สสส.ผนึกนักกีฬาทีมชาติ-ภาคีเครือข่าย เดินหน้า ‘Gen Z Academy’ สร้างเยาวชนห่างไกลบุหรี่

สสส.ผนึกนักกีฬาทีมชาติ-ภาคีเครือข่าย เดินหน้า ‘Gen Z Academy’ สร้างเยาวชนห่างไกลบุหรี่

 

การสกัดไม่ให้เด็กรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาในวงจรของบุหรี่ เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นทาสบุหรี่ หากสามารถปกป้องพวกเขาจากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ลงถึง 90% มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงจัดการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ “Gen Z Academy” ร่วมกับกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีการดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น เพื่อให้ความรู้เชิงลึกกับเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับอันตราย และการรู้เท่าทันกลยุทธ์บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า

นายพูนทรัพย์ สินทอง (น้องไคลน์) นักกีฬากระโดดเชือกทีมชาติไทย หนึ่งในตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม “Gen Z Academy” กล่าวว่า เมื่อก่อนสูบบุหรี่ตามเพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ด้วยความที่เล่นกีฬากระโดดเชือกต้องใช้พลังงานมาก ประกอบกับตนเองสูบบุหรี่ จึงทำให้เหนื่อยมากกว่าปกติ แต่ได้กำลังใจจากคนใกล้ตัว จึงได้ตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่และหันมาออกกำลังกายด้วยการกระโดดเชือกแทน จนทำให้ตอนนี้เป็นนักกีฬาทีมชาติ พร้อมอยากฝากไปถึงเด็กและเยาวชนว่า อยากให้เลิกสูบบุหรี่และเอาเวลามาออกกำลังกายหรืออ่านหนังสือจะเป็นสิ่งที่ดีกับชีวิตมากกว่า

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี สิทธิพันธุ์ สว่างสังวาลย์ โค้ชนักกีฬากระโดดเชือกทีมชาติไทย ซึ่งเป็นโครงการตัวอย่างจากจังหวัดชลบุรี ที่สามารถนำเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาเล่นกีฬาจนเลิกบุหรี่ กล่าวว่า จะคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งติดบุหรี่ ติดสารเสพติด ติดเกม เด็กที่ชอบแข่งรถจักรยานยนต์ มาเข้าร่วมทีมก่อน จากนั้นก็จะเริ่มพูดคุย พร้อมเสริมพลังใจให้เด็กเลิกสูบบุหรี่ได้ นอกจากนี้ ยังต้องทำความเข้าใจไปถึงผู้ปกครอง แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะยังไม่เชื่อใจหรือเปิดใจมากนัก แต่ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ทำให้ผู้ปกครองเกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการ จนขณะนี้มีนักกีฬากระโดดเชือกทีมชาติไทยแล้ว และได้นำเสื้อรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ไปสวมใส่และเดินสายทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนไปพร้อม ๆ กันด้วย

Advertisement

“อยากให้ผู้ปกครองเปิดใจพูดคุยกับเด็กมากขึ้น ยอมลงไปพูดคุยให้คำปรึกษาที่ดี กล้ายอมรับในสิ่งที่เด็กเป็นอยู่เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาได้ หรือ สามารถนำมาสมัครที่ศูนย์ GenZ ได้เช่นกัน” ว่าที่ร้อยตรีสิทธิพันธุ์ กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนที่ผ่านมาว่า แม้จะทรงตัว แต่ก็ไม่ได้ลดลงเท่ากับวัยอื่น ในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่วงจรการสูบบุหรี่ปีละกว่า 200,000 คน โดยมีอายุเฉลี่ยในการเริ่มต้นสูบบุหรี่ที่ 17-18 ปี และมีถึงร้อยละ 10 ที่เริ่มต้นทดลองสูบตั้งแต่อายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งตามทฤษฎีแล้วหากเข้าสู่วงจรการสูบบุหรี่ จะทำให้เลิกได้ยาก กว่าร้อยละ 70 จะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ส่วนอีกร้อยละ 30 ต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 21 ปีจึงจะเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาโดยตลอด ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนเป็นตัวขับเคลื่อนในการป้องกันการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนด้วยกัน ซึ่งจะได้เรียนรู้และเท่าทันต่อกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ที่มีต่อเด็กและเยาวชน รวมทถึงเรียนรู้พิษภัยที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่อย่างจริงจัง

“สิ่งที่อยากฝากไปถึงโรงเรียนต่าง ๆ คือ นโยบายโรงเรียนสีขาวก็มีประเด็นเรื่องของการสูบบุหรี่ในโรงเรียนเป็นกติกาด้วย ดังนั้น จึงให้ตระหนักถึงประเด็นการรณรงค์ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ ซึ่งน่าจะมีการจัดกิจกรรมทั้งเรื่องของพิษภัยบุหรี่ รวมถึงการจัดสถานที่ให้ปลอดภัย และร่วมมือกับชุมชน ในการให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ให้โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ช่วยควบคุมยาสูบให้กับพื้นที่ชุมชนรอบข้างได้ด้วย เพราะบุหรี่ถือเป็นสิ่งเสพติดและอาจจะนำไปสู่ยาเสพติดชนิดอื่นได้อีกด้วย” ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต กล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่าการสูบบุหรี่ของเยาวชนในขณะนี้คือ บริษัทบุหรี่พยายามจะเข้ามาใช้กลยุทธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ลบมายาคติที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีสารนิโคติน และเป็นอันตราย มีอาจจะนำไปสู่สารเสพติดชนิดอื่นได้เช่นกัน และเพื่อเป็นการเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างตรงจุด

นางสาวชวาลา กล่าวว่า ในฐานะผู้ดูแลโครงการนี้ จากการจัดอบรมมาทั้ง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถือว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ในการที่จะทำให้เยาวชนเป็นพลังสำคัญ เป็นแกนนำเพื่อรณรงค์ในการเลิกสูบบุหรี่ เพราะในแต่ละครั้ง จะเป็นการทำงานแบบเชิงลึกและเชิงกว้าง กิจกรรมส่วนใหญ่ เน้นการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมอบรม ที่เข้ากับบริบทของความเป็นวัยรุ่น หาประเด็นที่เยาวชนให้ความสนใจเพื่อรณรงค์ในการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งกระบวนการอบรมจะไม่ใช่การนำชี้ หรือนำเนื้อหายาก ๆ มาพูดให้เด็กฟัง แต่จะเป็นการให้ข้อมูลผ่านกระบวนการเกม หรือสิ่งที่เยาวชนสนใจ เช่น การทำคลิปวิดีโอ อินโฟกราฟฟิก การถ่ายภาพ หรือเรื่องของการสร้างความบันเทิง ซึ่งจะพยายามพัฒนาศักยภาพตามที่เขาถนัดและต้องการ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สะท้อนได้จากพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เริ่มมีโครงการอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดกระบี่ จะมีความโดดเดนเรื่องการออกแบบสื่อสร้างสรรค์ โดยมีกลุ่มพี่เลี้ยง ที่เป็นนักวิชาการช่วยสนับสนุนด้านข้อมูล หรือจังหวัดศรีสะเกษที่มีโครงการแผนที่หมู่บ้านปลอดบุหรี่ จะมีการรณรงค์ในพื้นที่รายหมู่บ้าน และจัดทำข้อมูลอย่างง่ายผ่านการทำแผนที่ หรือในจังหวัดชลบุรี ที่เป็นการนำเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงมาร่วมทีมกีฬากระโดดเชือกจนประสบความสำเร็จสามารถติดทีมชาติได้

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image