‘กรมพลศึกษา’ วอน ‘จุฬา’ เข้าใจหลังโดนขอคืนพื้นที่ปทุมวันทั้งหมดภายในปี 2565

ตามที่กรมพลศึกษาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นที่ตั้งของกรมพลศึกษา ภายในสนามกีฬาแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2477 นั้น ล่าสุดทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ให้เช่าได้ส่งสัญญาเช่าที่ดินให้กับกรมพลศึกษา ผู้เช่าเพื่อเป็นที่ทำการของกรมพลศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561 บนเนื้อที่ 76 ไร่ 33.11 ตารางวา ในอัตราค่าเช่า 15,530,000 บาท ขณะนี้ได้หมดสัญญาการเช่าที่ดินดังกล่าวแล้ว ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอพื้นที่คืนดังนี้ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ขออาคารหอพัก (ส่งมอบแล้ว) ที่ติดกับรั้วเอ็ม.บี.เค. / วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขอพื้นที่สนามเทพหัสดิน, สนามวอร์ม 200 เมตร

วันที่ 1 ตุลาคม 2563-1 ตุลาคม 2564 ขอพื้นที่อาคารกีฬานิมิบุตร, สระว่ายน้ำวิสุทธารมณ์ / วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ขอคืนพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด ก่อนหน้านี้กรมพลศึกษาได้คืนพื้นที่ที่อาคารจันทนยิ่งยง, ลานด้านหน้า, ด้านข้างอาคารจันทนยิ่งยง, ยิมเนเซียม 3 และสนามจินดารักษ์ ไปแล้ว สาเหตุที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขอพื้นที่คืนก็เพื่อจะไปดำเนินการทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 : เขตการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยสีเขียวที่ยั่งยืนและการสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม”

รายงานข่าวจากกรมพลศึกษาแจ้งว่า ผู้บริหาร ข้าราชการ ลูกจ้าง อดีตข้าราชการกรมพลศึกษา และประชาชนไม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากกรมพลศึกษาก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 รวมระยะเวลา 86 ปี ความผูกพันกับผู้มาใช้บริการตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน จากทั่วประเทศมีจำนวนมากทั้งโรงเรียน สถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ กรมพลศึกษามีภารกิจในการส่งเสริม พัฒนาและให้บริการด้านสุขภาพและสมรรถภาพร่างกายแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน จัดการแข่งขันกีฬานักเรียนเป็นประจำทุกปีในหลายชนิดกีฬา ซึ่งนักกีฬา นักเรียนหลายคนและหลายชนิดกีฬา ก้าวไปสู่เยาวชนทีมชาติและทีมชาติสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ มีสถานที่เล่น ที่แข่งขันที่มีมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ออกกำลังกาย เล่นกีฬา มีมวลชนเข้ามาใช้สนามกีฬาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสุขภาพดีตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับการติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน โรงเรียน สถานศึกษา ฯลฯ มีความสะดวกและรวดเร็ว ถ้ากรมพลศึกษาต้องย้ายไปที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติฯ 60 พรรษา คลองหก จังหวัดปทุมธานี ก็จะมีปัญหาเรื่องบุคลากรของกรมเกี่ยวกับเรื่องที่พัก การเดินทาง สนามแข่งขัน อาคารสำนักงาน การติดต่อประสานงานกับหน่วยงาน โรงเรียน สถานศึกษาก็จะไม่สะดวกและเกิดปัญหา จึงอยากจะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเข้าใจและใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา เพื่อการกีฬา เพื่อบริการประชาชนร่วมกันเป็นทางออกที่ดีที่สุด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image