เมื่อ ‘ฟุตบอล’ คือ ‘ธุรกิจ’ และธุรกิจไม่เคยเท่าเทียม

เมื่อ ‘ฟุตบอล’ คือ ‘ธุรกิจ’ และธุรกิจไม่เคยเท่าเทียม

เมแกน ราพิโน นักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐอเมริกา ที่เคยร่วมทีมชาติคว้าแชมป์โลก 2 สมัยหลังสุด ออกมาสร้างความสั่นสะเทือนให้ความเท่าเทียมทางเพศในโลกฟุตบอล จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงนี้

ราพิโนบอกว่า “ฉันคิดว่าฟุตบอลหญิงในอังกฤษก็เหมือนที่อเมริกา มันด้อยกว่าฟุตบอลชายมาก เพราะการลงทุนในฟุตบอลหญิงมีน้อยมาก ตอนนี้มันปี 2020 แล้ว ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไปถึงไหนแล้ว แต่เราเพิ่งได้เห็นว่าสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพิ่งจะสร้างทีมหญิงขึ้นมา มันน่าแปลกและน่าอายจริงๆ”

ความคิดเห็นของเธอทำให้โลกฟุตบอลฝั่งผู้ชายเหมือนโดนแขวะ แต่ในตัวนักเตะหรือผู้เกี่ยวข้องในโลกลูกหนังฝั่งผู้ชาย ไม่ได้ออกมาเดือดเนื้อร้อนใจอะไร มีแต่เหล่าแฟนบอลที่วิจารณ์ว่า เมื่อฟุตบอลคือธุรกิจ คงไม่มีใครคิดจะลงทุนในธุรกิจที่ไม่ได้กำไร หรืออาจจะถึงขั้นขาดทุนด้วยซ้ำ เพราะถ้ามองกันจริงๆ แล้ว ฟุตบอลหญิงไม่ได้สร้างรายได้มากมายเหมือนฟุตบอลชาย

Advertisement

ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย สร้างรายได้มากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.8 แสนล้านบาท) ทั้ง 32 ชาติจะได้ส่วนแบ่ง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(12,000 ล้านบาท) ส่วนรายได้จากฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกอยู่ที่ 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(3,930 ล้านบาท) ส่วนแบ่งของ 32 ชาติ อยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (900 ล้านบาท) ถ้ามองเรื่องรายได้แล้ว ต่างกันถึง 60 เท่าตัวเลยทีเดียว

ราพิโนเป็นนักกีฬาที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมาแต่ไหนแต่ไร เพราะเธอมองว่าแม้แต่ในฟุตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังถือว่าต่างกันมาก

“ผู้ชายมักจะได้รับค่าตอบแทนจากศักยภาพที่พวกเขาได้แสดงออกมา ไม่ใช่จากความสำเร็จ แต่ผู้หญิงจะได้เงินจากสิ่งที่พวกเธอสร้างความสำเร็จมาแล้ว มันชัดเจนว่าผู้หญิงทำงานหนักกว่าที่ได้เซ็นสัญญากันไว้ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงประสบความสำเร็จอย่างมาก และควรได้รับค่าตอบแทนเท่ากับผู้ชาย มันเป็นการเหยียดเพศชัดๆ”

ไม่ใช่แค่การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ แต่ราพิโนยังเป็นนักกีฬาคนแรกๆ ที่เรียกร้องความเท่าเทียมของคนทุกผิวสี เธอคุกเข่าในสนามแบบที่นักเตะทั่วโลกทำแบบทุกวันนี้ มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว

มิดฟิลด์วัย 35 ปีย้อนอดีตไปว่า การที่เธอเริ่มคุกเข่าวันนั้น อาจจะไม่ได้มีผลเสียกับชีวิตที่ชัดเจน สปอนเซอร์หลักอย่างไนกี้ ไม่ได้หายไปไหน ยังคงสนับสนุนกันเหมือนเดิม แต่ก็ไม่มีสปอนเซอร์ใหม่ๆ เข้ามา และไม่ได้โอกาสให้ลงสนามหลายนัดในช่วงนั้น

“สิ่งที่ฉันเสียใจที่สุดในการคุกเข่าเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมตอนนั้น คือ การที่ไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีก เพราะถ้าคุกเข่าหลังจากได้รับโอกาสลงสนาม ก็อาจจะตกงานได้ อาจจะไม่ได้เล่นทีมชาติอีกแล้ว มันเป็นการตัดสินใจที่ยากจริงๆ”

โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เคยออกมารับลูกราพิโน ในเรื่องความเท่าเทียมของนักเตะทีมชาติทั้งสองเพศ หลังจากที่นักฟุตบอลหญิงหลายคนไปฟ้องศาลเรื่องความไม่เท่าเทียมนี้ และศาลได้ตัดสินออกมาว่า ปัจจัยในการทำงานของนักฟุตบอลหญิงและชายนั้นแตกต่างกัน ส่งผลให้ค่าตอบแทนย่อมไม่เท่ากันอยู่แล้ว

ไบเดนออกมาทวีตว่า “อย่าเพิ่งยอมแพ้กับการต่อสู้เรื่องเงินตอบแทนที่เทียม มันยังไม่จบ ทั้ง 2 เพศต้องได้เงินเท่ากัน ถ้าผมเป็นประธานาธิบดี คุณสามารถหาเงินสนับสนุนมาจากที่อื่นได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เท่าที่เคยได้รับ”

เรื่องนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวอย่างชัดเจน เพราะราพิโนออกตัวสนับสนุนไบเดนมาตลอด ก็ต้องดูว่าไบเดนจะสามารถทำตามคำสัญญาที่ประกาศออกมาได้แค่ไหน เพราะนโยบายหาเสียงของเขา คือ การมีอเมริกันเดียว และหยุดการแบ่งชนชั้นและความแตกต่างอย่างที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

แต่อย่าลืมว่าฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดชะตากรรมแบบที่บาสเกตบอลเอ็นบีเอ หรืออเมริกันฟุตบอลเอ็นเอฟแอล เป็นอยู่ในตอนนี้ เมื่อฟุตบอลเป็นกีฬาเบอร์หนึ่งของโลก ปัจจัยความเท่าเทียมของเพศ ก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศแต่ละลีก

ก็ไม่แน่ว่า จุดเริ่มต้นที่จะเกิดขึ้นกับฟุตบอลทีมชาติสหรัฐอเมริกาในเร็วๆ นี้ตามคำมั่นสัญญาของไบเดน จะเป็นต้นแบบให้วงการลูกหนังชาติอื่นๆ ตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น

แต่ถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว ความเท่าเทียมไม่เคยเกิดเพราะคำว่าอยากให้เกิดขึ้นเท่านั้น มันมีปัจจัยซับซ้อนกว่านั้นอีกมาก

เมื่อฟุตบอลเป็นเรื่องของธุรกิจ และธุรกิจไม่เคยมีความเท่าเทียมเสียด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image