สกู๊ปกีฬา : ปัญหาขาด ‘สปอนเซอร์’ สถานการณ์คับขัน ‘มวยสากลไทย’

สกู๊ปกีฬา : ปัญหาขาด ‘สปอนเซอร์’ สถานการณ์คับขัน ‘มวยสากลไทย’

 

กลางเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย เริ่มเปิดโอกาสให้ทีมมวยสากลไทย กลับเข้าสู่ค่ายพัก เพื่อเริ่มทำการฝึกซ้อม ที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เป็นต้นมา
เป็นการฝึกซ้อมด้วยมาตรการคุมเข้มป้องกันไวรัส “โควิด-19” อย่างเต็มอัตราศึก คือ ยังไม่มีการลงนวมกัน, เป็นการซ้อมแบบเน้นระยะห่าง สวมหน้ากากป้องกัน และใช้เจล แอลกอฮอร์ ล้างมือ ทั้งก่อนและหลังการฝึกซ้อม ฯลฯ

เป็นการฝึกซ้อมแบบเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย และด้านเทคนิคการชก ของนักมวยแต่ละคน เป็นด้านหลัก

เป็นการรวมตัวนักมวยเพื่อทำการฝึกซ้อม โดยการคัดเลือกเบื้องต้นทั่วไป ยังไม่จำเพาะเจาะจง อาจมีการเรียกตัวนักมวยเข้าร่วมเพิ่มเติม ในโอกาสต่อไป

Advertisement

และ เป็นการฝึกซ้อมโดยยังไม่มี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจนใดๆ แน่นอนว่า จะได้ขึ้นชกเมื่อใด ที่ไหน อย่างไร
ทั้งนี้ โดยมีสต๊าฟโค้ชหรือคณะผู้ฝึกสอนร่วมกันรับผิดชอบเบื้องต้น การกำกับดูแลทีมมวยสากลทั้งหมด ดังนี้
ทีมชาย ส่วนหนึ่งรับผิดชอบโดย กามนิตย์ นารีรักษ์ และทีมงานจากมวกเหล็ก อีกส่วนหนึ่งรับผิดชอบโดยทีมงานจากนครราชสีมา คือ เพิก พึ่งปัญญา, ธง ทวีคูณ, สุฤทธิ์ ยิ่งกำแหง เป็นต้น ทีมหญิง รับผิดชอบโดย วิจารณ์ พลฤทธิ์, ไชยชุมพล ชำนาญมาก, สุบรรณ พันโนน และ สายลม อาดี เป็นต้น

การเก็บตัวฝึกซ้อมดังกล่าว เป็นการเริ่มต้นไปพลางๆ ก่อน เพื่อรอคำสั่งจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ว่า จะอนุมัติให้ทีมมวยสากลไทย ดำเนินการฝึกซ้อมด้วยรูปแบบใด

หลังจากนั้น สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย จึงจะสรุปเอาหลักการที่แน่นอนของ กกท. ทั้งหมด ไปพิจารณาดำเนินการโดยละเอียด เพื่อจัดเตรียม “แผนงาน+แผนเงิน+แผนคน” ที่แน่นอน แล้วสรุปเป็น “แผนปฏิบัติการ” ระยะสั้น ระยะยาว ต่อเนื่องกัน ต่อไป

 

 

แน่นอนว่า การเก็บตัวฝึกซ้อมเบื้องต้นที่ผ่านมากว่าครึ่งเดือนนั้น สต๊าฟโค้ชมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ตรงกันทั้งหมดว่า นักมวยไทยทุกคน ไม่มีสภาพความพร้อมใดๆ จากการหยุดซ้อมระยะยาวที่ผ่านมา เช่น
บางคนยังมีปัญหาส่วนตัว ที่ต้องแก้ไข ปรับปรุงให้ได้โดยเร็ว หลายคนยังมีอาการบาดเจ็บ เจ็บป่วย เข้าขั้นต้องทำการรักษาพยาบาลอย่างเข้มข้น จริงจัง โดยรีบด่วน และส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด “น้ำหนักตัว” ของแต่ละคน เกินพิกัดการชกไปอย่างมากมาย เช่น บางคนมี “น้ำหนักเกิน” กว่าพิกัดไปกว่า 10 กิโลกรัม ฯลฯ เป็นต้น

จากสภาพปัญหาดังกล่าว จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญของผู้บริหารสมาคมกีฬามวยสากลฯ ภายใต้การนำของ พิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคม, สมชาย พูลสวัสดิ์ อุปนายกและประธานเทคนิค, พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา เลขาธิการ และ สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม ประธานที่ปรึกษาต้องพิจารณากันอย่างจริงจัง

สำหรับปัญหา “น้ำหนักตัว” ของนักมวยแต่ละคนนั้น ก็กลายเป็นภาระรับผิดชอบโดยตรงของสต๊าฟโค้ช ที่จะต้องเคร่งครัดในการกำกับดูแล เพื่อให้เข้าสู่พิกัดการชกให้ได้ โดยรักษาสภาพร่างกายให้ดีที่สุดต่อไป
นี่คือ สภาพทั่วไปของทีมมวยสากลไทยในขณะนี้ ขณะที่ผู้บริหารของสมาคมกีฬามวยสากลฯ นั้น ยังเตรียมพร้อมแผนงาน และการทำงานจริง ในขั้นตอนต่อไปมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับการจัดการแข่งขันในประเทศรายการต่างๆ ภายในสิ้นปีนี้ว่า จะ “ยืน” รายการใดเอาไว้บ้าง จะ “ยุบ” รายการใดออกไปบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อม สำหรับการส่งนักมวยไทยไปแข่งขันในต่างประเทศ ทั้งระดับเยาวชน ระดับประชาชนว่า จะ “เลือก” ไปรายการใด ที่ไหน อย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นการเตรียม “แผนเฉพาะ” สำหรับนักมวยที่ได้เข้ารอบสุดท้ายกีฬาโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 32 “โตเกียว 2020” ไปแล้วว่า จะทำอย่างไร แบบไหน และสำหรับนักมวยที่ต้องลุ้นรอบคัดเลือกกีฬาโอลิมปิกเกมส์ รอบสุดท้าย เพิ่มเติมว่า จะมีกลวิธีและเทคนิคแบบไหน

 

 

สุดท้าย คือ ปัญหา “งบประมาณ” ในการบริหารดำเนินการต่างๆ ทั้งหมดนั้น จะใช้กันเท่าใด จะนำมาจากไหน จะหมุนเวียนกันได้อย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือ จำนวนเม็ดเงินทั้งหมดนั้น จะเพียงพอต่อความต้องการแท้จริงขนาดไหน

กรณีดังกล่าวนี้ นับเป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ผู้บริหารสมาคมกีฬามวยสากลฯ ได้รับมาเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากผู้สนับสนุนหลัก หรือ “สปอนเซอร์” ระดับใหญ่ของสมาคมกีฬามวยสากลฯ ส่งสัญญาณบอกกล่าวมาแล้ว ทั้งในรูปแบบของการยกเลิกสัญญา, การขอลดหย่อนวงเงินในการสนับสนุน และการต่อรองรายละเอียดต่างๆ ก่อนนำไปตัดสินใจว่า จะเอาอย่างไร หรือไม่

กรณีดังกล่าวนี้ นับเป็นอันตรายต่อสมาคมกีฬามวยสากลฯ ทั้งทางตรง ทางอ้อม สำหรับการทำงานดำเนินการต่อไปของสมาคมกีฬามวยสากลฯ อันเป็นผลพวงมาจากปัญหาไวรัส “โควิด-19” เพราะต้องใช้เงินมากเป็นพิเศษในช่วงสุกดิบก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ครั้งที่ 32 “โตเกียว 2020” ในสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยงอยู่ในขณะนี้ และในช่วงการเตรียมทีมก่อนการแข่งขันกีฬายูธ โอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน ครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ.2022/พ.ศ.2565 อีกรายการหนึ่ง

แม้ว่า “งบประมาณ” ส่วนหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งนั้น ประเมินได้เลยว่า จะมาจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นด้านหลัก แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้น เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของสมาคมกีฬามวยสากลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

“ปัญหางบประมาณนั้น เป็นเรื่องที่เราไว้ใจไม่ได้เลย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม และสภาพสังคมโดยทั่วไปนั้น ไม่เอื้ออำนวยใดๆ โดยสิ้นเชิง และมีแต่จะเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ”

เป็นการยอมรับจากกรรมการบริหารของสมาคมกีฬามวยสากลฯ อย่างตรงไปตรงมา และบอกว่า กำลังเร่งหาหนทางแก้ไขกันอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งอาจมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับปรุง “แผนงาน” จากข้อเสนอของสต๊าฟโค้ชทั้งหมด เป็นเบื้องต้น

สภาพของวงการมวยสากลไทยในเวลานี้ จึงนับว่าน่าเป็นห่วงไม่น้อยเลย…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image