น เป็นแหล่งรวมของอาชีพหลากหลาย ที่มาถ่ายทอดมุมมองในแง่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ อีลอน มัสก์ แห่งเทสลา ได้ออกมาพูดถึง แผนการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ก็ทำให้เกิดเป็นกระแสยิ่งขึ้น ล่าสุดเขายังเชิญ ปูติน มาร่วมพูดคุยในห้อง รวมไปถึง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก จาก เฟซบุ๊ก ที่ให้ความสนใจเช่นกัน นอกจากนี้ ก็มีดาราหลายคน อย่าง จาเร็ด เลโต นักแสดงดังเจ้าของบทโจ๊กเกอร์ และ เดรก นักดนตรีดัง มาเล่นคลับเฮาส์

ผู้มีอิทธิพลชาวไทย ที่เข้าไปจอยในแอพพ์ดังกล่าวแล้ว ก็มีไม่น้อย อย่างเช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , ปิยบุตร แสงกนกกุล , คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ , อิงค์ วรันธร และ ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋าเต็ด ซึ่งในประเทศไทยเอง มีห้องต่างๆ ที่ให้ความรู้อยู่ไม่น้อย

โดยหลายวันที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ การเข้าร่วมฟังในห้องจนเต็ม กระทั่งต้องเปิดเสียงจากอีกห้องหนึ่งเพื่อรับฟังเรื่องดังกล่าว และก็เต็มตามไปในเวลาไม่ช้า

ความเป็นที่นิยมอย่างมาก จนในทวิตเตอร์ มีคนโพสต์ว่าพร้อมเชิญ แต่ต้องจ่ายเงิน 200 บาท โดยล่าสุด ( 17 ก.พ.) ในแอพพลิเคชั่นช้อปออนไลน์ชื่อดัง ยังมีการขายคำเชิญ มูลค่ากว่า 1000 บาทอีกด้วย

เหตุผลที่ถูกจีนแบน

Clubhouse เป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ในจีนและไต้หวัน เพื่อหลบเลี่ยงการถูกรัฐบาลจีนสอดส่อง หลายครั้งได้พูดคุยกันในประเด็นที่อ่อนไหว อย่าง เรื่อง อุยกูร์ ซึ่งในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังมีการแลกเปลี่ยน จ่ายเงินเชิญเข้าแอพพ์เช่นกัน

และเป็นที่รู้กันดีว่า จีน มีกระบวนการตรวจสอบเว็บไซต์ต่างๆ และการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเข้มงวด การพูดคุยในเรื่องประชาธิปไตย ไต้หวัน หรือประเด็นความอ่อนไหวอื่นๆ จึงยากที่ทางการจีนจะปล่อยผ่าน จึงได้ถอดแอพพลิเคชั่นนี้จากแอปเปิลสโตร์ในปีที่แล้ว ก่อนจะบล็อก แอพพลิเคชั่นนี้โดยสิ้นเชิง เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีคนใช้ VPN ในการเข้าถึงอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image