รู้จัก 8 สังเวียนฟาดแข้ง ‘เวิลด์คัพ 2022’

รู้จัก 8 สังเวียนฟาดแข้ง ‘เวิลด์คัพ 2022’

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ กำลังจะฟาดแข้งกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแล้ว แมตช์แรกจะแข่งขันกันในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลา 23.00 น. ระหว่าง “เจ้าภาพ” กาตาร์ กับ เอกวาดอร์

นอกจากความสนุกสนานเร้าใจที่รอคอยกันแล้ว เรื่องของสนามแข่งขันก็เป็นที่น่าสนใจ เพราะกาตาร์ได้มีการเตรียม 8 สนามในการรองรับเวิลด์คัพหนนี้ บางสนามถูกสร้างขึ้นมาใหม่ และหลายสนามที่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐานและทันสมัยยิ่งขึ้น

เจ้าภาพเน้นการสร้างสนามภายใต้แนวคิดสะดวกสบาย, เข้าถึงง่ายและยั่งยืน นอกจากนั้นยังต้องสร้างให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการแข่งขัน ด้วยการติดแอร์เพื่อให้ได้อุณภูมิที่ 20 องศาเซลเซียส 

8 สนามในฟุตบอลโลก 2022 มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาทำความรู้จักกัน

Advertisement
PHOTO : FIFA

อัล บายต์ สเตเดียม ความจุ 60,000 ที่นั่ง ใช้แข่ง 8 เกม

เป็นสังเวียนนัดเปิดสนาม มีความพิเศษตรงที่เป็นสนามที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเทียบกับสนามต่างๆ ทั่วโลก มีการออกแบบให้เป็นรูปร่างคล้ายเปลือกหอย นอกจากนั้นใช้เป็นสนามเหย้าของทีมชาติกาตาร์อีกด้วย

PHOTO : FIFA

ลูซาอิล สเตเดียม ความจุ 80,000 ที่นั่ง ใช้แข่งขัน 10 เกม ทั้งนัดเปิดสนามและรอบชิงชนะเลิศ

Advertisement

เป็นสนามที่ความจุมากที่สุดใน 8 สนามของฟุตบอลโลกหนนี้ ออกแบบเป็นรูปไข่ เมื่อมองจากด้านนอก ผิวของสนามกระทบกับแสงอาทิตย์จะส่องสว่างเป็นสีทอง หลังคาสามารถเปิด-ปิดได้ เพื่อรองรับในสถานการณ์ที่สภาพอากาศไม่ดี ใช้เวลาในการสร้างถึง 4 ปีเต็ม

PHOTO : FIFA

อัล จานูบ สเตเดียม ความจุ 40,000 ที่นั่ง ใช้แข่ง 7 เกม

ถ้ามองจากมุมสูง รูปทรงของสนามแห่งนี้จะเห็นเหมือนเรือมากกว่าสนามฟุตบอล ออกแบบโดยซาฮา ฮาดิด สถาปนิกชื่อดังลูกครึ่งอังกฤษ-อิรัก ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือโดว์ที่ใช้โดยนักดำน้ำในย่านเปอร์เซีย หลังคาหดได้เพื่อใช้ในการควบคุมอุณหภูมิ และปรับอุณหภูมิในสนามให้ได้ 18-20 องศาเซลเซียส 

PHOTO : www.timeoutdoha.com

คาลิฟา อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดียม ความจุ 45,416 ที่นั่ง ใช้แข่ง 8 เกม

สนามที่สร้างมาตั้งแต่ทศวรรษ 70 ก่อนจะได้รับการเนรมิตรให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ได้รับการประเมิน 4 ดาวจากระบบการประเมินความยั่งยืนทั่วโลก ก่อนหน้าจะใช้เป็นสังเวียนของฟุตบอลโลก สนามแห่งนี้เคยเป็นสนามที่ใช้ในพิธีเปิด-ปิด กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 15 เมื่อปี 2006 มาแล้ว ในฟุตบอลโลก 2022 สนามนี้จะใช้เตะเกมชิงอันดับ 3 ด้วย

PHOTO : FIFA

974 สเตเดียม ความจุ 40,000 ที่นั่ง ใช้แข่ง 7 เกม

ความพิเศษของสนามแห่งนี้ คือ การนำเอาตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ใช้แล้ว 974 ตู้ กลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้สมกับแนวคิดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ถูกยกให้เป็นสนามที่จะเป็นต้นแบบในการสร้างสนามอื่นๆ ในอนาคต ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง ชื่อ 974 สเตเดียม ก็มาจากจำนวนของตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาใช้สร้างนี่เอง

PHOTO : FIFA

เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดียม ความจุ 40,000 ที่นั่ง ใช้แข่ง 8 เกม

สาเหตุที่ได้ชื่อว่า เอดูเคชั่น ซิตี้ สเตเดียม หรือสนามแห่งเมืองการศึกษา เพราะสร้างในย่านสถานศึกษาของเมืองอัล รายยัน เป็นอีกหนึ่งสนามที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ได้รับการประเมิน 5 ดาวจากระบบการประเมินความยั่งยืนทั่วโลก สูงกว่า คาลิฟา อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดียม หลังจากสร้างเสร็จเมื่อปี 2020 ก็ได้ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลฟีฟ่า คลับ เวิลด์คัพ มาแล้ว

อาหมัด บิน อาลี สเตเดียม ความจุ 40,000 ที่นั่ง ใช้แข่ง 7 เกม

ก่อนหน้าที่จะกลายมาเป็นสนามสำหรับแข่งขันฟุตบอลโลก พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นศูนย์กีฬาอาหมัด บิน อาลี มาก่อน มีนโยบายว่าเมื่อรื้อถอนศูนย์กีฬาเก่าแล้ว จะต้องนำเอาเศษหินเศษปูน 90 เปอร์เซ็นต์ มาใช้สร้างสนามแห่งใหม่

หลังจากสร้างขึ้นใหม่แล้ว สนามจะถูกหุ้มไปด้วยเหล็ก ว่ากันว่าภายในสนามออกแบบให้มีความสะดวกสบาย ไฟส่องสว่างอย่างอลังการ ที่ผ่านมาเคยเป็นหนึ่งในสนามที่ใช้แข่งขันฟีฟ่า คลับ เวิลด์คัพ เมื่อปีที่แล้ว

PHOTO : FIFA

อัล ธุมามา สเตเดียม ความจุ 40,000 ที่นั่ง ใช้แข่ง 8 เกม

สนามสุดท้ายที่มีความน่าสนใจในการออกแบบให้เป็นรูปทรงหมวกกะปิเยาะ หมวกที่ผู้ชายในตะวันออกกลางนิยมใส่กัน บ่งบอกถึงการเอาวัฒนธรรมมาควบรวมกับกีฬาและเทคโนโลยีได้อย่างกลมกลืน นอกจากนั้นบริเวณรอบๆ ของสนามแห่งนี้ยังเป็นสวนสาธารณะพื้นที่ถึง 50,000 ตารางเมตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image