สกู๊ปพิเศษ : โอลิมปิก ‘โตเกียวเกมส์ 2020’ บันไดที่ต้องไปให้ถึงของ ‘ทีมลูกยางสาวไทย’

ทีมวอลเลย์สาวไทย ประสบความสำเร็จจากศึกเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย สามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และคว้าเหรียญเงินมาครองได้ ถือเป็นชนิดกีฬาที่มีพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากที่สุดกีฬาหนึ่งของไทย

ถ้าย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว วอลเลย์บอลหญิงไทยได้เหรียญทองแดง ในเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่เกาหลีใต้ เป็นเหรียญรางวัลแรกในเอเชี่ยนเกมส์ของวอลเลย์บอลไทย ท่ามกลางการจับตามองว่า นักกีฬาชุดนั้นกำลังเดินหน้าสู่วัยโรยรา “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำหรือแม้แต่ “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์ กำลังหลักที่เข้าสู่ช่วงปลายของการเล่นอาชีพ แต่ทุกคนก็ยังคงเป็นแกนหลักให้ทีมจนถึงตอนนี้

สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า สิ่งที่สมาคมจะต้องทำ คือ การเพิ่มฐานนักวอลเลย์บอลในประเทศไทยให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจำนวนก็เติบโตขึ้นมาอย่างน่าพอใจในหลายปีหลัง เพราะกระแสของทีมตบสาวไทยได้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เข้ามาเล่นวอลเลย์บอล และการทำโครงการพัฒนาเยาวชน การออกไปแข่งขันรายการพิเศษในภูมิภาคต่างๆ อย่างไรก็ตาม แค่จำนวนอาจจะยังไม่ใช่คำตอบ เพราะได้มีการจับเด็กที่มีความสูงมาพัฒนาทักษะวอลเลย์บอลเข้าไป เพราะส่วนสูงเป็นปัจจัยในการสร้างความสำเร็จให้กีฬาชนิดนี้

Advertisement

“ก่อนหน้านี้มีคนห่วงว่าจะสร้างรุ่นใหม่มาแทนพี่ๆ ได้ทันมั้ย ตอนนี้ตอบได้ว่าทันแล้ว เพราะในทีมชุดใหญ่ตอนนี้ก็มีหลายคนที่มาจากระดับเยาวชน ยิ่งนักกีฬาเยาวชนของเราตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จในระดับเอเชียได้ทั้งยู 17 ยู 19 ที่ไปคว้าอันดับ 3 ชิงแชมป์เอเชียมาทั้งคู่ ไม่ใช่แค่ผู้หญิง เพราะผู้ชายก็มีพัฒนาการที่ดี” ประมุขวอลเลย์บอลไทยกล่าว

การสร้างทีมชาติในปัจจุบัน ทุกชาติคำนึงถึงความสำเร็จในโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งวอลเลย์บอลไทยยังไม่เคยก้าวไปถึงจุดนั้น ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในระดับเอเชียมามากพอสมควร ดังนั้นโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นมุดหมายสำคัญของทั้งสมาคมเอง และตัวนักกีฬารุ่นเก๋าทุกคน เพราะรู้ตัวกันดีว่า โอลิมปิกครั้งนี้เป็นหนสุดท้ายที่จะได้ลุ้นไปแข่ง ถ้าหลุดไปจากโตเกียว 2020 ใจอาจจะยังได้

แต่สภาพร่างกายคงไม่เอาด้วย ดังนั้นแรงผลักจึงเพิ่มขึ้น เมื่อนำมาหลอมรวมกับประสบการณ์การเล่นวอลเลย์บอลทั้งชีวิต โอกาสที่จะได้ไปโอลิมปิกหนแรกของไทย ถือว่ามีสูงทีเดียว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเฉียดไปเฉียดมาอยู่ตลอด

สมพรบอกอีกว่า ทั้งรายการเอวีซีคัพ ระหว่างวันที่ 16-23 กันยายน ที่นครราชสีมา และวอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-4 ตุลาคม ต่างเป็นทัวร์นาเมนต์ที่จะให้นักกีฬาได้ทดสอบฝีมือ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อเอาไปสู้กับทีมใหญ่ๆ ได้ในรายการคัดเลือกโควต้าโอลิมปิกเกมส์ ในปีหน้า โดยเฉพาะศึกชิงแชมป์โลก ที่ต้องติดอันดับ 1-16 ให้ได้ เพื่อการการันตีสิทธิในการควอลิฟายโอลิมปิก

“ปีที่ผ่านมา ในศึกเนชั่นส์ลีก หลายคนอาจจะบ่นว่าทีมหญิงทำผลงานไม่ดี แต่ต้องยอมรับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีการปรับทีมให้ดาวรุ่งขึ้นมาผสานกับชุดเก๋าให้ลงตัว ส่วนตัวเชื่อว่าผลงานในปีหน้าในหลายๆ รายการจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาในปีนี้ เพราะนักกีฬาหน้าใหม่ปรับตัวเข้ากับทีมได้อย่างดีแล้ว โอกาสประสบความสำเร็จในการลุ้นตั๋วโอลิมปิกเกมส์ก็มีมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุดที่สมาคมหวังเอาไว้” นายกฯวอลเลย์ไทยกล่าว

โอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์เป็นเรื่องยากก็จริง แต่จากเวลาเกือบ 20 ปี ที่วอลเลย์บอลไทยพยายามมาโดยตลอด และยังไม่หยุดทำ..

“โตเกียวเกมส์ 2020” น่าจะเป็นเวลาที่ความทุ่มเทควรจะตอบแทนให้พวกเขาและเธอได้แล้ว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image