‘สพฐ.-เอ.พี.ฮอนด้า เรด แชมเปี้ยน’ปีที่ 7 ก้าวเล็กๆ เพื่อรากฐานวงการ’ลูกหนังไทย’

เด็กๆ ในโครงการ สพฐ.-เอ.พี. ฮอนด้า เรด แชมเปี้ยน รับประกาศนียบัตร

นับเป็นปีที่ 7 แล้วที่ บริษัท เอ. พี. ฮอนด้า จำกัด จับมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการ สพฐ.-เอ.พี.ฮอนด้า เรด แชมเปี้ยน เฟ้นหานักเตะเยาวชนไทยไปเรียนรู้ทักษะลูกหนังถึงประเทศอังกฤษ

ที่ผ่านมา เอ.พี. ฮอนด้าพาเด็กๆ ที่ผ่านการคัดเลือกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับสโมสรพันธมิตรอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล กระทั่งหมดสัญญาเมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้จึงหันไปจับมือกับ เลสเตอร์ ซิตี้ อดีตแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015-16 ที่มีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ของตระกูล ศรีวัฒนะประภา เป็นเจ้าของ และมีอคาเดมีลูกหนังซึ่งได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งในเกาะอังกฤษ

สำหรับโครงการเรด แชมเปี้ยนนั้น จะเปิดโอกาสให้นักเตะเยาวชนอายุระหว่าง 12-15 ปีที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เข้าร่วมแข่งขันทักษะฟุตบอลขั้นพื้นฐาน 5 อย่าง คือ เดาะ-เลี้ยง-ส่ง-โหม่ง-ยิง โดยเปิดคัดทีมที่ทำผลงานดีที่สุดจาก 5 ภาค ภาคละ 1 โรงเรียน โรงเรียนละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 25 คน

เอ.พี. ฮอนด้าในฐานะเจ้าของโครงการยังคงมุ่งเน้นเรื่องการทดสอบทักษะพื้นฐานหรือเบสิกในการเล่นฟุตบอล ด้วยมองว่าเบสิกคือรากฐานสำคัญของการเล่นกีฬา หากทักษะพื้นฐานแน่นก็จะช่วยพัฒนาการเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

สำหรับปีนี้ แชมป์ภาคต่างๆ ที่ชนะเลิศในแต่ละภาค ประกอบด้วย แชมป์ภาคอีสาน โรงเรียนประสาทวิทยาคาร จ.สุรินทร์ (แชมป์ประเทศไทย), แชมป์ภาคกลาง โรงเรียนวังตะเคียนวิทยาคม ทีม B จ.ปราจีนบุรี, แชมป์กรุงเทพฯ และปริมณฑล โรงเรียนราชวินิตบางเขน ทีม A, แชมป์ภาคใต้ โรงเรียนกำแพงวิทยา ทีม A จ.สตูล และแชมป์ภาคเหนือ โรงเรียนวชิราลัย ทีม A จ.เชียงใหม่

เยาวชนทั้ง 25 คน ร่วมด้วยโค้ชของแต่ละโรงเรียนได้เดินทางไปอบรมศาสตร์ลูกหนังกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ระหว่างวันที่ 11-19 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้ พอล เชนีย์ หัวหน้าโค้ชฝ่ายพัฒนานักเตะอายุ 12-16 ปี ของอคาเดมีทีมสุนัขจิ้งจอกและทีมงานให้การดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังได้ลงทีมฝึกซ้อมกับทีมระดับยู-14 และยู-16 ในสังกัดอคาเดมีสโมสรด้วย

ทีมงานของเลสเตอร์ ซิตี้ และผู้บริหารเอ.พี. ฮอนด้า ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ

ดร.อรรณพ พรประภา ประธานบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า บริษัทรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนในการร่วมพัฒนาศักยภาพของนักฟุตบอลระดับเยาวชนของประเทศ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เชื่อว่าเด็กๆ จะได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าเพื่อนำไปต่อยอดสานฝันในระดับที่สูงขึ้นไป

Advertisement

ขณะที่ นายสุชาติ อรุณแสงโรจน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ กล่าวว่า โครงการเรด แชมเปี้ยน ดำเนินมาเป็นปีที่ 7 แล้ว คิดว่าหลังจากนี้จะนำข้อมูลต่างๆ กลับไปทบทวนว่า 7 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้มีส่วนในการพัฒนาหรือปลูกฝังแนวคิดเรื่องการเน้นพื้นฐานกีฬาฟุตบอลตั้งแต่ระดับเยาวชนอย่างไรบ้าง ข้อแตกต่างที่เห็นชัดเจนคือ จากเดิมปีแรกๆ ที่แต่ละโรงเรียนซึ่งเข้าร่วมโครงการไม่ได้มีเบสิกฟุตบอลแม่นยำนัก คะแนนที่ทำได้เพียง 200 กว่าจากคะแนนเต็ม 500 แต่มาปีนี้หลายโรงเรียนทำคะแนนได้ถึง 400 กว่าคะแนน แสดงให้เห็นว่าได้มีการเรียนการสอนที่ถูกหลักมากขึ้น

นายสุชาติกล่าวต่อว่า เมื่อด้านทักษะพื้นฐานเริ่มแน่นแล้ว บริษัทอาจจะพิจารณาทำโครงการในระดับที่สูงขึ้นไป แต่จะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องหารือและวิเคราะห์ข้อมูลของ 7 ครั้งที่ผ่านมาก่อน อาจจะทำโครงการเกี่ยวกับฟุตบอลต่อไปโดยจับมือกับสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ อย่างต่อเนื่อง หลังจากได้เล็งเห็นถึงความตั้งใจที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักเตะเยาวชนไทย หรืออาจจะพิจารณากีฬาอื่นที่มองว่าไทยน่าจะสามารถสู้กับคู่แข่งในระดับภูมิภาคอาเซียนหรือเอเชียได้

ด้าน พ.ท.รุจน์ แสงอุดม รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า การพัฒนากีฬาในประเทศนั้นเป็นบทบาทร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการในลักษณะนี้ที่สามารถนำเยาวชนไปฝึกฝนทักษะกับสโมสรฟุตบอลอาชีพในอังกฤษถึงสถานที่จริงนั้น จำเป็นต้องพึ่งภาคเอกชน ขณะเดียวกันภาครัฐก็พร้อมให้การสนับสนุนในส่วนของการพัฒนาในประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายร่วมกันคือการได้เห็นวงการ

ฟุตบอลไทยก้าวไกลในระดับสากล สานฝันสู่การส่งทีมช้างศึกเข้าร่วมศึกฟุตบอลโลกให้ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
สำหรับการลงสนามซ้อมจริงกับทีมเยาวชนอคาเดมีของเลสเตอร์ ซิตี้นั้น แม้ผลออกมาจะเป็นความปราชัยของทีมรวม 5 โรงเรียนในโครงการเรด แชมเปี้ยน แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการได้สัมผัสกับการลงสนามจริงกับทีมที่ผ่านการฝึกฝนอย่างเป็นระบบมาแล้ว

การลงสนามซ้อมจริงกับทีมของอคาเดมีสโมสร

ฐิติ บุญเชิญ เด็กชายเชื้อสายกะเหรี่ยงอายุย่าง 16 ปี จากโรงเรียนวชิราลัย ผู้ทำ 2 ประตูให้กับทีมเรด แชมเปี้ยน กล่าวว่า ตื่นเต้นดีใจตั้งแต่ได้รับเลือกในโครงการ เมื่อได้ไปฝึกฝนจริงก็ได้เรียนรู้ว่าทีมฟุตบอลอาชีพมีการฝึกซ้อมที่เป็นระบบมาก แต่ละวันจะมีตารางเวลาที่แน่นอน เน้นทั้งเรื่องเบสิกและระบบทีม

ฐิติ บุญเชิญ

ในกรณีของฐิตินั้น กีฬาฟุตบอลสำหรับเขามีความหมายมากกว่าแค่การออกกำลังกายหรือกิจกรรมยามว่างในโรงเรียน เนื่องด้วยฐิติเสียคุณพ่อคุณแม่ไปตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ ป.2 จึงต้องไปอาศัยกับญาติ และตอนนี้ก็กินนอนอยู่กับอาจารย์ตั้งแต่ชั้น ม.3 โดยหัดเล่นฟุตบอลตอนอายุ 11-12 ปี หากสามารถต่อยอดกีฬานี้จนไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจกลายเป็นรากฐานอาชีพในชีวิตก็เป็นได้

นายสุชาติ รองประธานกรรมการบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า เด็กๆ ที่เคยร่วมโครงการตลอด 6 ปีที่ผ่านมา หลายคนสามารถพัฒนาตัวเองจนติดทีมชาติระดับเยาวชน หลายคนสานต่อความมุ่งมั่นจนได้ไปเล่นให้กับทีมระดับจังหวัด หรือสโมสรอาชีพในไทย ขณะที่เด็กๆ เหล่านี้เมื่อกลับจากโครงการก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้รุ่นน้องๆ อยากพัฒนาตัวเองตามมา

“อย่างไรก็ตาม คีย์เวิร์ดที่ผมเห็นว่าสำคัญมากๆ คือ ‘ครูพละ’ เพราะครู 1 คน หากมีความรู้ความเข้าใจในการสอนเบสิกที่ถูกต้องก็จะสอนลูกศิษย์ได้อีกเป็นร้อยคน ทุกครั้งที่เราทำโครงการนี้จึงจะพาอาจารย์พลศึกษาร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อให้ได้สัมผัสกับการสอนของสโมสรฟุตบอลอาชีพจริงๆ นำองค์ความรู้ไปต่อยอดต่อไป”

เพื่อผลิตนักเตะเยาวชนที่มีคุณภาพและถูกต้องตามหลักการตั้งแต่ฐานราก เป็นอีกหนึ่งก้าวสู่เป้าหมายวงการลูกหนังที่สูงขึ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image