แนะท่าบริหารป้องกัน ‘ออฟฟิศซินโดรม’ วิถีชีวิต(เก่า) ใหม่หลังคลายล็อกเฟส 4 (คลิป)

แนะท่าบริหารป้องกัน ‘ออฟฟิศซินโดรม’ วิถีชีวิต(เก่า) ใหม่หลังคลายล็อกเฟส 4

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” ในเมืองไทยดีขึ้นเรื่อยๆ จนศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีมติผ่อนคลายระยะ 4 ในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งหมายถึงประชาชนเกือบจะใช้ชีวิตได้ตามปกติตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และทำให้มนุษย์เงินเดือนได้กลับเข้าไปนั่งทำงานที่ออฟฟิศกัน(เกือบ)ปกติกันแล้ว จากเดิมที่ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home)

แน่นอนว่า การกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ หลายคนที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งพิมพ์งาน หรือนั่งเขียนงาน มักประสบปัญหากับอาการปวดหลัง ปวดบ่า ไหล่ ปวดต้นคอ ฯลฯ หรือเรียกคนที่มีอาการเหล่านี้ว่าเป็นโรค “ออฟฟิศซินโดรม”

ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” และผู้เชี่ยวชาญการออกกำลังกาย กล่าวว่า คนที่นั่งทำงานอยู่กับที่นาน ๆ มักมีปัญหาปวดหลัง ปวดบ่าไหล่ จนไปรั้งที่ต้นคอ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ และอาจทำให้ข้อติด ข้อเสื่อม ซึ่งคนที่มีอาการปวดเมื่อยส่วนใหญ่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการไปพบแพทย์ และแพทย์ก็จะจัดยาให้อยู่ 3 ชนิดคือ ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งยาเหล่านี้จะทำให้เราหายปวดเมื่อยชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งแก้ปัญหาด้วยการไปนวดแผนโบราณ ซึ่งก็เป็นการคลายกล้ามเนื้อได้ชั่วคราวเหมือนกับการกินยา แต่เมื่อกลับไปทำงาน มีพฤติกรรมเดิมๆ อาการเหล่านี้ก็จะกลับมาใหม่ และหากปล่อยไว้นานๆ ไม่แก้ที่ต้นเหตุ จะทำให้ปวดเรื้อรัง และอาการอาจจะรุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัด

Advertisement

ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาแบบถาวรที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และทำกายบริหารเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและยืดหยุ่นเพื่อลดอาการเกร็ง ลดอาการปวดเมื่อย รวมถึงเป็นการทำให้การไหลเวียนเลือดทั่วร่างกายดีขึ้นอีกด้วย

ศ.ดร.เจริญ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกกำลังกาย ได้แนะนำท่าบริหารส่วนบน 7 ท่า สำหรับคนนั่งทำงานนานๆ ซึ่งสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้งนี้ เพื่อช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อต้นแขน บ่า ไหล่ และหลัง ช่วยป้องกันและรักษาอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถทำได้ง่ายๆ ได้ด้วยตนเองที่โต๊ะทำงาน ไม่ต้องมีอุปกรณ์ใดๆ ใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น(ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ)

 

Advertisement

 

 

“ความเร่งรีบของสังคมเมืองส่งผลให้เกิดปัญหาต่อร่างกายตั้งแต่เด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ ทุกวันนี้เด็กโตกันในรถ เด็กส่วนใหญ่เป็นโรคสมาธิสั้นเทียม เพราะถูกกระตุ้นให้ทำทุกอย่างเร่งรีบไปหมด พ่อแม่จะกระตุ้นให้ลูกทำทุกอย่างเร็วๆ เพื่อให้ทันเวลา ทำให้ชีวิตขาดคุณภาพและแย่ลง ดังนั้น เราควรรักษาสมดุลชีวิตให้กับตัวเอง ด้วยบริหารเวลาของตนเองไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์”

อนึ่ง สามารถเข้าไปดูคลิปการบริหารร่างกาย (ส่วนบน) รวมถึงคำแนะนำในการออกกำลังกายต่างๆ ได้ที่ Youtube Channel : Prof.Charoen Krabuanrat หรือเข้าไปที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Charoen Krabuanrat

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image