3 นักสู้เมียนมาในโตเกียว 2020 ในวันที่บ้านมีเสียงปืนและโรคระบาด

3 นักสู้เมียนมาในโตเกียว 2020 ในวันที่บ้านมีเสียงปืนและโรคระบาด

ท่ามกลางวิกฤติการเมืองในประเทศและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมียนมาอยู่ในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น 3 คน จาก 3 ชนิดกีฬา

เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ แบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยว, ชู เมียต โหน่ ไว ยูโดรุ่น 63 กก.หญิง, เย ตุน หน่อง ยิงปืน ขณะที่ วิน เท็ต อู นักว่ายน้ำที่ได้โควต้าปฏิเสธที่เข้าร่วมการแข่งขัน 

วิน เท็ต อู ฝึกซ้อมและใช้ชีวิตที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สถิติของเขาอยู่ในอันดับ 166 ของโลก ในระยะฟรีสไตล์ 50 เมตรชาย จากการอ้างอิงของเว็บไซต์สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ และเคยรับใช้ชาติมาแล้วในซีเกมส์ ครั้งที่ 27 และครั้งที่ 30

วิน เท็ต อู

ฉลามหนุ่มโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เขาไม่ต้องการแข่งขันโอลิมปิกให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกเมียนมาที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มคนที่ทำร้ายประชาชน 

Advertisement

“หลังจากที่เกิดการรัฐประหาร ผมไม่เคยคิดที่จะรับใช้ทีมชาติภายใต้คณะปฏิวัติ ทั้งๆ ที่ความฝันของผมคือการติดทีมชาติเมียนมาไปแข่งโอลิมปิก การได้ไปโอลิมปิกไม่ใช่เป็นแค่ความสำเร็จของผม แต่มันเป็นการแสดงให้นักกีฬาเมียนมาเห็นว่า ทุกคนสามารถไปแข่งขันโอลิมปิกได้ ถ้าฝึกซ้อมอย่างถูกวิธี มีโค้ชที่ดี มีสาธารณูปโภคที่ดี” นักว่ายน้ำที่ดีที่สุดของเมียนมากล่าว

ขณะที่สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คณะกรรมการโอลิมปิกเมียนไม่ได้เลือกวิน เท็ต อู ให้ไปแข่งขันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

ในทางกลับกัน เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ นักตบขนไก่มือ 65 ของโลก ประเภทหญิงเดี่ยว เลือกที่จะไปแข่งขัน ก็โดนกระแสประชาชนวิจารณ์ในทางลบ เพราะไปแข่งขันในช่วงที่คณะรัฐประหารปกครองประเทศ

Advertisement
เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ Photo: Facebook/Thet Htar Thuzar

เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ กล่าวว่า จะพยายามอย่าดีที่สุดในการเป็นตัวแทนของชาวเมียนมา ความฝันที่รอคอยมาหลายปีสำเร็จแล้ว อย่างน้อยเราก็มีช่วงเวลาให้ยิ้มในวันเวลาที่สาหัสแบบนี้ ความสำเร็จของเธอจะเป็นความสำเร็จของชาวเมียนมาทุกคนด้วย

กระแสในโลกโซเชียลของเมียนมาต่อต้านความคิดของนักตบขนไก่เบอร์หนึ่งของประเทศอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนมากบอกให้เลิกความคิดที่จะไปแข่งขัน เพราะมันเป็นการทำเพื่อตัวเองมากกว่าทำเพื่อประเทศ 

“ถ้าคุณอยากจะไปก็ไปเลย แต่ถ้าเป็นฉันคงไม่ไปแข่ง อย่าคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นการทำเพื่อประชาชน อย่าพูดว่าจะทำให้พวกเรายิ้มได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่คุณทำเพื่อตัวเอง”

“คุณไปแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติ ด้วยการที่บุคคลผิดกฎหมายส่งไปน่ะเหรอ”

“ฉันจะไม่ให้กำลังใจคนที่เห็นแก่ตัว ที่ไม่ยอมต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้”

เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ ปัจจุบันอายุ 22 ปี เกิดและเติบโตที่ประเทศไทย พ่อและแม่ของเธอเป็นนักแบดมินตันทั้งคู่ และมีพ่อเป็นโค้ชคนแรกในชีวิต การแข่งขันแบดมินตันครั้งแรกในชีวิตตอนอายุ 7 ขวบ เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ คว้าอันดับ 3 ได้ในทันที

เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ Photo: Facebook/Thet Htar Thuzar

จนอายุ 10 ขวบ นักตบขนไก่สาวเมียนมาได้ย้ายไปอยู่เมียนมากับครอบครัว คว้าแชมป์มากมายในประเทศ รวมทั้งรายการอาชีพของสหพันธ์แบดมินตันโลกด้วย

ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 เธ็ต ฮทาร์ ธูซาร์ อยู่ในกลุ่มเอ็ม ร่วมกับ เกรกอเรีย ตันจุง มือ 23 ของโลกจากอินโดนีเซีย และ ไลแอนน์ ตัน มือ 38 ของโลกจากเบลเยียม ถือว่าเธอเป็นนักตบขนไก่ที่อันดับโลกแย่กว่าคู่แข่งร่วมกลุ่มทั้งหมด และในแต่ละกลุ่มจะแข่งขันแบบพบกันหมด เอาแค่แชมป์กลุ่มเข้ารอบต่อไปเท่านั้น 

เย ตุน หน่อง PHOTO : www.mmtimes.com

ส่วนเย ตุน หน่อง นักแม่นปืนคนที่ 5 ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ไปแข่งขัน แต่เขาเคยผ่านเวทีโอลิมปิกมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อ 5 ปีที่แล้วที่ประเทศบราซิล เคยคว้ารองแชมป์ประเภทปืนสั้นอัดลม 10 เมตรชาย การแข่งขันยิงปืนเวิลด์คัพ เมื่อปี 2015 มาแล้ว 

ด้าน ชู เมียต โหน่ ไว ได้สิทธิพิเศษไปแข่งขันยูโด หรือสิทธิไวลด์การ์ดที่จะให้นักกีฬาในชาติที่ไม่ได้โควต้าในบางชนิดกีฬามีส่วนร่วมในการแข่งขัน

ชู เมียต โหน่ ไว

เมียนมาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1948 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังไม่เคยได้เหรียญรางวัลใดๆ 

ถึงแม้ว่าทุกคนที่ไปร่วมแข่งขันจะรู้ตัวดีว่าการลุ้นเหรียญรางวัลเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา แต่โอลิมปิกเกมส์เป็นหนึ่งในความฝันสูงสุดของนักกีฬาเกือบทุกคนในโลกนี้ เมื่อมีโอกาสจะได้ไปสัมผัส ความยิ่งใหญ่ของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ก็ยากที่จะปฏิเสธ

กีฬาเป็นหนึ่งในการสร้างความสุขและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในประเทศ ไม่ว่าจะทะเลาะกันรุนแรงขนาดไหน เมื่อนักกีฬาของชาติตัวเองกำลังแข่งขัน ทุกฝ่ายก็ต่างหวังที่จะให้นักกีฬาคนนั้นคว้าชัยชนะ เหมือนเป็นสนธิสัญญาหยุดยิงชั่วคราวระหว่างกันในช่วงเวลาหนึ่ง ถึงแม้จะลั่นวาจาไว้ว่าจะไม่เชียร์นักกีฬาที่แข่งขันภายใต้การปกครองของกลุ่มรัฐประหารก็ตาม

น่าสนใจว่านักกีฬาเมียนมาทั้ง 3 คน จะใช้เวทีโอลิมปิกแสดงจุดยืนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศอย่างไรบ้าง เพราะความยิ่งใหญ่ของโอลิมปิก ถ้ามีเปล่งเสียงออกมา มันก็อาจจะดังก้องไปทั่วโลก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image