จักรยานอ้อน ศบค. ไฟเขียวกลับมาแข่ง ‘นักกีฬา-ผู้ตัดสิน-โค้ช’ จะได้มีรายได้จุนเจือครอบครัว

จักรยานอ้อน ศบค. ไฟเขียวกลับมาแข่ง ‘นักกีฬา-ผู้ตัดสิน-โค้ช’ จะได้มีรายได้จุนเจือครอบครัว

 

“เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลต้องประกาศให้บางจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด รวมทั้งพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอีก 5 จังหวัด ซึ่งในจำนวนทั้งหมดนี้มีจังหวัดที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนดจะไปจัดการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2564 รวมอยู่ด้วย ส่งผลให้ต้องเลื่อนการแข่งขันตามโปรแกรมเดิมออกไปหลายรายการ อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬาจักรยานฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด สมาคมฯ ได้จัดทำคู่มือเตรียมจัดการแข่งขันภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำไปเสนอให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดเล็ก พิจารณาอนุมัติให้มีการจัดการแข่งขัน ซึ่งเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา สมาคมกีจักรยานฯ ก็ได้จัดการแข่งขันแบบ New Normal คือแข่งขัน “แบบปิด” ไม่อนุญาตให้มีผู้ชมเข้ามาในสนาม พร้อมวางมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด จนได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ยกย่องว่าสมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดการแข่งขันสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และเป็นสมาคมต้นแบบให้แก่สมาคมอื่น ๆ นำมาตรการนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับกีฬาชนิดนั้น ๆ

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ หากสมาคมกีฬาจักรยานฯ หยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะนักกีฬาตามศูนย์ฝึกจักรยานตามภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ วัดดงน้อย ลพบุรี, ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ กองบิน 46 พิษณุโลก, ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ สุราษฎร์ธานี, ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ เชียงใหม่, ศูนย์ฝึกฟิชเชอร์แมนเฟรนด์ สุรินทร์, ศูนย์ฝึก Prime 19 พะเยา แต่ละศูนย์มีนักกีฬาอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชมรม-สโมสรสมาชิกต่าง ๆ อีกทั่วประเทศ ถ้าไม่มีการแข่งขันอะไรเลย นักกีฬาก็จะไม่มีรายได้ รวมไปถึงบุคลากรอื่น ๆ เช่น ผู้ตัดสิน, ผู้ฝึกสอน ก็ไม่มีรายการให้มาปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นสมาคมกีฬาจักรยานฯ จึงต้องเยียวยานักกีฬาและบุคลากรเหล่านี้ด้วยการจัดการแข่งขันขึ้นเพื่อให้พวกเขามีรายได้ไปจุนเจือครอบครัวบ้าง

“เสธ.หมึก” กล่าวต่อไปว่า หาก ศบค. พิจารณาอนุมัติให้สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดการแข่งขันได้ ก็จะประเดิมด้วยการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติส์” ประจำปี 2564 สนามที่ 1 ระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ โดยสมาคมฯ จะจัดการแข่งขัน “แบบปิด” ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าชม แต่จะให้ชมการแข่งขันผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ Thaicycling Association รวมทั้งการจำกัดจำนวนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ตามอัตราส่วน โดยนักกีฬา 3 คน จะอนุญาตให้มีเจ้าหน้าที่ประจำทีมได้ 1 คน ซึ่งนักกีฬากับเจ้าหน้าที่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางออนไลน์ และประการสำคัญที่สุดจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ Rapid test ภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางมาแข่งขัน

Advertisement

“หลังจากนักกีฬาและเจ้าหน้าที่แต่ละทีมได้ผลตรวจที่ปรากฏว่าเป็นลบ หรือไม่พบเชื้อโควิด-19 ก็ต้องส่งหลักฐานการตรวจมายังสมาคมกีฬาจักรยานฯ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.thaicycling.co.th หากไม่มีหลักฐานการตรวจดังกล่าวแนบมาก็จะไม่มีสิทธิ์ลงแข่งขัน ส่วนมาตรการอื่น ๆ ระหว่างการแข่งขัน สมาคมฯ จะยึดตามมาตรการหลัก 5 ข้อของ ศบค. คือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์, รักษาระยะห่าง, หลีกเลี่ยงการสัมผัส และจำกัดจำนวนคน นอกจากนี้ก็จะมีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ และพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่จักรยานและอุปกรณ์การแข่งขันก่อนที่จะเข้าสนาม” นายกสองล้อเจ้าของฉายา “หมึกไฟแรง (ปั่น) แซงทุกสนาม” กล่าว

พลเอกเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ สมาคมกีฬาจักรยานฯ กำหนดจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2021” ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน เส้นทางในจังหวัดสงขลา-พัทลุง-ตรัง-สตูล-ปัตตานี และการแข่งขันจักรยานประเภทลู่นานาชาติรายการ “แทร็ค เอเชีย คัพ 2021” ระหว่างวันที่ 25-29 สิงหาคม ที่เวลโลโดรม สนามกีฬาแห่งที่ 2 โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทั้ง 2 รายการ ได้รับการบรรจุลงในปฏิทินประจำปี 2021 ของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็ได้จัดทำคู่มือจัดการแข่งขันเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อนำเสนอให้ ศบค. พิจารณาอนุมัติเช่นเดียวกัน โดยมีมาตรการสำคัญคือการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก หรือ ASQ ที่สมาคมฯ กำหนด รวมทั้งการทำประกันโควิด-19 ในวงเงินคนละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000,000 บาท

“การจัดการแข่งขันจักรยานทั้งรายการชิงแชมป์ประเทศไทย และการแข่งขันในระดับนานาชาติ นอกจากจะเป็นการเยียวยาช่วยเหลือนักกีฬา เจ้าหน้าที่ บุคลากรให้มีรายได้แล้ว ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดต่าง ๆ ที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ ไปจัดการแข่งขัน ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร มีคนไปใช้บริการกันเนืองแน่น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากากรแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ มีการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยแพร่ออกไปทั่วโลก ชาวต่างชาติจะได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามของแต่ละจังหวัดที่เป็นเส้นทางผ่าน และทำให้อยากมาท่องเที่ยวเมืองไทย นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกได้เห็นว่าประเทศไทยมีมาตรฐานด้านสาธารณสุข และการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยอดเยี่ยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก” พล.อ.เดชา กล่าวเสริม

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image