‘โตเกียว 2020’ อีกก้าวที่ไกลขึ้นของเพศทางเลือก

‘โตเกียว 2020’ อีกก้าวที่ไกลขึ้นของเพศทางเลือก

โอลิมปิกเกมส์ 2020 นับเป็นหนึ่งที่ชูเรื่องความเท่าเทียม ด้วยการให้มีนักกีฬาหญิงและชายในจำนวนที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก มีการให้นักกีฬาหญิงและชายร่วมกันถือธงเดินเข้าพิธีเปิดเป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่คนเดียวเหมือนที่ผ่านมา

จำนวนนักกีฬาในครั้งนี้จาก 11,500 คน แบ่งเป็นเพศชาย 51 เปอร์เซ็นต์ และเพศหญิง 49 เปอร์เซ็นต์ มีการเพิ่มอีเวนต์ที่แสดงถึงความเท่าเทียมกันในกรีฑา, ว่ายน้ำ, ยูโด, ยิงเป้าบิน ในส่วนของว่ายน้ำและกรีฑาจะมีรายการผลัดผสม ที่จะมีนักกีฬาชายและหญิงอย่างละ 2 คน อยู่ในทีมเดียวกัน ยิงเป้าบินแทรฺปทีมผสม หรือยูโดทีมผสม 

เมื่อมีความเท่าเทียมกันทางเพศชายและหญิง เพศทางเลือกก็ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากผลงานมากกว่าการดูในเรื่องเพศสภาพเช่นกัน

Advertisement

outsports.com ได้รวบรวมรายชื่อนักกีฬาที่เป็นเพศทางเลือกในโตเกียว 2020 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 172 คน มากขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่ประเทศบราซิลถึง 3 เท่า คือ 56 คน

ซิด ซีกเลอร์ ผู้ก่อตั้ง outsports.com กล่าวว่า หน่วยงานของเขาจะมีการติดต่อกับนักกีฬาที่เป็นเพศที่สามจากหมู่บ้านนักกีฬาโอิมปิก เพื่อเก็บเป็นข้อมูล การที่จำนวนนักกีฬาที่แสดงตัวว่าตัวเองเป็นเพศทางเลือกมากขึ้นนั้น มาจากการที่พวกเขามองว่าไม่มีอะไรที่ต้องปกปิดอีกต่อไป อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้แบบปกติ ซึ่งถ้าจะพูดกันชัดๆ คือ โอลิมปิกก็เหมือนกับเรนโบว์เกมส์ กีฬาสีรุ้งนั่นเอง

ทอม ดาลีย์ นักกระโดดน้ำสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ในการแถลงข่าวเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเขาก็สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 ได้ ส่วน เคท ริชาร์ดสัน-วอลช์ และ เฮเลน ริชาร์ดสัน สองนักฮอกกี้หญิงสหราชอาณาจักร ที่ร่วมแข่งขันในโอลิมปิก 5 ปีก่อน ก็เปิดตัวว่าใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมาพักใหญ่แล้ว ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ในแง่ลบไม่น้อย

Advertisement

“ดาลีย์เป็นคนที่แข็งแกร่ง กล้าหาญที่จะเปิดเผยตัวตน เพราะเรื่องนี้เราไม่จำเป็นต้องเก็บมันไว้คนเดียว ส่วนคู่ของเคและเฮเลนก็ได้รับผลกระทบเยอะเมื่อกลับบ้าน น่าเสียดายที่ทั้งคู่ไม่ได้มาแข่งในปีนี้ ไม่อย่างนั้นความสัมพันธ์ก็น่าจะเปิดเผยกันได้มากกว่านี้” ซีกเลอร์กล่าว

Outsports เก็บข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า นักกีฬาเพศทางเลือกในโตเกียว 2020 ทำผลงานร่วมกัน มีอันดับอยู่ในที่ 12 ของตารางเหรียญ 

สเตฟานี่ ดอลสัน นักบาสเกตบอล 3×3 สหรัฐอเมริกา เจ้าของเหรียญทองยัดห่วง 3×3 ทีมหญิง ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก คาร์ล เฮสเตอร์ นักขี่ม้าประเภทศิลปะบังคับม้าของสหราชอาณาจักร ที่ได้เหรียญทองแดง ดาลีย์ที่ได้เหรียญโอลิมปิก 3 สมัยที่ลงแข่งขัน และครั้งนี้ก็ได้เหรียญทอง ต่างก็ประสบความสำเร็จไม่ว่ารสนิยมทางเพศจะเป็นแบบไหน

อลาน่า สมิธ นักสเก็ตบอร์ดอเมริกัน ซึ่งไม่ได้ระบุเพศของตัวเอง(เควียร์) บอกว่า เป้าหมายของการร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ก็เพื่อแสดงตัวตนให้เห็นว่ายังมีคนแบบนี้อยู่ 

เอริก้า ซุลลิแวน นักว่ายน้ำอเมริกา ที่ได้เหรียญเงินรายการฟรีสไตล์ 1,500 เมตรก็ออกมาบอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า เธอเป็นเควียร์ เป็นคนส่วนน้อยของสังคม แต่ประเทศของเธอก็เปิดกว้างในเรื่องนี้ 

คาทาริน่า ซิลล์มันน์ นักเรือพายหญิงโปแลนด์ ให้สัมภาษณ์ขอบคุณแฟนสาวของตัวเอง หลังจากคว้าเหรียญเงินมาได้ เพราะอยากจะใช้โอกาสในการได้แข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมุนษยชาตินี้ บอกกับสังคมโปแลนด์ที่ยังต่อต้านเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าทุกคนมีสิทธิที่แสดงออกในสิ่งที่ตัวเองเป็น

ลิซ วอร์ด ผู้อำนวยการของสโตนวอลล์ กลุ่มการกุศลของชาวแอลจีบีทีเควียร์ กล่าวว่า โตเกียว 2020 ไม่เหมือนโอลิมปืกทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมันมีความตื่นเต้น มีการพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศมากกว่าครั้งไหนๆ แต่ก็ยังมีนักกีฬาในบางชนิดกีฬาที่ไม่สามารรถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาได้ 

แม้แต่ นิโคล่า อดัมส์ อดีตนักชกหญิงสหราชอาณาจักร ที่ได้เหรียญทองในลอนดอน 2012 ก็บอกว่า โอลิมปิกครั้งนี้เป็นการเปิดตัวตนของชาวเพศที่สามมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เหมือนเป็นชัยชนะ เพราะนักกีฬาเหล่านั้นไม่ได้เก่งแค่การเป็นตัวแทนทีมชาติ แต่กล้ามากพอที่จะแบ่งปันเรื่องส่วนตัวของตัวเองให้โลกได้รู้ เป็นเหมือนฮีโร่ที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับเพศทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้จะเหมือนการเฉลิมฉลองของนักกีฬาเพศทางเลือกที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ในสังคมญี่ปุ่นเอง ไม่มีใครยืนยันได้ว่าโตเกียว 2020 จะช่วยเปลี่ยนแนวความคิดในเรื่องเพศทางเลือกได้

กอน มัตสึนากะ ผู้ก่อตั้งศูนย์แอลจีบีทีเควียร์แห่งแรกในญี่ปุ่น กล่าวว่า คนจำนวนมากอาจจะมองญี่ปุ่นเป็ปนระเทศที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่มันตรงข้ามกัน เพราะญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายที่รองรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน ไม่มีกฎหมายที่ต่อต้านการเหยียดเพศ

ฟุมิโนะ สึกิยามะ อดีตนักฟันดาบทีมชาติญี่ปุ่นที่แปลงเพศจากชายเป็นหญิง และลงแข่งขันหลังจากแปลงเพศไปแล้ว ตอนนี้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น และเป็นคนข้ามเพศคนแรกที่เช้าไปอยูในคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นด้วย 

สึกิยามะบอกว่า การที่เพศทางเลือกถูกผลักไสให้ออกจากโลกของกีฬาก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกขับไล่ออกจากสังคม ดังนั้นจึงควรหาโอกาสที่จะมาถกประเด็นนี้กันอย่างสร้างสรรค์เสียที

เพราะโลกนี้เต็มไปด้วยความแตกต่าง และความแตกต่างนี่เอง ที่ทำให้โลกนี้มีสีสัน กีฬาก็เป็นหนึ่งในนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image