“ยูฟ่า เนชั่นส์ลีก” คืออะไร? รู้จักก่อน เข้าใจก่อน และงงก่อนใครที่นี่!

สุดสัปดาห์นี้ถือเป็นการออกสตาร์ตฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหม่ล่าสุดริเริ่มโดย สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ใช้ชื่อว่าศึก ยูฟ่า เนชั่นส์ลีก ซึ่งเป็นการนำช่วงสัปดาห์เตะแมตช์กระชับมิตรทีมชาติซึ่งกำหนดโดย สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มาจัดระบบระเบียบให้เป็นกิจจะลักษณะ

แถมยังเพิ่มความน่าสนใจด้วยการใส่โควต้าลุยศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ ยูโร 2020 เข้าไป เพื่อให้แต่ละนัดมี “ความหมาย” มากขึ้นอีกต่างหาก

งานนี้ทำเอาแฟนบอลหรือแม้กระทั่งนักเตะงงงวยกันไม่น้อย เนื่องจากยังเป็นระบบใหม่ และมีเงื่อนไขคัดยูโรเพิ่มขึ้นมา เราจึงสรุปๆ เนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการแข่งขัน เพื่อทำความเข้าใจและช่วยให้การตามลุ้นตามเชียร์ทีมโปรดในแต่ละนัดสนุกยิ่งขึ้น

ยูฟ่า เนชั่นส์ลีก มีที่มาอย่างไร?

Advertisement

ว่ากันว่าเมื่อถึงโปรแกรมเตะ “ฟีฟ่าเดย์” ทีไร บางชาติมักจะวางโปรแกรมเตะแบบขอไปที อาจไม่ค่อยตั้งใจเล่นนัก ไม่ได้สนใจผลแพ้ชนะ ฝั่งชาติเล็กๆ ก็มีปัญหาเรื่องการวางโปรแกรมเตะ เพราะทีมใหญ่กว่า มาตรฐานสูงกว่าก็อยากจะเล่นกับทีมระดับเดียวกัน ตัวนักเตะเองก็กลัวเจ็บเพราะเดี๋ยวจะส่งผลไปถึงระดับสโมสร ส่วนแฟนบอลก็ไม่ค่อยสนใจเพราะรู้สึกว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้เต็มที่กับการแข่งขัน

ยกตัวอย่างเกมอุ่นเครื่องระหว่าง ฝรั่งเศส กับ เยอรมนี สองทีมยักษ์ใหญ่ของวงการลูกหนัง ที่เมืองโคโลญจ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่ามีคนซื้อตั๋วเข้าไปชมการแข่งขันค่อนข้างบางตา ทำให้บุคลากรระดับผู้บริหารองค์กรต้องเก็บเป็นประเด็นไปหารือกัน

ในที่สุดยูฟ่าก็เลยนำเสนอทางออกที่น่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยนำ 55 ชาติสมาชิกมาจัดกลุ่มแบ่งลีก วางโปรแกรมเตะให้เสร็จสรรพ แล้วใส่โควต้ายูโร 2020 เข้าไป โดยไม่ให้กระทบกับการแข่งขันรอบคัดเลือกยูโรที่ต้องเตะตามโปรแกรมอยู่แล้วด้วย

Advertisement

รูปแบบการแข่งขันเป็นอย่างไร?

สำหรับรูปแบบการแข่งขันยูฟ่า เนชั่นส์ลีก จะแบ่ง 55 ชาติสมาชิก ออกเป็น 4 ดิวิชั่่น เรียกว่า “ลีก” ลีกเอ มี 12 ทีม, ลีกบี 12 ทีม, ลีกซี 15 ทีม และ ลีกดี 16 ทีม โดยเรียงลำดับจากค่าสัมประสิทธิ์ของยูฟ่าเป็นหลัก เพื่อให้การประกบคู่แต่ละครั้ง มาตรฐานของทีมจะค่อนข้างใกล้เคียงกัน

แต่ละลีกจะแบ่งย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ทีม ซึ่งการแบ่งกลุ่มนั้นใช้วิธีจับสลาก (ทำพิธีกันไปเมื่อเดือนมกราคม) แข่งขันแบบพบกันหมดในกลุ่มในระบบเหย้า-เยือน ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายนปีนี้

แชมป์ของแต่ละกลุ่มในลีกเอจะผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เรียกว่า ยูฟ่า เนชั่นส์ลีก ไฟนัลส์ แข่งขันในวันที่ 5-9 มิถุนายนปี 2019 โดย 1 ใน 4 ชาตินั้นจะรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ แบ่งสายเตะรอบรองชนะเลิศ เพื่อหาผู้ชนะไปเตะรอบชิงชนะเลิศได้ถ้วยรางวัล ส่วนผู้แพ้ต้องเล่นรอบชิงอันดับ 3

ส่วนทีมที่จบอันดับบ๊วยของแต่ละกลุ่มในลีกเอ, ลีกบี และลีกซี จะตกชั้นไปเล่นลีกลำดับรองลงไปในฤดูกาล 2020-2021 (ยกเว้นลีกดีที่ไม่มีการตกชั้น) ขณะที่ทีมแชมป์กลุ่มของแต่ละกลุ่มในลีกบี, ลีกซี และลีกดี จะได้เลื่อนชั้นขึ้นไปในฤดูกาลถัดไปเช่นกัน

การเตะรอบคัดเลือกยูโร 2020 จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่?

ยูฟ่ายืนยันว่าการเตะรอบคัดเลือกยูโร 2020 นั้นจะดำเนินไปตามเดิมโดยแทบไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือโปรแกรมแต่อย่างใด ชาติสมาชิกยูฟ่าทั้ง 55 ชาติ จะถูกจับแบ่งกลุ่มเตะรอบคัดเลือก ทำการจับสลากในเดือนธันวาคมปีนี้ แบ่งเป็น 10 กลุ่ม กลุ่มละ 5-6 ทีมโดยไม่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเนชั่นส์ลีก แต่ระยะเวลาการเตะรอบคัดเลือกจะสั้นลง คือกินเวลาระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2019

ทีมอันดับ 1 และ 2 ของทั้ง 10 กลุ่ม จะได้สิทธิเข้าไปเล่นยูโร 2020 โดยอัตโนมัติ เท่ากับว่าจะได้ทีมแข่งขันแล้ว 20 จากทั้งหมด 24 ทีมที่ทางยูฟ่ากำหนดไว้ โดยยูโรรอบนี้เนื่องจากเป็นการจัดร่วมกันในหลายประเทศ จึงไม่มีโควต้าสำหรับเจ้าภาพ

เนชั่นส์ลีกจะคัดทีมไปเตะยูโร 2020 อย่างไร?

รอบคัดเลือกยูโร 2020 ตามปกติจะได้ทีมเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย 20 ทีม ยังเหลือโควต้าอีก 4 ทีม ครั้งนี้จะไม่มีการนำทีมอันดับ 3 ที่ดีที่สุดของรอบคัดเลือกไปเตะเพลย์ออฟกันเหมือนที่เคยเป็น แต่จะหาโควต้าที่เหลือจากศึกเนชั่นส์ลีกแทน

ทีมที่มีผลงานดีที่สุดของแต่ละกลุ่มในแต่ละลีกจะมาเตะเพลย์ออฟกันแบบแบ่งสายน็อกเอาต์ 4 ทีมในเดือนมีนาคมปี 2020 ทีมชนะเลิศเพลย์ออฟของแต่ละลีก รวม 4 ทีม จะได้สิทธิเข้าแข่งขันยูโร 2020

อย่างไรก็ตาม ถ้าทีมที่ผลงานดีที่สุดของแต่ละกลุ่มได้สิทธิเข้ารอบตามแมตช์คัดเลือกตามปกติไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก็จะเลื่อนทีมที่ผลงานดีที่สุดของลีกในลำดับรองลงมาไปเตะเพลย์ออฟแทน แต่ถ้าลีกนั้นมีทีมเข้ารอบสุดท้ายไปเยอะแล้วจนเหลือทีมเตะเพลย์ออฟไม่ถึง 4 ทีม ก็จะขยับทีมที่มีผลงานดีที่สุดในลีกรองลงมาขึ้นไปเตะเพลย์ออฟแทน

เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นจึงขอยกตัวอย่างด้วยการจำลองสถานการณ์ดังนี้

สมมุติว่าในลีกเอ ทีมผลงานดีที่สุดของกลุ่ม 1 คือ ฝรั่งเศส กลุ่ม 2 คือ เบลเยียม กลุ่ม 3 คือ อิตาลี และกลุ่ม 4 คือ สเปน ปรากฏว่าในจำนวนนี้ ฝรั่งเศส เบลเยียม และสเปน ผ่านเข้ารอบสุดท้ายยูโร 2020 ตามขั้นตอนปกติไปแล้ว เหลืออิตาลีอยู่ทีมเดียว ก็ต้องเลื่อนทีมที่ผลงานรองๆ ลงมาของกลุ่ม 1, 2 และ 4 ในลีกเอไปเตะเพลย์ออฟกับอิตาลีแทน

แต่! เรื่องยังไม่จบแค่นั้น! สมมุติต่ออีกว่า ถ้าในลีกเอ 12 ทีมนั้น ได้โควต้าไปแล้ว 10 ทีม เหลืออิตาลีกับสวิตเซอร์แลนด์แค่ 2 ทีมเท่านั้น ยูฟ่าไม่ปล่อยให้ 2 ทีมนี้เตะกันเองเพื่อลุ้นโควต้า แต่จะขยับทีมที่อันดับดีที่สุดของลีกบีที่ยังไม่ได้เพลย์ออฟในลีกตัวเองขึ้นมาเตะกับอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์แทน

สมมุติสถานการณ์ลีกบีว่า ทีมที่ผลงานดีที่สุดกลุ่ม 1 คือ ยูเครน กลุ่ม 2 คือ สวีเดน กลุ่ม 3 คือ ออสเตรีย และกลุ่ม 4 คือ เดนมาร์ก ปรากฏว่าในจำนวนนี้ สวีเดนกับเดนมาร์กได้โควต้าไปก่อนแล้ว จะเลื่อนทีมที่ผลงานรองลงมาของกลุ่ม 2 และกลุ่ม 4 (สมมุติว่าเป็น รัสเซีย กับ ไอร์แลนด์เหนือ) ขึ้นไปเตะเพลย์ออฟกับยูเครนและออสเตรีย

หลังจากนั้นจึงดูว่าทีมที่ผลงานดีที่สุดจากทีมที่เหลืออยู่ในลีกบี (กรณีนี้จะเหลือ 6 ทีม เพราะได้โควต้าตามวิธีปกติไปแล้ว 2 ทีม และได้สิทธิเตะเพลย์ออฟแล้ว 4 ทีม) เอา 2 ทีมไปเตะเพลย์ออฟกับอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ของลีกเอ

ขั้นตอนเรื่องการพิจารณาอันดับที่ดีที่สุดของแต่ละลีกเพื่อหาทีมเตะเพลย์ออฟนี่เองที่หลายคนเชื่อว่าจะสร้างความปวดหัวให้กับแฟนบอลไม่น้อย แต่ถ้าคิดว่าเดี๋ยวยูฟ่าจะจัดการคำนวณให้เสร็จสรรพก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสังเกตขึ้นมาคือ หากยึดตามวิธีนี้ คือให้แต่ละลีกเตะเพลย์ออฟกันเองเพื่อหาตัวแทนไปเล่นรอบสุดท้าย 4 ทีม หมายความว่าลีกดีซึ่งเป็นลีกที่ประกอบด้วยทีมชาติที่มีค่าสัมประสิทธิ์ต่ำสุด 16 ทีม ก็จะมีตัวแทนทีมใดทีมหนึ่งได้โควต้าไปเตะรอบสุดท้ายด้วย

ซึ่งอาจหมายถึงประเทศเล็กๆ ที่เคยโดนถล่มเละในรอบคัดเลือก อาทิ ซานมาริโน หมู่เกาะแฟโร หรือ ลิกเตนสไตน์ ก็อาจหักด่านเข้าไปเล่นยูโร 2020 กับเขาได้เหมือนกัน

เรื่องนี้ถือว่าแฟร์กับทีมที่มาตรฐานสูงกว่าแต่อาจอันดับไม่ดีในลีกที่สูงกว่านั้นหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยูฟ่าคงต้องไปถกกันต่ออีกที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image