ทนายเผย ‘หมิงตี้’ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย 100% ตอบชัด โรงงานต้องย้ายออกหรือไม่

ทนายเผย ‘หมิงตี้’ ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย 100% ตอบชัด โรงงานต้องย้ายออกหรือไม่

รายการโหนกระแสวันที่ 7 ก.ค. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดเหตุการณ์โรงงาน “หมิงตี้” ระเบิด โดยสัมภาษณ์  อาหลง ,คุณปุ้น ชาวบ้านที่รับความเสียหาย มาพร้อม วีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม , ดร.มนต์ชัย จงไกรรัตนกุล รองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความ

 

อาหลงสบายใจขึ้นมั้ย?

อาหลง : เสียใจมากครับ เมื่อวานหลังออกจากรายการแล้ว ผมคงต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุน อาจจะแค่ความคิดของผมเอง ล่าสุดที่รู้มา หมู่บ้านเราเริ่มมีกลิ่น แล้วเราได้ร้องเรียน ซึ่งไม่ได้ผล มาตรการของเราคือติดป้ายขายพร้อมกลิ่น

Advertisement

 

คุณบอกคุณไม่รู้ว่ามีโรงงานอยู่ข้างหลัง ถ้ารู้คงไม่ซื้อ แต่ทางหมู่บ้านบอกคุณจะไม่รู้ได้ยังไง โรงงานออกจะใหญ่?

อาหลง : ในไลน์กลุ่มของหมู่บ้าน มีหลายคนบอกว่าตอนซื้อบ้านถามเซลส์ เซลส์บอกว่าเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ คุณเชื่อมั้ย ก็ต้องเชื่ออยู่แล้ว เพราะผมซื้อแบรนด์ ผมเชื่อในแบรนด์โครงการนี้

Advertisement

 

คุณมาออกรายการเมื่อวาน แล้วคุณจะกลัวทำไม?

อาหลง : ตอนนี้หมู่บ้านเริ่มทำหลังคา โครงการทำให้ เขาบอกว่าบ้านที่ติดป้ายเอาไว้หลังสุด ทำหลังสุด เขาบอกให้เอาป้ายออกก่อน เดี๋ยวจะทำให้ ไม่ได้พูดเอง มีหลักฐาน แต่ไม่อยากทำถึงขนาดนั้น แต่เขาบังคับผม เขากำลังซ้ำเติมพวกผมอยู่

 

คุณติดป้ายขายบ้านพร้อมกลิ่น หลังมีเหตุระเบิดเกิดขึ้น หมู่บ้านโครงการนี้ มีบางหลังพัง ทางโครงการมาทำให้ไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณปุ้นทำมั้ย?

ปุ้น : เจ้าหน้าที่มาช่วยทำครับ ผมเข้าไปเมื่อวานตอนเช้าได้คุยกับกรรมการผู้จัดการ เขามาชี้แจงว่าจะส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยมุงหลังคาให้ชั่วคราวก่อน หลายๆ หลังหลังคารั่ว ถ้ามีฝนตกจะเสียหายเพิ่มขึ้น  เขาเกณฑ์ช่างกันมาทำ อีกอย่างที่ผมต้องขอขอบคุณคือเจ้าของโครงการช่วยหาที่พักให้ ซัปพอร์ตหาอะไรให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย บางหลังผมเองก็ไม่ทราบ แต่เขาระดมทำทุกหลังเหมือนกัน

 

ของคุณได้รับการทำให้ เพราะคุณไม่ได้ไปติดป้ายบ่นเขา แต่อาหลงบ่น?

อาหลง : เพราะกลิ่นมาทางผมแรงมาก ตอนนี้โครงการไม่เข้าไปซ่อมหลังคาให้เพราะยังไม่เอาป้ายออก ถ้าไม่เอาป้ายออกทำให้หลังๆ

 

ในมุมคุณปุ้น คนนั่งอยู่ในบ้านกับแฟน ที่ยังไม่หลับ คุณนอนห่มผ้าอยู่ ตอนนั้นตีสามคุณดูหนังอยู่ มีอะไรเกิดขึ้นก่อนมั้ย?

ปุ้น : ไม่มีเหตุ ก่อนหน้านั้นไม่รู้สึก มันมีแว้บนึงที่มีไฟวิบวับแล้วก็ระเบิดเลย ไม่มีอะไรบอกล่วงหน้า

 

คุณกับแฟนได้รับบาดเจ็บมั้ย?

ปุ้น : มีแก้วบาดที่เท้านิดหน่อย ตกใจแล้วยืนขึ้น ไม่เห็นว่ามีเศษกระจกบนพื้น โชคดีวันนั้นอยู่กับแฟนแค่ 2 คน

คุณทราบมั้ยตอนซื้อว่ามีโรงงาน?

ปุ้น : ทราบครับ แต่ไม่ทราบเลยว่าเป็นโรงงานอะไร ไม่ได้สอบถาม คิดว่าเป็นโรงงานทั่วไป ไม่คิดว่าโรงงานจะระเบิดได้

 

เหม็นมั้ย?

ปุ้น : ช่วงแรกไม่รู้สึกว่าเหม็นเลย แต่ 3-6 เดือนหลังเริ่มมีกลิ่น กลิ่นเหม็นๆ คล้ายๆ กลิ่นน้ำมัน ตอนแรกผมคิดว่าเป็นกลิ่นเครื่องจักรหรือเปล่า ด้วยความไปทำงานแล้วกลับบ้าน ไม่ได้อยู่บ้านทุกวัน ได้กลิ่นเป็นบางเวลา ไม่ใช่ตลอดเวลา ไม่ใช่ออกมาได้กลิ่นเลย

 

บ้านคุณอยู่ใกล้โรงงานมั้ย?

ปุ้น : ใกล้มากครับ มองกระจกไปก็เห็นโรงงาน อยู่คนละซอยกับอาหลง ของผมประมาณ 200 เมตร

อาหลง : ผมห่าง 80 เมตร โควิดรอบแรกไม่ได้ทำงาน อยู่บ้านทุกวัน เช้าเย็นได้กลิ่นตลอดเวลา ทำให้เราไม่สบาย เวียนหัว มึนหัว

 

เมื่อวานอ.อ๊อดบอกว่าถ้าได้กลิ่นมาก่อนหน้านี้ แสดงว่ามีการระเหยมาก่อนหน้านี้ ต้องถามทางท่านรองฯ มันน่าจะมีอะไรรั่วออกมาก่อนหรือเปล่า?

วีระกิตติ์ : ก็เป็นไปได้ ถ้าอยู่ปกติกลิ่นก็จะเป็นแบบนี้ทั่วไป ถ้ามีสัญญาณอะไรผิดปกติ ก็น่าจะเป็นอย่างที่อ.อ๊อดว่า ถ้าโรงงานมีธรรมาภิบาล พอเกิดเหตุปุ๊บ ท่านโทรหาโรงงานเลย ว่าตอนนี้มีกลิ่นโชยมาด้านนี้ ช่วยดูหน่อย ลักษณะนี้ก็มีใช้กันทั่วไป และเราก็ส่งเสริมให้ใช้ เพื่อให้อยู่ได้ระหว่างโรงงานกับชุมชน ตอนนี้เรามาแนวนี้หมด โรงงานที่จะตั้งอยู่ ต้องอยู่กับชุมชนให้ได้ ไม่ว่าจะตั้งมาก่อน

อย่างเคสนี้ตั้ง ตั้งแต่ปี 32 ผมเคยอยู่ต่างจังหวัด มีข้อร้องเรียนตลอดมา เอากระบวนการเหล่านี้ไปใช้ เมื่อโรงงานทำความเข้าใจกับชุมชน ต่างคนต่างคอนเซิร์นซึ่งกันและกัน โรงงานก็ต้องคอนเซิร์นชาวบ้านที่อยู่รอบข้างด้วย ไม่ใช่ตั้งใจหาเงินโดยไม่ดูแลชุมชนเลย ลักษณะนี้ต่อไปอยู่ไม่ได้แน่ หมายความว่าโรงงานเอง ที่จะอยู่ต่อไป คุณต้องมีธรรมาภิบาล และคอนเซิร์นชุมชนด้วยเช่นกัน

 

ในมุมโรงงาน จะมีแบบนี้หลายจุด ในมุมกลับกัน มีหมู่บ้านอยู่ตรงนั้น อย่างโรงงานนี้ตั้งมาตั้งแต่ปี 32 แล้วมีการปรับผังเมืองพื้นที่ตรงนั้นสร้างหมู่บ้านได้ มีการดูเรื่องมลพิษ สุดท้ายโรงงานจำเป็นต้องย้ายมั้ย?

วีระกิตติ์ : โรงงานได้รับสิทธิ์มาก่อน โดยข้อกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์เขาอยู่ เขามีสิทธิ์ตั้งได้

 

พอระเบิดแบบนี้ ใครรับผิดชอบ?

วีระกิตติ์ : พอระเบิดในกระบวนการกฎหมายก็ดำเนินไป พอระเบิดก็ต้องสั่งหยุดต้องปิด เป็นกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากนั้นคุณจะเปิดขึ้นมาใหม่ก็มาดูกันว่ากฎเกณฑ์ที่คุณจะเปิดก็ต้องว่ากันไปตามกฎเกณฑ์

อาหลง : เอามาตรฐานอะไรมาวัดว่าโรงงานนี้ปลอดภัย ซึ่งเราร้องเรียนไปว่าช่วยตรวจสอบ แต่ฟีดแบ็กบอกว่าผ่านมาตรฐาน นี่เหรอผ่านมาตรฐาน อยากถามว่ามาตรฐานคืออะไร ชีวิตคนเราตายไปก่อนเหรอ นักดับเพลิงตายไปก่อนเหรอ หรือประชาชนตายมากว่านี้เหรอ มาตรฐานคืออะไร

ดร.มนต์ชัย : กรณีการครอบครองหรือได้ใบอนุญาต จริงๆ เจ้าหน้าที่น่าจะได้เข้าไปตรวจสอบ เป็นช่วงๆ เป็นปีๆ หรือเปล่า ว่าการเก็บภาชนะสารเคมีใช้ได้เท่าไหร่อย่างไร เสื่อมสภาพหรือยัง

 

ท่านรองฯ ยังไงดี?

วีระกิตติ์ : กระบวนการอนุญาตก็จะมีกฎเกณฑ์ คือหนึ่งสถานที่ตั้ง เป็นไปตามข้อกฎหมายหรือไม่ ขัดกับผังเมืองหรือไม่ ถ้าเกณฑ์ในขณะนั้นไม่ขัดผังเมือง รายการเครื่องจักรที่ส่งมาก็จะมีวิศวกรรับรองว่ารายการเครื่องจักรแบบนี้ จะมีมลพิษอะไรบ้าง ก็จะมีวิศกรเซ็นรับรองด้านมลพิษเข้ามาว่าจะเกิดไอ ควัน โน่นนี่ในกระบวนการผลิตอย่างไร

 

อย่างนี้ใครรับผิดชอบ?

วีระกิตติ์ : เรื่องการเยียวยา กฎหมายของกรมโรงงาน มีในเรื่องของการอนุญาต แต่เรื่องการเยียวยาจะมีกฎหมายที่มีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว ดังนั้นกฎหมายของรัฐจะไม่ซ้ำซ้อนกัน ผมว่าเดี๋ยวนักกฎหมายจะตอบได้ดีกว่าในประเด็นนี้ ว่ากฎหมายของรัฐในทุกๆ เรื่องจะไม่มีการซ้ำซ้อนกัน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับโรงงาน กรมโรงงานดูแล ภายนอกโรงงานทั้งหมด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ดูแล จะแบ่งเขตเรื่องการกำกับดูแลและความรับผิดชอบของแต่ละเรื่องไป

 

โรงงานนี้ ฝั่งกรมโรงงานเข้าไปตรวจสอบก่อนหน้านี้มั้ย?

วีระกิตติ์ : การตรวจสอบไม่ได้มีเฉพาะกรมโรงงาน เนื่องจากโรงงานนี้ตั้งอยู่ที่สมุทรปราการ กระทรวงอุตสาหกรรมแบ่งเป็นสองส่วน คือส่วนภูมิภาคกับส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ฉะนั้นจังหวัดเองโดยอุตสาหกรรมจังหวัดเขาก็มีหน้าที่รับผิดชอบ มีวิศวกรมีอะไรอยู่ประจำ

 

แล้วกรมโรงงานมีไว้ทำอะไร?

วีระกิตติ์ : หนึ่งตรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ มีหน่วยดูแลพื้นที่ในกรุงเทพฯ และดูแลเรื่องการลงไปตรวจมลพิษ ดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นหน่วยวิชาการ

ไม่ได้เกี่ยวกับกรมโรงงาน?

วีระกิตติ์ : ไม่ได้ไม่เกี่ยวซะทีเดียว หนึ่งในเรื่องการกำกับความดูแลความปลอดภัย เราต้องไปดูเหมือนกัน

 

ก่อนหน้านี้เคยไปตรวจสอบมั้ย?

วีระกิตติ์ : ตั้งแต่กระบวนการอนุญาตต้องไปดูอยู่แล้ว มันมีหลักเกณฑ์ต้องทำรายการประเมินความเสี่ยงเข้ามา แต่การกำกับดูแลจะเป็นโซนแต่ละพื้นที่ดูแลอยู่แล้ว

อาหลง : ขออนุญาตถาม เมื่อกี้พูดถึงว่ามีวิศกรคอยเซ็นรับรอง มีแต่ละหน่วยงาน แล้วหมู่บ้านก่อนจะสร้าง ต้องไปขออนุญาตทางไหน จังหวัดไม่รู้เหรอว่าโรงงานนี้มีสารเคมีอยู่ใต้ดิน ไม่รู้กี่พันตันอยู่ข้างล่าง และมีน้ำมันอีก

ดร.มนต์ชัย : สารเคมีนี้เขาเรียกสไตรีนโมโนเมอร์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทสอง ใครมีไว้ในครอบครอง ต้องมีการแจ้งหน่วยงานของรัฐ นี่คือหลักก่อน ดังนั้นผมเข้าใจท่านรองเมื่อมีการอนุญาตในการก่อสร้าง ก็เดินตามๆ กันไป อยู่ที่ว่าสารเคมีตัวนี้ได้มีการแจ้งภาครัฐถูกต้องมั้ย ทางโรงงานหมิงตี้เองอาจปกปิดข้อมูลหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่กรมโรงงานก็น่าจะมีข้อมูลพื้นฐานของการเก็บสารเคมีตัวนี้ เพราะสารเคมีตัวนี้ใครไม่แจ้งมีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่น ดังนั้นผมเลยขอรบกวนสอบถามท่านรองฯ ว่า ฐานข้อมูลที่โรงงานมี พอทราบมั้ยว่าโรงงานหมิงตี้เขาได้แจ้งมั้ยว่าเก็บไว้กี่ตัน จะได้ตรงตามที่อาหลงพูด

อาหลง : ผมเป็นตัวแทนหมู่บ้านที่เสียหายเป็นข้อสงสัยหลายๆ คน ที่ตั้งใจซื้อบ้านตรงนี้ ไม่คิดว่าจะเป็น เพราะเก็บเงินมาทั้งชีวิต

 

เรื่องนี้ใครจะเป็นคนเยียวยา?

ดร.มนต์ชัย : แน่นอนครับ ใครทำละเมิดคนนั้นจ่าย โรงงานหมิงตี้ต้องรับผิดชอบเต็มๆ ไม่ต้องพิสูจน์กันก่อน กฎหมายสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 กำหนดไว้เลย ใครมีไว้ในความครอบครอง กฎหมายปิดปากไม่ต้องพิสูจน์เหมือนคดีแพ่ง เหมือนพี่หนุ่มขับรถชนผม ผมฟ้องพี่หนุ่ม ต้องมีการไต่สวนว่าพี่หนุ่มเลินเล่อประมาทหรือไม่ แต่กรณีพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี 35 มาตรา 96 กำหนดไว้ชัดเจนว่าหากมีการรั่วไหล บุคคลที่มีความครอบครัวจะประมาทหรือจงใจต้องรับผิดชอบ แต่การรับผิดชอบ ต้องรับผิดชอบในส่วนภาครัฐที่มีการเคลื่อนย้าย อพยพด้วยนะ ดังนั้นโรงงานหมิงตี้ไม่ใช่ถูกโจทก์เฉพาะชาวบ้าน รัฐมีสิทธิ์เรียกร้องโรงงานหมิงตี้ได้เหมือนกัน ค่าเสียหายเรียกได้หมด

 

เมื่อวานคุยกับอ.อ๊อด แกบอกว่าก่อนหน้านี้พื้นที่แห่งนี้สร้างมาก่อนปี 32 แล้วปรับเป็นพื้นที่สีแดง หมู่บ้านมาเปิดได้ แต่ต้องไปวัดก่อน มลพิษเป็นยังไงอยู่ได้มั้ย ทุกอย่างผ่านออกมาแล้วสร้างหมู่บ้าน ลูกบ้านไปซื้อมา ประเด็นเขาบอกตรงนั้นเป็นพื้นที่สีแดง โรงงานต้องย้ายออกไปพื้นที่สีม่วง?

ดร.มนต์ชัย : กฎหมายผังเมืองได้กำหนดพื้นที่เป็นโซนๆ สีแดง สีเขียว ที่ม่วง เหตุพิพาทเกิดในพื้นที่สีแดง ห้ามสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เว้นแต่มีการขึ้นทะเบียนเฉพาะกรณีไป ผมไม่รู้ว่าหมิงตี้มีการขึ้นทะเบียนเฉพาะกรณีไว้หรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ตรวจสอบยังไม่พบ แต่ตามหลักแล้ว ภาครัฐผังเมืองเขาเพิกเฉย เพราะกฎหมายเขียนไว้เลยว่าพื้นที่สีแดง ตั้งแต่มาตรา 15-18 เขาเขียนไว้เลยว่าห้ามมีโรงงานอุตสาหกรรม แต่มันเกิดเป็นดอกเห็ด ถ้าจะเล่นกันต้องมีการรื้อโรงงานออก

 

แล้วโรงงานทำไง ต้องย้ายออกมั้ย?

ดร.มนต์ชัย : ในความเห็นผม ถ้าภาครัฐมีมาตรการบทลงโทษต้องย้ายออก เพราะไม่อยู่ในพื้นที่เขากำหนดแล้ว ส่วนจะย้ายให้เวลาขนย้ายอย่างไรเป็นอีกเรื่องนึง แต่ผมให้ความเป็นธรรมก่อน ถ้าเกิดหมิงตี้ขึ้นทะเบียนเฉพาะกรณีก็อยู่ได้

 

พูดง่ายๆ เขามาก่อน แต่พอมีชุมชน ชาวบ้านมาอยู่ อาจมีเหตุเกิดขึ้นเขาต้องย้ายออกไป?

ดร.มนต์ชัย : ตามหลักเป็นแบบนั้น เพราะกฎหมายผังเมืองเป็นแบบนั้น ว่าห้ามมีโรงงาน แต่มีได้อย่างไรตรงนี้ผมไม่ทราบจริงๆ

 

ท่านรองฯ มองยังไง?

วีระกิตติ์ : เนื่องจากหมิงตี้มาตั้งแต่ปี 32 กฎหมายผมเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นไปตามกฎหมาย ณ ตอนนั้น สามารถตั้งได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหมิงตี้ พอดูรอบๆ โรงงานเต็มไปหมดเลย ซึ่งผมว่ามีหลายร้อยโรงงาน จะให้คนทำผิดอยู่เป็นร้อยๆ โรงงานเป็นไปไม่ได้ กฎหมายต้องเอื้อให้ในการประกอบกิจการได้ในขณะนั้น ณ วันนี้เราบอกว่าเกิดเหตุ

ในขณะที่เกิดเหตุ ในการทบทวน สมมติหมิงตี้จะขอตั้งหรืออะไร รัฐต้องมาดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว ว่าเหมาะสมมั้ย ซึ่งเขามีสิทธิ์จริง เขาได้ใบอนุญาตไปแล้ว สิทธิ์เขามีจริงตามกฎหมาย แต่ในเรื่องที่เกิดเหตุขึ้นมา ต้องทบทวนสิทธิ์ตรงนี้

 

จริงๆ เขาควรย้ายออกไปมั้ย?

วีระกิตติ์ : ถ้าผมมอง ถ้าเขาไม่สามารถดำเนินการได้ เขาอยู่ที่นี่ลำบาก ผมว่าเขาก็อยู่ยากก ถ้าไม่ย้ายออกไปจะโดนแรงกดดันจนอยู่ลำบาก

 

มุมปุ้นว่าไง?

ปุ้น : ผมอยากรู้ว่าหลังจากนี้หน่วยงานจะตรวจสอบมลพิษหลังจากนี้มั้ย เนื่องจากว่าต้องอยู่กันอีกนาน จะมีการตรวจสอบมั้ย จะจางหายไปเมื่อไหร่ และใครจะเป็นคนเยียวยาชาวบ้านละแวกนั้น ผมเชื่อว่ามีจำนนวนมากพอสมควร อยากหาเจ้าภาพก่อน

ดร.มนต์ชัย : ตอนนี้คงต้องรวมตัวกันหาผู้นำสักหน่อย แยกความเสียหาย ผมเองก็หารือกัน ถ้าลูกบ้านอยากให้สภาทนายความเป็นโต้โผก็ไปเขียนคำร้องกัน การดำเนินคดีต้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม แบ่งความเสียหายเป็นส่วนๆ ถ้าไม่แบ่งความเสียหาย ต่างคนต่างแย่งกัน เพราะเงินหน้าตักกรมประกันภัยมีไม่ได้เยอะ ถ้าต่างคนต่างแย่งจะอลหม่านกันมาก เราควรแบ่งความเสียหายเป็นกลุ่มๆ หาผู้นำหรือตัวแทนไปร้องเรียน ไปยื่นเรื่อง เรียกร้องได้หมด

 

ถ้าโรงงานฟ้องขับไล่ชาวบ้านออกจากหมู่บ้านได้มั้ย?

ดร.มนต์ชัย : ไม่ได้สิครับ

 

จุดที่ระเบิดเป็นโซนสีแดง บ้านอยู่กัน โรงงานอยู่ไม่ได้เว้นแต่โรงงานได้รับการขออนุญาตเป็นกรณี?

ดร.มนต์ชัย : ตอนนี้ต้องสรุปความเสียหาย เพราะมันต่อเนื่อง ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานแล้วเอาไปฟ้องร้องกัน

 

คุณกับ “อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชาวบ้านกังวลใจเรื่องมลพิษ ท่านมองยังไง?

อรรถพล : เราเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. ไปเก็บตั้งแต่วันแรกๆ เรื่องสภาพอากาศค่อนข้างสบายใจได้ เราจำกัดเฉพาะในรัศมี 1 กิโลเมตรก่อนที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ที่เหลือสภาพอากาศปกติ ไม่ว่าค่าอะไรก็ปลอดภัย ช่วงเย็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็คงมีประกาศผ่อนปรนพื้นที่ตรงนี้ แต่เรื่องของน้ำต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตอนนี้เราพยายามเก็บพื้นที่แหล่งน้ำทั้งหมด 13 จุด เพื่อที่จะดูลักษณะการปนเปื้อนที่จะลงไปสู่ท่อระบายน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ

ชาวบ้านเข้าบ้านได้เมื่อไหร่?

อรรถพล : ให้ฟังประกาศของจังหวัดก่อน เพราะผู้มีอำนาจคือผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วงเย็นจะมีประกาศ

 

ในมุมโรงงานไปตรวจสอบแล้ว?

อรรถพล : ครับ ที่น่ากังวลคือสารเคมีตัวนี้เป็นสารเคมีที่ติดไฟง่าย เราล็อกไว้แล้ว แต่ยังมีกระจายอยู่รอบๆ ข้าง ในท่อและพื้นที่ข้างเคียง เราต้องเลี้ยงไม่ให้มันมีอุณหภูมิสูงอยู่ในจุดวาร์ปไฟ เรากำลังคุยกันว่าจะใช้สารเคมีพิเศษ ที่ทำให้สารพวกนี้แข็งตัวและง่ายต่อการแก้ไขปัญหา ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

 

กรณีนี้หลายคนเป็นห่วงเรื่องฝนที่ตกลงมา น้ำจะไหลไปไหนไม่รู้ จะมีผลต่อคนใช้น้ำมั้ย?

อรรถพล : เรื่องน้ำไม่ต้องเป็นห่วง พี่น้องประชาชนไม่ได้อุปโภคบริโภคจากแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็น้ำประปา สำหรับน้ำที่ลงไปในระบบท่อระบาย เราติดตามไปถึงแหล่งน้ำธรรมชาติหมด ไม่ว่าจะลงไปแม่น้ำลำคลองที่ไหน ก็ประสานกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในการปิดกั้นระบบการระบายน้ำในพื้นที่รอบๆ ทั้งหมด เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำก่อน ตรงนี้พี่น้องประชาชนพยายามหลีกเลี่ยงสัมผัสน้ำตามธรรมชาติหรือน้ำจากท่อระบายน้ำ ถ้ามีฝนตกลงมาก็อย่าเพิ่งไปสัมผัสฝน

 

ถ้าประชาชนได้กลิ่นสารเคมี ควรทำยังไง?

อรรถพล : ต้องรีบแจ้งหน่วยงานระดับจังหวัด ท้องถิ่นอยู่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรืออบต. หรืออุตสาหกรรมจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด หน่วยงานไหนอยู่ใกล้ที่สุดก็แจ้งได้ทันที กลิ่นนี่จะมาก่อนเพื่อนเลย สัมผัสได้โดยตรง

ดร.มนต์ชัย : จากที่ตรวจสอบ ปลา พืชน้ำตายเยอะมั้ยในคลอง

อรรถพล : ยังไม่ถึงขนาดนั้น ผลตอนเช้าที่ออกมายังไม่ครอบคลุมในทุกๆ เรื่องแต่ ยังไม่รุนแรงขนาดนั้น เพราะการปนเปื้อนค่อนข้างเจือจาง ไม่มีผลรุนแรง แต่มีผลในระบบนิเวศทางอ้อมถ้ามีการสะสมมากๆ

 

อาหลง ชาวบ้านแถวนั้น บอกได้กลิ่นแบบนี้มาก่อน 3 เดือน หลังๆ คละคลุ้งไปหมด เป็นไปได้มั้ยมีการรั่วไหลออกมา?

อรรถพล : แน่นอน แต่ต้องไปดูว่าเป็นกลิ่นอะไร สไตรีนโมโนเมอร์มั้ย ต้องไปดูด้วยว่าเป็นกลิ่นประเภทไหน

อาหลง : เหมือนพลาสติก โฟมเผาไหม้

อรรถพล : อันนี้น่าจะเป็นกระบวนการในการผลิต และกระบวนการพ่นควัน ซึ่งกระบวนการผลิต ต้องมีมาตรฐานในการปลดปล่อยด้วยนะ

 

ปุ้นได้กลิ่นยังไง?

ปุ้น : กลิ่นคล้ายๆ น้ำมัน เหม็นๆ เหมือนทินเนอร์

ดร.มนต์ชัย : สารสไตรีนฯ อยู่ในความครอบครองของโรงงานเท่าไหร่

อรรถพล : ตอนนี้ยังไม่ได้รายละเอียดที่ชัดเจน ข้อมูลเท่าที่ทราบมีการแจ้งอยู่ในระบบฐานข้อมูล เพียงแต่ว่าของจริงที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ ไม่มีข้อมูลชัดเจน หรือมันอยู่ในแท็งก์ที่เราปิดวาล์วไว้ ในแท็งก์เหลือเท่าไหร่เราก็ไม่รู้ ตรงนี้ก็ไม่ทราบปริมาณ เราเป็นห่วงอยู่ว่าควรดูแลเรื่องแท็งก์ที่เหลือและรั่วไหลมาบริเวณข้างเคียง

ดร.มนต์ชัย : เมื่อย้ายไม่ได้ภาครัฐก็ควรหมั่นไปตรวจสอบ มีหลายหน่วยนี่ แต่จากข้อเท็จจริงที่ได้ความมาคือมันไม่มี เป็นการอนุญาตอยู่บนโต๊ะ นั่งคุยอยู่บนโต๊ะ ข้อเท็จจริงไม่รู้ว่าถังที่เก็บใต้ดิน 30 กว่าปี สารเคมีพวกนี้ทำให้สึกกร่อนอย่างไร ไปดูบ้างหรือเปล่า

ท่านรองฯ มองยังไง?

วีระกิตติ์ : เรื่องร้องเรียน จังหวัดแจ้งว่ามีในระยะ 2 ปี และมีการเข้าไปตรวจสอบถ้าตรวจสอบแล้วเจอปัญหาการรั่วไหลตรงไหน ก็มีการปรับปรุงแก้ไขไป ใน 2 ปีก็มีมาเป็นระยะ

อาหลง : ชาวบ้านที่อยู่ก่อนหน้านี้เหม็นมาตลอด แม้จะมีการร้องเรียนไป

 

ณ ตอนนี้ปุ้มเองรู้มั้ยว่าเป็นโรงงานสารเคมี?

ปุ้ม : ไม่ทราบเลยครับ ทราบว่าเป็นโรงงานทำมีด ไม่ทราบมาก่อน

 

เคยไปร้องมั้ย?

ปุ้ม : เห็นบ้านอื่นไปร้อง และผมเห็นเอกสารแล้ว ผมก็แค่ติดตามข่าวสารไม่ได้ไปร่วมร้องกับเขา แต่เห็นว่ามีการแก้ไขในเอกสารนี้ในเรื่องกลิ่นว่าปรับปรุงแล้ว แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ ช่วง 5-6 เดือนหลัง ที่ลูกบ้านเริ่มติดป้าย น่าจะร้องเรียนกันช่วงนั้นในปีที่ผ่านมา

 

กรณีแบบนี้ถ้าไปร้องแล้วต้องมีหน่วยงานไหนไปดูแล?

ดร.มนต์ชัย : กรมมลพิษ อบต.ที่ดูแลเขตนั้น เพราะเกิดทุกวันซ้ำๆ กัน ชาวบ้านร้องเรียน หน่วยงานรัฐเพิกเฉยเราก็สามารถไปดำเนินคดีกับหน่วยงานของรัฐได้ แต่ผมไม่ทราบว่าหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการอะไรกับเจ้าของโรงงานหรือเปล่า แต่เรื่องนี้เล่นได้หมด ไม่รู้พื้นที่นั้นมีกี่หน่วยงาน เทศบาล อบต. หรือกรมมลพิษ กรมโรงงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องร้องให้เป็นเรื่องเป็นราว

อาหลง : เจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้ว ที่เราร้องไป กำลังหาอยู่ที่พวกเราในหมู่บ้านร้องเรียน

ดร.มนต์ชัย : ทำไมเวลามันหวานเย็นได้ขนาดนี้

อาหลง : อ้าว ผมก็ต้องถามสิครับ ทำไมหวานเย็นได้ขนาดนี้ ผมเป็นชาวบ้าน ผมก็ไม่รู้

ดร.มนต์ชัย : คุณเดือดร้อนทุกวัน คุณก็ต้องเล่น

อาหลง : ก็เล่น เอาป้ายไง

ดร.มนต์ชัย : แต่นั่นคุณเล่นโครงการ

อาหลง : ผมไม่รู้ โครงการซื้อที่ดินที่นี่ต้องดูแลผม คุณมีแต่พูดแทนหน่วยงานว่าแก้ไขแล้ว ผมร้องทุกวันว่ามีกลิ่น คุณบอกว่าแก้ไขแล้ว

ดร.มนต์ชัย : หมู่บ้านมีนิติบุคคลมั้ย

อาหลง : ยังไม่มี

ล่าสุดเขาเจ็บปวดตรงที่พอเขามาออกรายการ ทางโครงการไปทำบ้านให้ แต่โครงการไม่ทำให้เขา เขามีประเด็นกับโครงการ จริงๆ โครงการเขาไม่ต้องดูแลแล้วเพราะเขาซื้อขาดไปแล้ว?

อาหลง : ก็ไม่เป็นไร เพราะซื้อขาดไปแล้ว เขาบอกจะทำให้เพราะหลังคากับหน้าต่างมีประกัน

ดร.มนต์ชัย : ไม่อยากให้เปิดศึกหลายหน้า เพราะตอนนี้คุณเล่นหมู่บ้าน

อาหลง : ผมไม่ได้เล่นหมู่บ้าน ผมมาทำมาหากินเมืองไทย ขอร้องอย่าพูดแบบนี้กับผม ผมไม่ใช่นักเลง แค่ชาวบ้านตาดำๆ คนนึง ผมอยากบอกว่าอย่ามองผมอย่างนั้น ผมไม่ใช่นักเลง หัวโจก แต่ผมรู้ปัญหา เราก็เรียกร้องไป  มีใครสนใจผมมั้ย ที่เราขึ้นป้ายเพราะอะไร

ดร.มนต์ชัย : ผมไม่ได้ว่าคุณเป็นนักเลง แต่ความหมายของผมคือเวลาเราไปร้องเรียน เราไปร้องเรียนกับคณะกรรมการจัดสรรจังหวัดที่เขาเป็นคนอนุญาตให้หมู่บ้านนี้เกิดขึ้น เพราะคุณยังไม่มีนิติ

อาหลง : โอเค แต่ผมไม่ได้เป็นคนเรียกร้องอย่างนั้น เป็นคนไทย เพื่อนผมที่นอนรพ.เมื่อวาน จากเหตุการณ์ระเบิดนี้ หัวใจเต้นผิดปกติ ไอเป็นเลือด เขาเป็นตัวตั้งตัวตี แต่เขามาไม่ได้ จริงๆ ต้องเป็นเขามา เพื่อนๆ ส่งเอกสารผ่านหมู่บ้านเพราะเป็นแบรนด์ใหญ่ คิดว่ามีพาวเวอร์กว่ามั้ย ซึ่งเขาส่งต่อมั้ยผมไม่รู้

ดร.มนต์ชัย : เราควรไปให้ตรงจุด ถ้าจะร้องต้องร้องให้ตรงจุด ถ้าหน่วยงานเพิกเฉย ก็ดำเนินการร้องเรียนเขา มันมีสภาพบังคับของมันอยู่แล้ว ที่ถามว่าทำไมหวานเย็น คือเวลาไม่ควรนานขนาดนี้ ควรมีมาตรการอะไรที่ทำแล้วตรง

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image