ฟาดแข้งสนามปิด : กรณีศึกษาต่างแดนเยียวยาสังคม

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ฟุตบอลลีกของหลายชาติมีอันต้องงดแข่ง หรือต้องลงเตะแบบปิด

ซึ่งในเอเชีย เอลีก ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ พรีเมียร์ลีก และเมียนมา เนชั่นแนล ลีก เป็น 3 ลีกล่าสุดที่ประกาศเลื่อนเตะออกไป หลังจากลงแข่งแบบปิด

โดยการแข่งขันแบบปิดนั้น มีการตรวจร่างกาย สืบประวัติ ทำความสะอาดในพื้นที่ต่างๆ ก่อนการแข่งขัน และตัดบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป

ขณะที่พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่งดเตะไปก่อนหน้านั้น ก็มีข่าวว่ากำลังพิจารณาถึงการกลับมาเล่นอีกครั้ง แบบที่ไม่ให้แฟนบอลเข้าชม เนื่องจากการงดแข่งขัน ทำให้หลายสโมสรขาดรายได้ ไม่เว้นแม้แต่ทีมในยุโรป

Advertisement

อีกทั้งการเลื่อนวันแข่งขันออกไปอย่างไม่มีกำหนด ก็มีผลต่อผู้สนับสนุนการแข่งขัน (สปอนเซอร์) ด้วยเช่นกัน
เพราะแบรนด์ธุรกิจต่างๆ ต้องวางแผนงบประมาณให้สอดคล้องกับช่วงเวลาแข่งขัน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ เช่น ส่งเสริมการขาย, โฆษณาประชาสัมพันธ์, กระตุ้นยอดขายและบริการ, แคมเปญตอบแทนสังคม ฯลฯ ซึ่งหากว่ามีการเลื่อนออกไป ก็กระทบต่อแผนการตลาดทั้งหมด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของโลกในทุกแง่มุม ไม่เว้นแม้แต่วงการฟุตบอล

ซึ่งล่าสุด ลีกของตุรกี, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และเมียนมา ได้ประกาศเลื่อนแข่งขันออกไป หลังจากมีการเตะแบบปิดไปก่อนหน้า

Advertisement

 

แข่งแบบปิด ทางออกที่เป็นไปได้ หากสถานการณ์ไม่รุนแรง

 

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่า พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ กำลังเลือกทางออกที่ “เจ็บน้อยที่สุด” โดยพยายามที่จะกลับมาแข่งขันใหม่แบบปิดสนามให้จบฤดูกาล

ซึ่งการแข่งขันแบบปิด สำหรับป้องกันโควิด-19 อาจไม่เหมือนการแข่งแบบปิดทั่วไป ที่ห้ามเฉพาะแฟนบอลเข้า โดยในกรณีนี้ยังรวมถึงบุคคลวีไอพี และสื่อมวลชน เนื่องจากต้องคำนึงถึงมาตรการด้านสุขภาพ และการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นสำคัญ ซึ่งการประชาสัมพันธ์จะมีเจ้าหน้าที่ส่วนกลางบริการภาพและเนื้อหาข่าวให้

โดยรูปแบบแบบปิด ที่สิงคโปร์ และออสเตรเลีย นำมาใช้ ก่อนเลื่อนแข่งขันนั้น มีการตัดบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันออกไป จนเหลือผู้ที่มีหน้าที่จริงๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการคัดกรองบุคคลที่เข้าสนาม โดยมีการตรวจร่างกาย สืบประวัติ และมีการทำความสะอาดในพื้นที่ต่างๆ ก่อนการแข่งขันอีกด้วย

 

 

ผลกระทบจากการเลื่อนแข่ง

 

การตัดสินใจดังกล่าว สืบเนื่องจากการงดแข่งขันของฟุตบอลลีกอาชีพช่วงนี้ มีผลต่อรายได้ของสโมสรโดยตรง

จากผลสำรวจ Football Benchmark ของ KPMG บริษัทที่ปรึกษาด้านกีฬาของยุโรป ประมาณการว่าพรีเมียร์ลีกอังกฤษ สูญเสียรายได้ รวมเป็นมูลค่าราว 1,150-1,250 ล้านยูโร แบ่งเป็นรายได้จากการถ่ายทอดสด 700-800 ล้านยูโร รายได้จากการพาณิชย์อีก 250-300 ล้านยูโร

ส่วนลีกที่สูญเสียรายได้น้อยที่สุด ในบรรดาลีกท็อป 5 ของยุโรป คือลีก เอิง โดยอยู่ที่ราว 300-400 ล้านยูโร แบ่งเป็นรายได้จากการถ่ายทอดสด 150-200 ล้านยูโร รายได้จากการพาณิชย์อีก 100-140 ล้านยูโร

อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นจำนวนเงินที่เพียงพอ ที่ก่อให้เกิดการขาดทุนของสโมสรต่างๆ ในฝรั่งเศส จนถึงขั้นส่อเค้าว่าจะล้มละลายเลยทีเดียว

เพราะสโมสรก็จะประสบปัญหาในส่วนของข้อตกลงกับผู้สนับสนุน ที่ควรจะได้สิทธิประโยชน์ตามตารางการแข่งขัน ที่กำหนดไว้แต่เดิม

ถ้าปราศจากการช่วยเหลือด้านการเงินจากสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของสโมสรอาชีพกำลังจะล้มละลาย” แบร์กนาร์ กายาซโซ ประธานกลุ่มตัวแทนสโมสรในลีก เอิง ซึ่งนั่งบอร์ดบริหารของแซงต์ เอเตียน เผย

 

การเยียวยาทางลูกหนังและสังคม

 

สาเหตุที่พรีเมียร์ลีก กำลังพิจารณากลับมาแข่งใหม่แบบปิด ก็เพื่อนำรายได้จากการถ่ายทอดสด ไปเจือจุนสโมสร

เพราะแน่นอนว่า หากสโมสรฟุตบอลหนึ่งล้มละลาย ย่อมเกิดการตกงานของคนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงว่า ฟุตบอลลีกจะขาดทีมร่วมแข่งขันเท่านั้น

และหากเป็นสโมสรประจำจังหวัด ย่อมส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของคนในท้องถิ่น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในความเป็นจริง ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องหาทางออกที่จะทำให้ทุกภาคส่วนยังคงอยู่ต่อได้ ถึงแม้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย แต่ต้องอยู่ในระดับที่พอรับไหว

ท่ามกลางสภาวะที่ความปลอดภัย และสุขภาพต้องมาก่อน ขณะที่เรื่องของปากท้องก็ยังมีความสำคัญเช่นนี้ จึงมีความจำเป็นต้องหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย ภายใต้การคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อวงการฟุตบอล และสังคมโดยรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image