บอร์ดฟีฟ่าประชุมที่ไทย ผ่านมติปรับคิวเตะฟุตบอลหญิง-เพิ่มชิงแชมป์สโมสรโลก

บอร์ดฟีฟ่าประชุมที่ไทย ผ่านมติปรับคิวเตะฟุตบอลหญิง-เพิ่มชิงแชมป์สโมสรโลก

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม คณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือ “ฟีฟ่า คองเกรส” ครั้งที่ 74 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยมี “มาดามแป้ง” นางนวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมประชุมด้วย

จานนี อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่า เปิดเผยว่าในการประชุมดังกล่าวได้มีการตัดสินใจหลายประการที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลหญิง ที่จะมีการปรับปฏิทินการแข่งขันระดับนานาชาติใหม่ ในช่วงปี 2026-2029

อินฟานติโน่ กล่าวว่า จากกระบวนการศึกษาและหารือโดยได้รับข้อมูลจากการวิจัยและวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง ร่วมกับสมาชิกต่างๆ ซึ่งมีการคำนึงถึงผู้เล่นเป็นหลัก ฉะนั้นในปฏิทินการแข่งขันของฟุตบอลหญิง จะลดช่วงแข่งขันจากเดิม 6 ครั้งต่อปี เป็น 5 ครั้ง เพื่อให้ผู้เล่นได้มีโอกาสในการพักฟื้นร่างกาย รวมถึงเอื้อต่อการแข่งขันฟุตบอลลีกแต่ละประเทศกับการเดินทางที่ลดลงด้วย

คณะกรรมการบริหารฟีฟ่า ยังได้ผ่านมติให้การจัดตั้งการแข่งขันสโมสรฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก “ฟีฟ่า วีเมนส์ คลับ เวิลด์คัพ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2026 โดยจะมี 16 ทีมเข้าร่วมแข่งขัน และจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี ส่วนเรื่องของเจ้าภาพและโควต้าของทีมแต่ละทวีปจะมีการตัดสินใจภายหลังอีกครั้งหนึ่ง

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันเพื่อพัฒนาสโมสรฟุตบอลหญิงทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มการจัดการแข่งขันสโมสรฟุตบอลหญิงจากฟีฟ่าเพิ่มอีกหนึ่งรายการ ในปีที่ไม่มี “ฟีฟ่า วีเมนส์ คลับ เวิลด์คัพ” ซึ่งจะเริ่มในปี 2027 เป็นต้นไป

นอกจากนี้คณะกรรมการฟีฟ่ายังได้แต่งตั้ง มัทเทียส กราฟสตรอม ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการฟีฟ่าอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้านี้เขาได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรักษาการตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

ทั้งนี้ มติของคณะกรรมการบริหารฟีฟ่า จะมีการรับรองในที่ประชุมใหญ่ของการประชุมฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 ในช่วงเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อีกครั้ง นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวจะมีวาระ ใหญ่ที่สุดคือ การโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลหญิง ชิงแชมป์โลก 2027 โดยมี 2 กลุ่มที่เสนอตัว ประกอบด้วย กลุ่มประเทศยุโรป เบลเยียม , เยอรมนี และ เนเธอร์แลนด์ และ อีกหนึ่งประเทศ คือ บราซิล ซึ่งเงื่อนไข การชนะคือ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจาก 211 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม