เมื่อนักกีฬาวัยรุ่นใช้ตัวตนเขย่าสังคมให้เท่าเทียม

เมื่อนักกีฬาวัยรุ่นใช้ตัวตนเขย่าสังคมให้เท่าเทียม

พลังของคนรุ่นใหม่ ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนทุกๆ อย่างบนโลกใบนี้ แม้แต่ในเรื่องของกีฬา นักกีฬาดาวรุ่งหลายคน ก็มีส่วนในการเขย่ากระแสสังคมจากความโด่งดังของตัวเอง ที่สำคัญการเขย่าหลายเรื่องก็สร้างประโยชน์ให้สังคมแบบคาดไม่ถึง

แอนดี้ เมอร์เรย์ นักเทนนิสชาวสกอตแลนด์ ที่ถือเป็นผู้สร้างความสำเร็จให้กับวงการกีฬาสหราชอาณาจักรมามากมาย โดยเฉพาะการครองแชมป์แกรนด์สแลมและเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัยหลังสุด ได้พูดถึงพลังของนักกีฬาหนุ่มสาวกับทางสำนักข่าวบีบีซีได้อย่างน่าสนใจ

“ผมมักจะใช้สิ่งต่างๆ ที่มีเรียกร้องให้แก้ไขในสิ่งที่ผิด และชื่นชมสิ่งที่ดีในสังคมนี้ เหมือนที่มูฮัมหมัด อาลี(อดีตนักมวยระดับตำนาน) ฮีโร่ของผมพยายามจะเรียกร้องความถูกต้องให้สังคม และไม่เคยกลัวหรืออายในสิ่งที่เขาเชื่อ”

Advertisement

ในวงการเทนนิส เราได้เห็น นาโอมิ โอซากะ นักหวดลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ ขอถอนตัวจากการแข่งขันศึกเวสเทิร์น แอนด์ เซาเธิร์น โอเพ่น ทั้งๆ ที่เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศแล้ว เพราะต้องการจะมีส่วนในการเรียกร้องความเท่าเทียม ที่ จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีถูกตำรวจกดจนเสียชีวิต กระทั่งมีแคมเปญ Black Lives Matter ออกมาอย่างที่เห็น

ดับเบิลยูทีเอได้ร้องขอให้เธอกลับมาแข่งขัน และพร้อมจะเลื่อนการแข่งขันออกไป 1 วัน ทำให้โอซากะยอมกลับมาแข่งขัน เพราะพอใจกับการเรียกร้องที่มีผลตอบรับจากคนที่รับทราบเหตุการณ์นี้แล้ว

Advertisement

ไม่ใช่แค่โอซากะ เพราะนักกีฬาจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเพศใด ชนชาติไหน หรือผิวสีอะไรต่างก็ร่วมแสดงออกในเรื่องนี้กันมากมาย

มาร์คัส แรชฟอร์ด กองหน้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นบุคคลสำคัญของชาวอังกฤษ จากการที่เขาเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก และมีคนจำนวนมากที่ไม่มีเงินซื้ออาหารให้ลูกๆ ได้กิน

“ผมกับมาร์คัสได้ไลฟ์คุยกัน และมีการชาลเลนจ์สนุกๆ ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับกีฬาของตัวเอง และเราก็ได้พุดกันถึงเรื่องคูปองอาหารฟรีสำหรับเด็กๆ ในโรงเรียนด้วย การที่เขาเรียกร้องเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเขาใช้สิ่งที่เจอมาในอดีต มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เพื่อช่วยเหลือเด็กนับล้านคน ที่ครอบครัวมีรายได้น้อย ซึ่งมันมหัศจรรย์มาก”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สิ่งที่ทั้งโอซากะและแรชฟอร์ดทำจะได้รับคำชมมากมาย แต่ในทางกลับกัน มีคนจำนวนหนึ่งที่บอกให้พวกเขา “มุ่งมั่นกับกีฬาก็พอ” ซึ่งมันก็ไม่แปลกที่จะมีคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นลงมือทำ แต่คนที่อยากจะช่วยสังคมและรู้ว่าตัวเองมีพลังที่จะทำได้ ก็ยังเดินหน้าทำสิ่งดีๆ ต่อไป ถ้ามันไม่ได้ไปทำร้ายหรือสร้างความเจ็บปวดให้ใคร

Image: Stella Pictures

“ในส่วนของตัวผมเอง ผมพยายามที่หาข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ความรู้กับตัวเอง และนำสิ่งที่ได้มาแสดงออกเป็นความคิดเห็น แต่บางคนอาจจะไม่ได้ชอบมัน ซึ่งผมก็ไม่ได้ไม่พอใจอะไร ผมชอบที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนคนที่ร่วมงานกับผมมักจะบอกว่าผมเป็นคนชอบเถียงเหมือนกันนะ” เมอร์เรย์กล่าวติดตลก

ยอดนักหวดชาวสก๊อตบอกอีกว่า ที่ผ่านมาได้ใช้โซเชียลมีเดียในการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และยังทำมันมาจนถึงตอนนี้ สาเหตุที่พยามเรียกร้องเรื่องนี้ เพราะความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องที่ทุกคนควรได้รับที่สุดแล้ว รวมทั้งเรื่องของความเท่าเทียมของเชื้อชาติและสีผิว 

“ผมต้องออกมาเรียกร้องเรื่องนี้เพราะเคยร่วมงานอาเมลี่ โมเรสโม่ (อดีตนักเทนนิสชื่อดัง) ที่มาเป็นโค้ชให้ ตอนนั้นเขาสอนให้ผมเข้าใจถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิของผู้หญิง ถึงตอนนี้มันอาจจะไม่ได้เท่าเทียมกันอย่างที่ต้องการ แต่ก็ดีขึ้น”

เมอร์เรย์ทิ้งท้ายว่า ปีนี้นักกีฬาอายุน้อยๆ แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องมุ่งมั่นอยู่แต่กับกีฬาและงานของตัวเองเท่านั้น เพราะพวกเขามีตัวตนในสังคม และสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ เป็นสิ่งที่กีฬาได้ช่วยสังคมในอีกทางหนึ่ง

พลังของคนรุ่นใหม่ส่งผลเชิงบวกได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าพลังของคนทุกคนในสังคมต่างมีความสำคัญเท่าๆ กัน จึงควรร่วมมือกัน ทำความเข้าใจกัน ในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image