‘นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์’ ตำนาน’สิงห์สนามศุภ’ ยอดแข้งไทยผู้สานฝันสู่’โอลิมปิกเกมส์’

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา เชื่อว่าแฟนบอลชาวไทยคงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ “ต๋อง” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ นักฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งมีความแคล่วคล่องว่องไวเป็นทีเด็ดเกินตัวจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้แฟนบอลชาวไทยได้รู้จักกันทั่วประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สิงห์สนามศุภ”

จุดเริ่มต้นในการเล่นฟุตบอลของ นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เล่าให้ฟังว่า เริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ที่บ้านเกิด จ.พิษณุโลก ซึ่งเล่นตำแหน่งแรกเป็นผู้รักษาประตูให้กับทีมโรงเรียนจ่าการบุญ โดยสาเหตุที่เลือกเป็นผู้รักษาประตูนั้น เพราะเห็นว่าท่าพุ่งเซฟลูกสวย

แต่ผ่านไปสักพักก็เริ่มคิดว่าตำแหน่งนายทวารไม่เหมาะกับตัวเอง รวมถึงพ่อเลี้ยงคือ นายเดือน ดารา หรือ เหวียน วัน เดื๊อก อดีตนักเตะทีมชาติเวียดนาม ได้แนะนำให้เปลี่ยนมาเล่นเป็นศูนย์หน้ากับทีมโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมด้วย

“พ่อเลี้ยงบอกผมว่าถ้าเล่นเป็นประตูคงไม่ดังแน่นอนก็เลยเปลี่ยนมาเล่นตำแหน่งอื่น ซึ่งสมัยก่อนผมเป็นนักวิ่งระยะสั้นอยู่แล้ว ทำให้มีความไว มีความคล่องตัวอยู่แล้ว และผมมีเปเล่ ศูนย์หน้าทีมชาติบราซิลเป็นไอดอลก็เลยเลือกที่จะเล่นในตำแหน่งศูนย์หน้า แต่ด้วยความสูงของผมเพียง 155 เซนติเมตรเท่านั้น ก็เลยเสียเปรียบในเรื่องรูปร่างในจังหวะเข้าปะทะอยู่บ้าง” อาต๋องกล่าว

Advertisement

สำหรับโค้ชคนแรกของนิวัฒน์ก็คือพ่อเลี้ยงของเขาที่มีดีกรีเป็นอดีตดารานักเตะทีมชาติเวียดนามก่อน ซึ่งต่อมาจะได้โอนสัญชาติเป็นคนไทย โดยในช่วงที่เขากำลังหัดเดินบนถนนสายลูกหนังภายในพิษณุโลกนั้น นิวัฒน์ได้มีโอกาสเป็นทีมตัวแทนจังหวัดลงสนามดวลฝีเท้ากับทีมชาติไทยที่เดินทางมาแข่งขันที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งทีมชาติชุดนั้นนำทีมโดย สุชาติ มุทุกันต์

ในครั้งนั้นทำให้นิวัฒน์ได้แรงบัลดาวลใจในการเริ่มก้าวเดินตามความฝันในการที่จะติดทีมชาติไทย ทำให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2507 โดยได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนพลานามัย (สถาบันการพลศึกษาในปัจจุบัน) แต่ในปีแรกที่มาก็เจออุปสรรคเรื่องส่วนสูงไม่ได้ จนทำให้ไม่ได้เข้าเรียน เขาจึงกลับไปพิษณุโลกแล้วปีต่อมาจึงกลับเข้าเมืองกรุงอีกครั้ง หนนี้เขาสามารถเข้าเรียนได้สำเร็จ และเป็นนักเตะลงเล่นในรายการฟุตบอลอุดมศึกษา

Advertisement

ถัดมาไม่นานโรงเรียนพลานามัยงดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้เจ้าต๋องย้ายไปลงเล่นให้กับโรงเรียนปานะพันธ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนชื่อดังของวงการลูกหนังขาสั้นในสมัยนั้น กระทั่งในเวลาต่ามาโอกาสครั้งสำคัญของนิวัฒน์ได้มาถึง เมื่อ อ.สำเริง ไชยยงค์ เปิดคัดเลือกนักเตะเยาวชนไทยเข้ามาร่วมทีมชาติ

หนุ่มจากพิษณุโลกไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือและสามารถก้าวไปติดธงได้เป็นครั้งแรกในทีมชุดเยาวชน ชุดเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ.2509 ซึ่งทีมชาติไทยคว้าอันดับ 3 ร่วมกับทีมไต้หวัน โดยแม้ว่าในทัวร์นาเมนต์แรกนั้นจะไม่ค่อยมีได้ลงสนาม และเป็นเพียงตัวสำรองเท่านั้น แต่ก็นับเป็นประสบการณืก้าวแรกอันล้ำค่าของเขาเลยทีเดียว

ปีต่อมา นิวัฒน์ถูกดันขึ้นสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่เป็นครั้งแรกพร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นเยาวชน ทั้ง ชัชชัย พหลแพทย์, อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค และเกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถณา โดยมีโอกาสได้ลงเล่นร่วมกับรุ่นพี่ในทีมชุดใหญ่อย่าง ยรรยง ณ หนองคาย, สุพจน์ พานิช และคนอื่นๆ

ทัวร์นาเมนต์แรกในนามทีมชุดใหญ่ นิวัฒน์ลงเล่นในฟุตบอลรายการฉลองเอกราชเวียดนาม โดย อ.พิสิษฐ์ งามพานิช ผู้จัดการทีมชาติไทยในยุคนั้นได้ถามลูกทีมว่ามีใครที่พอจะเล่นเป็นปีกขวาในเกมเจอกับเกาหลีใต้ได้บ้างไหม ก่อนที่นิวัฒน์อาสาสวมบทตัวริมเส้นฝั่งขวา แถมยังโชว์ฟอร์มได้ดีและพังประตูสำเร็จในนามทีมชาติไทยได้สำเร็จด้วยแม้ทีมไทยจะพ่ายเกาหลีใต้ไป 1-2 ก็ตาม

ทำให้หลังจากนั้น นิวัฒน์ยึดตำแหน่งปีกขวาทีมชาติไทยไปครองอย่างเหนียวแน่น โดยช่วงเวลาต่อมาเขาก็รับใช้ทีมชาติไทยมาโดยตลอด ทั้ง กีฬาแหลมทอง, กีฬาเอเชี่ยนเกมส์, เมอร์เดก้าคัพ และรายการสำคัญที่สุดก็คือ ฟุตบอลปรี-โอลิมปิกเกมส์…

ศึกปรี-โอลิมปิกเกมส์ เมื่อปี พ.ศ.2511 เป็นรายการคัดเลือก 3 ทีมจากโซนเอเชียผ่านเข้าไปรอบสุดท้ายในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 1968 ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งอิสราเอลและญี่ปุ่นคว้าตั๋ว 2 ใบแรกไปแล้ว ทำให้เหลือทีมชาติไทยลงเตะแย่งชิงกับอิรัก และอินโดนีเซีย ที่สนามศุภชลาศัย

ในการแข่งขันครั้งนั้น นับว่านิวัฒน์มีส่วนสำคัญทั้งยิงประตูและจ่ายให้เพื่อนยิงประตูช่วยให้ทีมชาติไทยแข่งนัดรีเพลย์ชนะอิรัก 2-1 และลงเตะนัดชิงดำชนะอินโดนีเซีย 2-1 โดยเจ้าต๋องโหม่งพังประตูด้ทั้ง 2 นัดด้วย จนทำให้ทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์คว้าสิทธิ์ไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นมันเป็นเหมือนฝันเลยก็ว่าได้ ทั้งผมรวมถึงเพื่อนร่วมทีมต่างวิ่งกระจายกันในสนาม เพราะดีใจเป็นอย่างมากที่สามารถพาทีมชาติไทยผ่านไปโอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จ ต้องบอกเลยว่านับเป็นแมตช์ในความทรงจำของผมอย่างมาก เพราะทุกคนต่างตั้งความหวังที่จะผ่านเข้าไปให้ได้ และในที่สุดก็สามารถทำได้”

หลังจากนั้น นิวัฒน์ก็ได้ลงแข่งขันในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2511 ในปีเดียวกันนั้นเอง โดยครั้งนั้นทีมชาติไทยคว้าอันดับ 3 หลังถล่ม มาเลเซีย 6-0 ก่อนที่ในต่อมา เขาพาทีมชาติไทยผ่านเข้าชิงศึกคิงส์คัพได้ถึง 2 ครั้งเมื่อปี พ.ศ.2514 และ 2515 แต่สุดท้ายทีมชาติไทยพลาดท่าพ่ายในสกอร์ 0-1 ทั้ง 2 นัด โดยในครั้งนั้นนิวัฒน์ได้ลงเล่นต่อหน้าพระพักต์ของในหลวงด้วย

ขณะที่ในเส้นทางการค้าแข้งระดับสโมสรนั้น นิวัฒน์เริ่มต้นกับทีม ราชวิถี ในรุ่นเดียวกับ พิทักษ์ ศิลป์ประสิทธิ์, สิทธพร ผ่องศรี, ปรีชา กิจบุญ และคนอื่น ก่อนที่จะพาทีมชาติไทยไปโอลิมปิกเกมส์สำเร็จ ทำให้ปี พ.ศ.2512 การท่าเรือไทยได้ดึงตัวมาร่วมทัพ ซึ่งตอนนั้นนิวัฒน์มีอาชีพเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนปานะพันธ์ ทำให้เขาขอลาออกและมาเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย

ตั้งแต่ศึกปรี-โอลิมปิกเกมส์ จนถึงศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ส่วนใหญ่จะแข่งขันกันที่สนามศุภชลาศัย รวมไปถึงตัวนิวัฒน์เองก็ใช้ชีวิตอยู่กับสนามศุภชลาศัยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เป็นสมัยเรียนและเป็นนักเตะทีมชาติ จนทำให้เป็นที่มาให้เขาได้รับฉายานามว่าเป็น “สิงห์สนามศุภ”

กระทั่งในศึกคิงส์คัพ ครั้งที่ 12 เมื่อ พ.ศ.2522 นิวัฒน์ได้มีโอกาสลงเตะในศึกคิงส์คัพอีกครั้งในฐานะกัปตันทีม และสามารถพาทีมชาติไทยผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปพบเกาหลีใต้ โดยอดีตปีกขวาเล็กพริกขี้หนูจ่ายบอลให้ ดาวยศ ดารา น้องชายต่างบิดาหลุดเข้าไปยิงประตูชัยให้ทีมไทยชนะแข้งโสมขาว 1-0 คว้าแชมป์คิงส์คัพไปครองอย่างยิ่งใหญ่

แต่จากนั้นเกิดเหตุการณ์ที่แฟนบอลทั้งสนามศุภชลาศัยไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อ นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ เดินลงจากโพเดียมและปรี่เข้าไปคว้าไมโครโฟน และประกาศเลิกเล่นทีมชาติไทยอย่างเป็นทางการท่ามกลางแฟนบอลนับหมื่น ทำให้เป็นการปิดฉากช่วงเวลาค้าแข้งในนามทีมชาติมายาวนานกว่า 12 ปีลงไปในที่สุด

“พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ผมรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้รับความกรุณาจากท่านเสมอมา บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ผมจะขอถอดคราบสิงห์สนามศุภ ผมรู้สึกตื้นตันใจที่ทุกท่านอุปการะมาตลอด 12 ปี ผมขอให้พ่อแม่พี่น้องมีความสุข และสนับสนุนฟุตบอลไทยต่อไปครับ” สิงห์สนามศุภประกาศเลิกเล่นทีมชาติอย่างเป็นทางการ

นิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมให้ฟังว่า เป็นปณิธานในใจของตัวเองอยู่แล้วที่อยากจะเอาชนะเกาหลีใต้เพื่อคว้าแชมป์คิงส์คัพ และประกาศเลิกเล่นทีมชาติในทันที ซึ่งก่อนหน้านั้นตนก็พาทีมผ่านเข้าชิงมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ก็ได้เพียงรองแชมป์ ทำให้ครั้งนี้ด้วยอายุมากแล้ว และพอคว้าแชมป์ได้ก็ประกาศเลิกเล่นกลางสนามศุภชลาศัยทันที ทำให้แฟนบอลทั่งสนามเงียบกริบเป็นเวลาหลายนาทีเลยทีเดียว

หลังจากเลิกเล่นฟุตบอล นิวัฒน์ก็ทำงานเป็นพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยเรื่อยมา จนได้เกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันนิวัฒน์ในวัย 70 ปี ได้อุทิศตนเป็นจิตอาสา เปิดสอนฟุตบอลให้กับเยาวชน ที่สำนักแพทย์และอนามัย การท่าเรือ ทุกวันเสา-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-10.00 น.ด้วย

นอกจากนั้น นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ยังเป็นคนแรกที่คว้ารางวัล “ตำนานนักฟุตบอลทีมชาติไทย” ประจำปี 2555 ซึ่งคัดเลือกโดยสมาคมนักฟุตบอลอาวุโส โดยเจ้าของฉายาสิงห์สนามศุภ เฉือนชนะคะแนนอดีตทีมชาติไทย ทั้ง “นายพันกระดูกเหล็ก” พล.ต.อำนาจ เฉลิมชวลิต, “เฮงซัง” วิทยา เลาหกุล, “มิดฟิลด์เท้าชั่งทอง” เฉลิมวุฒิ สง่าพล และ “เพชรฆาตหน้าหยก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ทำให้นิวัฒน์ประเดิมคว้ารางวัลไปอย่างสมเกียรติ

สำหรับวงการฟุตบอลไทยในปัจจุบันนั้น “สิงห์สนามศุภ” ยอมรับว่า ค่อนข้างแตกต่างจากเมื่อก่อนเยอะมาก ทั้งในเรื่องของมาตรฐานการเล่น และจำนวนแฟนบอลที่มีความหลากหลายมากขึ้ย สมัยก่อนเล่นในสนามศุภฯ ก็มีแฟนบอลเต็มสนามเช่นนี้ แต่ปัจจุบันมีแฟนบอลที่เป็นผู้หญิงและเด็กเยอะยิ่งขึ้น

รวมถึงวิวัฒนาการต่างๆ ก้าวล้ำทันสมัย ที่ทำให้ฟุตบอลมีวิธีการเล่นที่หลากหลายมากขึ้น มีวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยให้นักกีฬาแข็งแกร่ง มีแทกติกที่โค้ชได้เรียนรู้ยิ่งขึ้น โดยในไทยพรีเมียร์ลีกก็มีทีมอาชีพถึง 18 ทีม ซึ่งวงการฟุตบอลไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ฟุตบอลาชีพอย่างเต็มตัว

ฟุตบอลอาชีพของไทยตอนนี้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผมยังรู้สึกเสียดายที่น่าจะเกิดช้ากว่านิดอีกหน่อย เพราะเมื่อก่อนไม่มีเงินเดือนนักฟุตบอลเหมือนสมัยนี้ มีแค่เบี้ยเลี้ยงทีมชาติ วันละ 150 บาทเท่านั้น พอไปแข่งต่างประเทศครั้งละ 3 วันก็ได้เบี้ยเลี้ยง 450 บาท ทำให้ถือว่าน้อยกว่าสมัยนี้เยอะ”

“ทีมอย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น เวลาเตรียมทีมเขาจะตระเวนไปเก็บตัวฝึกซ้อมในต่างประเทศ เพราะว่าการเก็บตัวอุ่นเครื่องในบ้านตัวเองกับนอกบ้านมันคนละแบบ โดยผมเชื่อว่าถ้าทีมไทยได้มีโอกาสไปเก็บตัวต่างประเทศ และได้อุ่นเครื่องกับทีมแข็งแกร่งก็น่าจะทำให้มีประสบการณ์ และยังพอมีโอกาสที่จะผ่านเข้าไปโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งที่สอง”

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ “สิงห์สนามศุภ” นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ตำนานทีมชาติไทยซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีให้กับนักฟุตบอลรุ่นหลังได้นำไปเป็นแบบอย่างในการเดินบนเส้นทางสายลูกหนัง

แม้ว่าจะผ่านมานานกว่า 3 ทศวรรษแต่ชื่อของเขาก็จะอยู่ในความทรงจำของแฟนบอลชาวไทยตราบนานเท่านาน…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image