ถึงเวลาคลีนนิ่ง! ไทยตามกระแสโลกผุดแนวคิดจัด ‘การท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว’

ถึงเวลาคลีนนิ่ง! ไทยตามกระแสโลกผุดแนวคิดจัด ‘การท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว’

สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทย ในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสหประชาติ และผู้เข้าร่วมข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางไปร่วมประชุมงาน “COP26” ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญของโลก เพื่ออนาคตของลูกหลาน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065 นำเสนอเป้าหมายและการดำเนินงานที่แข็งขันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเสนอการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย (LT-LEDS)”

Advertisement

 

 

Advertisement

ในส่วนของวงการกีฬา “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ขยายความว่า เมื่อท่านนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับจากประชุมโลกกลับมา ได้มีนโยบายตามโลกคือ ให้เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งกระทรวงต่างๆ พร้อมขานรับ ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานั้น เรื่องของการท่องเที่ยวได้เตรียมการปฏิบัติแล้ว ขณะที่ในส่วนของกีฬาก็มีความพร้อมเช่นเดียวกัน โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เตรียมแผนงานครั้งใหญ่ อันเป็นที่มาของโครงการ “การจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬา ภายใต้กรอบแนวคิดกีฬาสีขาว” โดยมีรูปแบบจัดการกีฬาบนพื้นฐานสิ่งแวดล้อมศึกษาที่ตอบสนองต่อแนวคิด BCG Economy ในประเทศไทย

ดร.ก้องศักด ขยายความว่า BCG คือ โมเดลเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะดึงเศรษฐกิจ ทั้ง 3 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ 1.เศรษฐกิจชีวภาพ อันจะนำความรู้ด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เพื่อให้ได้ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงสุด และคุ้มค่า 2.เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งลดของเสีย และการใช้ทรัพยากรให้เกิประโยชน์สูงสุด รวมถึงการนำกลับมาสร้างคุณค่าใช้ใหม่ และ 3.เศรษฐกิจสีเขียว ที่คำนึงถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ

 

 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้นำแนวคิด BCG Model มาเป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ “การท่องเที่ยวและกีฬาสีขาว” เพื่อผลักดันให้มีผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬาไทย สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วยเป้าหมาย สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นี่เป็นแนวทางของโลกยุคใหม่ ที่เน้นตระหนักความสำคัญถึงการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตการคัดเลือกประเทศเจ้าภาพกีฬาระดับโลก เช่น โอลิมปิก จำเป็นต้องนำเสนอกรอบแนวคิดของการนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน มากกว่าการลงทุนก่อสร้างอย่างสิ้นเปลืองและกลายเป็นภาระหนี้สินของประเทศเจ้าภาพ การจัดกิจกรรมกีฬาต่างๆ ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดมลพิษต่อชุมชน รวมทั้งตัวนักกีฬาเอง หรือประชาชนคนทั่วไปออกกำลังกาย จะได้ไม่ต้องซึบซับอากาศเป็นพิษเหล่านั้นเข้าไป นี่เป็นส่วนที่การกีฬาจะต้องหันมาให้ความสำคัญปฏิรูปวงการให้เป็นสีขาวเพื่อสังคม

 

 

เมื่อถามถึงแผนกลยุทธ์ ขับเคลื่อนของโครงการ ผู้ว่าการ กกท.อธิบายว่า โมเดลนี้พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบแนวคิดสำคัญ 3 ประการ คือ 1.การมีบทบาทอย่างเข้มแข็งตามแรวทางการท่องเที่ยวสีขาว เพื่อการท่องเที่ยวที่ยังยืน 2.การเป็นผู้นำส่งเสริมให้มีการลดของเสีย ในภาคการท่องเที่ยวด้วยโมเดล ศก. BCG และ 3.สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ

“ยกตัวอย่าง การจัดกิจกรรมกีฬา มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจกรรมกีฬาย่อมมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งในบ้านเรามีกีฬาระดับท้องถิ่นและนานาชาติต่อเนื่องมากมาย ซึ่งมักมีการทิ้งขยะ ขวดน้ำพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ฯลฯ เกิดปริมาณขยะและน้ำเสียในการชำระล้าง หากถูกปล่อยทิ้งอย่างไม่ถูกต้องตามหลักการรักษาสภาพแวดล้อม เหตุนี้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีนโยบายหลักๆ อาทิ ดำเนินการจัดการแข่งขันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทุกรายการ รณรงค์กำจัดวัสดุย่อยสลายยาก ฯลฯ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และเชื้อเพลิง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมใช้พลังงานทดแทน หารือกับชุมชน ยื่นขอจัดการแข่งขัน ที่ให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด มาตรการเหล่านี้ เป็นจุดมุ่งหมายเพื่อเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้จัดกิจกรรม เจ้าของสถานที่ ผู้เข้าร่วม ซึ่งจะเป็นกรอบเบื้องต้นในการพิจารณาจัดการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลตระหนักของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของผู้จัด ตลอดจนผู้เข้าชมให้มีสำนึกร่วมกันต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมทางน้ำในทะเล ที่ต้องมีการติดตั้ง การรื้อถอนทุ่นต่างๆ จะต้องไม่ประทบต่อแนวประการังหรือสัตว์น้ำประจำถิ่น หรือ เส้นทางผ่านการแข่งขัน ต้องไม่กระทบหรือทำลายต้นไม้ หรือพืชพันธุ์ต่างๆ ของพื้นที่นั้นๆ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือเสียงที่อาจกระทบต่อ สัตว์ป่าที่อาศัยในพื้นที่เหล่านั้นเป็นต้น” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท.กล่าว

ปัญหาสภาวะโลกร้อน นับวันเป็นสิ่งที่มนุษย์ชาติต้องพึงตระหนักและให้ความสำคัญ ถือเป็นสิ่งใกล้ตัวที่คืบคลานเข้าหาเราทุกวัน

สำหรับคนไทยโมเดลโครงการสร้าง BCG Economy ของวงการกีฬา ภายใต้กรอบ แนวคิดกีฬาสีขาว กำลังจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง

ถึงเวลามาช่วยกันคลีนนิ่ง ล้างโลกให้สะอาดไปพร้อมๆ กันนับตั้งแต่นี้…

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image