อีกครั้งกับ “โปรเม” และบทเรียนจากแชมป์ล่าสุด

ถึงจะล่วงมาเพียง 2 สัปดาห์หลังจากเพิ่งเขียนถึง “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟสาวมือ 1 ของไทย แต่ความสำเร็จล่าสุดในระดับ “ประวัติศาสตร์” ที่เพิ่งเกิดเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ก็ชวนให้เก็บตกบรรยากาศน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

เพียง 2 สัปดาห์หลังจากประเดิมคว้าแชมป์แรกของปี 2018 ในรายการ คิงส์มิลล์ แชมเปี้ยนชิพ โปรเมก็มาสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกอล์ฟไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เมเจอร์เก่าแก่ที่สุดของวงการกอล์ฟหญิงซึ่งยังแข่งกันอยู่ในปัจจุบันอย่างศึก ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น พ่วงเข้าไปอีกรายการ นับเป็นแชมป์เมเจอร์ที่ 2 ของเจ้าตัว

เส้นทางสู่แชมป์นี้ของโปรเมตื่นเต้นหวือหวาราวกับรถไฟเหาะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบสุดท้าย และปฏิกิริยาในโลกโซเชียลทั้งไทยและเทศก็แปรผันไปตามฟอร์มของสาวไทยเช่นกัน

Advertisement

ช่วง 9 หลุมแรก โปรเมโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยม เก็บเพิ่ม 4 อันเดอร์พาร์ ทำให้สกอร์รวมเป็น 16 อันเดอร์พาร์ ขึ้นนำอันดับ 2 คิม ฮโย จู จากเกาหลีใต้ถึง 7 สโตรก

กระแสโซเชียลโดยเฉพาะในทวิตเตอร์ โซเชียลมีเดียยอดฮิตของฝั่งตะวันตก เริ่มออกอาการเซ็งๆ บ่นว่าการแข่งขันหมดสนุก พร้อมยกแชมป์ให้สาวไทยแบบไม่ต้องลุ้นใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่สื่อบางสำนักลุ้นว่าเธอจะทำลายสถิติสกอร์สูงสุด 16 อันเดอร์พาร์ ของรายการนี้ได้หรือไม่

Advertisement

แต่แล้วแชมป์ที่ใครก็มั่นใจว่าคงได้แบบชัวร์ๆ กลับพลิกตาลปัตรเมื่อโปรเมเริ่มมาตีหลุดในช่วง 9 หลุมหลัง เสียทั้งสมาธิและความมั่นใจอย่างเห็นได้ชัด สุดท้ายจบ 18 หลุม สกอร์เสมอกับคิม ฮโย จู ที่ 11 อันเดอร์พาร์ ต้องไปตัดสินกันด้วยการดวลเพลย์ออฟ

การเพลย์ออฟ 2 หลุมตามกติกาใหม่ โปรเมตกเป็นรองในหลุมแรก เมื่อสาวเกาหลีพัตเบอร์ดี้ไกลลงไปอย่างเหลือเชื่อ แต่หลังจากกลับมาเสมอกันอีกครั้งในหลุมถัดมา สุดท้ายโปรเมก็อาศัยเกมลูกสั้นอันยอดเยี่ยม ระเบิดทรายในการเพลย์ออฟ 2 หลุมหลัง คว้าชัยชนะไปได้

ปรากฏว่า “ดราม่า” ที่ทำเอาแฟนกีฬาชาวไทยหัวใจแทบวายนี้ ถูกอกถูกใจแฟนกอล์ฟชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก ยิ่งรายการนี้เป็นศึกใหญ่ที่สุดของวงการกอล์ฟหญิงสหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ของวงการสะวิงโลก ทำให้แฟนๆ กอล์ฟเมืองมะกันหลายคนได้ทำความรู้จักและชื่นชมในตัวสาวไทยคนนี้เอามากๆ

ถ้าโปรเมรักษาฟอร์มไร้เทียมทานได้ในช่วงครึ่งหลังจนคว้าแชมป์ชนิดทิ้งห่างคู่ต่อสู้ ฟีดแบ๊กจากแฟนกอล์ฟตะวันตกคงฮือฮาระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่เป็นที่จดจำมากเท่ากับบทสรุปอย่างที่เป็นอยู่นี้

หลังจบทัวร์นาเมนต์นั้น กระแสโซเชียลโลกตะวันตกเต็มไปด้วยเสียงชื่นชม หลายคนยกให้เป็นการแข่งขันกอล์ฟที่สนุกตื่นเต้นที่สุดในรอบหลายปี หรืออาจจะเป็นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ!

เพราะในความทรงจำของแฟนกอล์ฟทั้งหลาย จำไม่ได้ว่าเคยมีใครที่นำเยอะๆ แล้วฟอร์มสะดุดไปดื้อๆ ก่อนจะตั้งหลักใหม่กลับมาคว้าแชมป์ในท้ายที่สุดมาก่อน

กรณีใกล้เคียงที่สุดคือเมื่อครั้ง อาร์โนลด์ พาล์มเมอร์ ตำนานสะวิงชาวอเมริกันผู้ล่วงลับนำห่าง 7 สโตรก ในศึกเมเจอร์ ยูเอส โอเพ่น ปี 1966 แต่สุดท้ายไปพ่ายให้ บิลลี่ แคสเปอร์ ในการดวลเพลย์ออฟ

ความสำเร็จของโปรเมจึงกลายเป็นกรณีตัวอย่างให้สื่อและแฟนกอล์ฟอ้างอิงถึงในหลายประเด็น

ประเด็นแรกสุดคือความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ยอมแพ้ ซึ่งแฟนกีฬาฝรั่งบอกว่า ผลงานในยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ครั้งนี้ของโปรเม คือทุกๆ นิยามของคำว่า resilience หรือการก้าวข้ามความยากลำบาก นำพาสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติหรือกลับสู่เป้าหมายหลักได้สำเร็จ เป็นตัวอย่างที่พ่อแม่บอกว่าจะเอาไว้สอนลูกเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์แบบเดียวกัน

นักกอล์ฟสาวมือ 1 ของไทยบอกว่า เคยเจอเหตุการณ์ใจสลายแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง คือตอนแข่งขัน ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ ที่บ้านเราเมื่อปี 2013 ซึ่งนำ 2 สโตรก แต่เสียทริปเปิลโบกี้ที่หลุมสุดท้ายจนแชมป์หลุดมือ และอีกครั้งกับรายการเมเจอร์ เอเอ็นเอ อินสไพเรชั่น ปี 2016 ที่นำ 2 สโตรกขณะเหลือ 3 หลุม แต่กลับเสียโบกี้ตลอด 3 หลุมสุดท้ายจนหลุดไปจบอันดับ 4

ความล้มเหลวทั้ง 2 ครั้งกลายเป็นบทเรียนให้โปรเมรู้ว่าควรจะรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้อย่างไร ควรเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าตรงนั้นอย่างไร ทำให้ถึงแม้จะไดรฟ์ลูกหรือเล่นเหล็กที่ถนัดไม่ได้ดังใจ ก็ยังมีเกมสั้นเป็นอาวุธเสริมมาทดแทนในเวลาสำคัญ

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่แฟนกีฬาพูดถึงกันมาก คือการที่โปรเมปรบมือให้คิมหลังพัตเบอร์ดี้ไกลลงในการเพลย์ออฟหลุมแรก และอีกครั้งหลังจากระเบิดทราบที่หลุมเพลย์ออฟที่สี่ ซึ่งตอนนั้นผู้บรรยาย พอล เอซิงเกอร์ อดีตนักกอล์ฟระดับแชมป์เมเจอร์ของสหรัฐ ตั้งคำถามว่า “ทำไมโปรเมต้องปรบมือให้คู่แข่ง?” แถมยังพูดพาดพิงถึงโลกที่เปลี่ยนไป และกระแสของโซเชียลมีเดีย คล้ายจะสื่อว่าโปรเมปรบมือเพื่อให้ได้รับเสียงชื่นชมในโลกออนไลน์

งานนี้ทำเอาเอซิงเกอร์โดนแฟนกีฬาชาวอเมริกันถล่มเละ โดยกล่าวว่าในยุคของเอซิงเกอร์ นักกอล์ฟอาจจะขับเคี่ยวกันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่การกระทำของโปรเมคือการแสดงออกซึ่งน้ำใจนักกีฬา เป็นแก่นแท้ของการแข่งขันกีฬาที่ควรได้รับการชื่นชมมากๆ ต่างหาก (เอซิงเกอร์มากลับลำชมโปรเมเรื่องน้ำใจนักกีฬาหลังจบการแข่งขัน คาดว่าหลังจากโดนโซเชียลถล่มไปแล้ว)

เรื่องนี้ใหญ่ถึงขั้นสื่อเอาไปถามโปรเม ซึ่งสาวไทยตอบได้อย่างน่าฟังมากๆ ว่า ปกติเวลาใครเล่นดี ตนก็จะปรบมือให้อยู่เสมอ เพราะช็อตที่ดีก็คือช็อตที่ดี เราไปทำอะไรไม่ได้ และถ้าตนจะคว้าชัยชนะ ก็อยากให้เป็นชัยชนะที่เกิดจากการแข่งขันซึ่งทั้งตัวเองและคู่แข่งต่างก็เล่นได้ดีมากกว่าจะเป็นเพราะคู่แข่งเล่นพลาดเอง

เอซิงเกอร์และทีมผู้บรรยายของช่อง ฟ็อกซ์ ที่ได้รับสิทธิการถ่ายทอดสดรายการนี้ ยังได้รับ “บทเรียน” ส่วนบุคคลไปอีกหลายอย่าง

เนื่องจากทีมโปรดิวเซอร์จับเอซิงเกอร์และ โจ บั๊ค ซึ่งปกติพากย์อเมริกันฟุตบอลและเบสบอลให้ทางช่องมาบรรยายร่วมกับ จูลี่ อิงก์สเตอร์ ตำนานกอล์ฟหญิงสหรัฐ ปรากฏว่าเอซิงเกอร์กับบั๊คไม่ค่อยมีแบ๊กกราวด์เกี่ยวกับกอล์ฟหญิงสักเท่าไร วันแรกๆ ไม่สามารถอ่านชื่อและนามสกุลของโปรเมได้ถูกต้อง แถมยังไม่รู้ว่าการยิ้มก่อนตีลูกเป็นส่วนหนึ่งของท่ารูทีนของโปรเมมานาน 2 ปีเต็มแล้ว

ที่โดนวิจารณ์หนักอีกประการ คือการที่ทั้งเอซิงเกอร์และอิงก์สเตอร์พร้อมใจกันแสดงความเห็นใจโปรเมหลังตกเป็นรองในการเพลย์ออฟหลุมแรก คุยกันถึงขั้นว่าความผิดหวังครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตนักกอล์ฟอาชีพของโปรเมพังทลายจนอาจฟื้นตัวกลับมาไม่ได้อีก จน แบร็ด แฟกซั่น อดีตโปรกอล์ฟดังที่ทำหน้าที่ผู้บรรยายภาคสนามต้องเตือนทั้งคู่ว่า การแข่งขันยังไม่จบ อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปไป และอิงก์สเตอร์ต้องออกปากขอโทษ

เรียกว่าศึกกอล์ฟเมเจอร์รายการสำคัญนี้ นอกจากแฟนๆ จะได้รับความสนุกตื่นเต้นระดับ 5 ดาว รวมถึงมีข้อคิดคำสอนดีๆ จากความสำเร็จของโปรเมไปบอกลูกหลานแล้ว แม้แต่ทีมพากย์ก็ยังได้รับบทเรียนสำคัญกันไปเต็มๆ เช่นกัน 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image