‘สสส.-กรมพลศึกษา’ สนับสนุนออกกำลังกายในกลุ่มเด็กพิเศษ

‘สสส.-กรมพลศึกษา’ สนับสนุนออกกำลังกายในกลุ่มเด็กพิเศษ

 

สสส. ร่วมกับ กรมพลศึกษา พร้อมสนับสนุนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ระดับประถมศึกษา เพื่อให้ได้รับการพัฒนาทางร่างกายที่ถูกต้อง และเพิ่มโอกาสให้เด็กรับการดูแลที่เท่าเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะในชั่วโมงพลศึกษาเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ เพื่อเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของประเทศ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ดังนั้นการมีพัฒนการทางด้านร่างกายจึงกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ สามารถดูแลตนเองได้มากขึ้น เมื่อเข้าสู่วันที่เติบโตข้างหน้า และจะต้องได้รับการประสานดูแลเป็นอย่างดีจากโรงเรียน ครูผู้สอน รวมถึงผู้ปกครอง ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็พร้อมดูแลและสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้มีหลักสูตรอบรมการสอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (ประเภทบกพร่องทางสติปัญญา) เพื่อให้โรงเรียนนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม ผ่าน “โครงการการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ”

 

Advertisement

 

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้ดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ด้าน คือการส่งเสริมสุขภาพพลานามัยกับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีกับการกีฬาเพื่อมวลชน และคนไทยทั่วประเทศ ให้มีสุขภาพที่แข็งแรง โดยการส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมก็พร้อมสนับสนุนเด็กพิการหรือเด็กที่ต้องการส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษให้ได้รับโอกาสที่จะเข้าถึงการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างทั่วถึงเช่นกัน

“ต้องขอบคุณ สสส. ที่ได้เริ่มต้นโครงการนี้และตระหนักถึงความจำเป็นในการให้โอกาสแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญแขนงต่างๆ วางหลักสูตรร่วมกัน พร้อมวางแผน ประชุม หารือกับโรงเรียนต่างๆ ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ปกครอง เพราะมองเห็นถึงโอกาสที่ลูกหลานจะสามารถเข้าถึงการออกกำลังกายได้ จึงได้ทำคู่มือให้ผู้ปกครองได้ใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการทำกิจกรรมที่บ้านต่อไป พร้อมประเมินและขยายผลไปสู่ระดับอาเซียนอีกด้วย”

Advertisement

ทั้งนี้ โจทย์ที่ท้าทายคือ การสอนออกกำลังกายแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ จำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการสอนจากครูที่อยู่ใกล้ชิด พร้อมๆ กับการทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครองที่บางส่วนอายที่จะให้คนอื่นรับรู้ หรือกังวลอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยทุกอย่างต้องอาศัยความร่วมมือที่ต้องเกิดขึ้นระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน ที่ต้องดูแลร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงโจทย์สำคัญคือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จำเป็นต้องให้เกิดการขยายผลของโครงการนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ จะเริ่มนำร่องอบรมครูสอนพลศึกษาในโรงเรียนบ้านหนองกุง จ.อุบลราชธานี เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง รวมทั้งศึกษานิเทศก์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ก็ให้ความสนใจกับโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโรงเรียนนี้เป็น 1 ใน 8 โรงเรียน ที่ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียน ครูสอนพลศึกษา และครูการศึกษาพิเศษ สังเกตการสอนชั่วโมงพลศึกษา และเก็บข้อมูลพื้นฐานสมรรถภาพทางกายของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (ประเภทบกพร่องทางสติปัญญา) พร้อมตั้งเป้าว่าจะลงพื้นที่ให้ครอบคลุม 4 ภาค ก่อนจะยกร่างหลักสูตร และประเมินหลักสูตร ว่ามีความเหมาะสมเพียงพอแล้วหรือไม่ หลังจากนั้นจะเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป

 

 

ศาสตราจารย์ ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ว่า มีความสำคัญมาก แม้ไม่ใช่เด็กพิเศษก็ตาม เพราะการเคลื่อนไหวหรือการทำกิจกรรมทางกาย เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เหมือนเด็กปกติ กิจกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกิจกรรมนั้น ๆ ได้ทันที ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องทำอะไร อย่างไร แล้วก็บรรลุเป้าหมายหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ทันที เช่น การทดสอบ ยก จับ หิ้ว เหวี่ยง ขว้าง ปา ซึ่งการทำกิจกรรมเหล่านี้สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเด็กต้องการได้รับการพัฒนาด้านใด แต่ภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากคือครูผู้สอนที่ต้องมีความเข้าใจถึงพัฒนาการของเด็ก ซึ่งจำเป็นจะต้องเรียนรู้การออกแบบการเคลื่อนไหว เช่น เดินอย่างไร วิธีการเดิน ขั้นตอนการเดิน ขั้นตอนการวางเท้า ก็จะทำให้ต้องมีสมาธิ จดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว แทนที่จะปล่อยให้เคลื่อนไหวเองตามปกติธรรมดา เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะเข้ามาช่วยให้เกิดความเข้าใจว่ากิจกรรมการคเลื่อนไหวมีความสำคัญอย่างไร แล้วไปช่วยพัฒนาสมองอย่างไร

ทั้งนี้ ครูและผู้ดูแล ทำหน้าที่เปรียบเสมือนโค้ช ให้ข้อแนะนำแก่เด็ก เพื่อกระตุ้นให้คิดด้วยตนเอง โดยบทบาทของครูผู้สอน จะไม่ได้เป็นเพียงแค่สถาปนิกหรือวิศวกรให้กับเด็กเท่านั้น แต่มีบทบาทเปรียบเสมือนกับนักจิตวิทยา รวมถึงเป็นผู้บริหารจัดการเวลาให้กับเด็กด้วย เหล่านี้ต้องอาศัยความรัก ความจริงใจในการดูแลเด็ก เพราะเด็กสามารถสัมผัสได้และพร้อมที่จะเรียนรู้กับครู รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจบริบทของเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้วย ส่วนผู้ปกครองนั้น อยากให้เข้าใจในตัวของเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ไม่ควรมองว่าเป็นปัญหา แต่ต้องให้ความเอาใจใส่ เพราะเรื่องของพัฒนาการเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาไม่ควรเพิ่มความกดดัน แต่ควรให้ความอบอุ่นกับเด็ก โดยจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด มาจากครอบครัว จากนั้นส่งต่อมายังโรงเรียนและสังคมต่อไป

 

 

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศุภวิบูลย์ ที่ปรึกษาโครงการ และผู้เชี่ยวชาญด้านพลศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ระบุว่า ครูพลศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการสอน จะต้องตรวจสอบว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ ยืนหรือเดินอย่างมีคุณภาพหรือไม่ พร้อมกับการปรับประยุกต์หลักสูตรของการเรียนพลศึกษาให้เข้ากับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การสอนก็จะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น หากเป็นเด็กธรรมดาก็จะสอนบทที่ 1-4 ได้ตามลำดับ โดยที่ไม่ต้องทบทวน แต่หากเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การจะไปบทที่ 2 นั้น จะต้องสอนบทที่ 1 ซ้ำก่อน เหมือนกับสอนบทที่ 1 จากนั้นสอนบทที่ 1-2 และสอนบทที่ 1-2-3 ตามลำดับ เพราะถ้าไม่กลับมาสอนบทแรกตั้งแต่ต้นซ้ำเด็กก็อาจจะลืมได้ และที่สำคัญต้องประยุกต์บทเรียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่า ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่ต้องร่วมมือกับครูผู้สอนเพื่อให้เด็กได้ฝึกหัดด้วยตนเอง กลับไปทำที่บ้านได้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างพัฒนาการให้กับเด็กมีทักษะการเคลื่อนไหวที่ดีมากขึ้น ดังนั้นครูที่สอนพลศึกษาต้องมีความมั่นใจและมีความรู้ในการปรับสอนตามข้อมูลของเด็กแต่ละคนที่ได้รับมาได้

 

 

 

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษม นครเขตต์ ที่ปรึกษาโครงการ และผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางกาย กล่าวถึงความสำคัญของวิชาพลศึกษาที่มีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดไว้ให้เด็กต้องมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน เพราะร่างกายของเด็กกำลังเติบโต และต้องมีพัฒนาการอย่างเหมาะสม แต่ถ้าเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ขาดกิจกรรมเหล่านี้ไป ก็จะมีผลต่อพัฒนาการทางร่างกายเช่นกัน ดังนั้น วิชาพลศึกษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการนำมาปรับช่วยตรงจุดนี้ และยังทำให้เด็กมีความรู้สึกภาคภูมิใจ เมื่อประสบความสำเร็จในการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งสิ่งที่ครูผู้สอน รวมถึงสังคมจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่คือ เมื่อมีเด็กที่มีความพิเศษเข้าร่วมเรียนพลศึกษาแล้ว ไม่ควรจะตัดโอกาสออกไปให้นั่งเฉย ๆ แต่ต้องปรับกิจกรรมให้เข้ากันกับเด็ก ทั้งนี้ จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า เมื่อเด็กได้มีโอกาสได้วิ่งเล่นประมาณ 10-15 นาที จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสมอง ซึ่งไม่ควรจะให้เด็กมานั่งเรียนเป็นเวลา 14-15 ชั่วโมงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พร้อมกันนี้ ครูผู้สอนต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่เป็นการวิ่งเล่นของเด็กคือสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ตามหลักสูตร เพื่อตอบสนองให้มีพัฒนาการที่ดี

 

 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา คุณาอภิสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานบุคลากรด้านการกีฬาและนันทนาการขั้นพื้นฐานของกรมพลศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรพลศึกษา ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการเรียนการสอนวิชาพลศึกษาในเด็กที่มีความต้องการพิเศษ คือ หลักสูตรส่วนกลางยังไม่มีการปรับเปลี่ยนมากนัก ซึ่งจากงานวิจัยต่างประเทศจะพบว่า การฝึกเทคนิคเคลื่อนไหวทางร่างกายจะส่งผลดีต่ออารมณ์ จิตใจ และจะมีผลไปถึงการเรียนวิชาปกติด้วย แต่ในประเทศไทย ยังไม่ให้ความสำคัญในวิชาพลศึกษามากนัก บางครั้งนำครูที่ไม่เชี่ยวชาญมาสอน ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

“จึงอยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่เป็นพิเศษด้วย เพราะเด็กที่มีความต้องการพิเศษก็ถือเป็นคนหนึ่งคน ที่ควรได้รับสิทธิมนุษยชน หรือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกับเด็กคนอื่น และก็มีไม่น้อยที่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศได้ ทั้งนี้หลักสูตรพลศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ จะต้องให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยดูแลด้วย เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของพัฒนาการ” รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา กล่าว

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image