แนะส่งมาตรฐานการสร้างสนามฟุตบอลให้ ‘สมาคมสถาปนิกสยาม’ ศึกแนวทางแก้ไขรองรับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ในอนาคต

คณะกรรมาธิการจัดประชุมร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เกี่ยวกับการปรับปรุงสนามแข่งขัน เพื่อเตรียมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี 2020 รอบสุดท้าย เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย

หลังการประชุม นายพาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศฯ กล่าวว่า การปรับปรุงสนามเชียงใหม่ สมโภช 700 ปี เพื่อเตรียมแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มีความล่าช้า ทำให้ทางสมาคมและ กกท.มาชี้แจงข้อมูล พร้อมกับชี้แจงความสำคัญ รูปแบบการจัดการแข่งขัน ว่าเราได้สิทธิการจัดแข่งขันนี้มาได้อย่างไร มีเหตุขัดข้องตรงไหน จึงไม่สามารถใช้สนามสมโภช เชียงใหม่ 700 ปี จัดการแข่งขันได้ เมื่อไม่สามารถใช้สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ทำไมจึงใช้สนามบุรีรัมย์ คือ ขอให้สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ตรวจสอบสนาม บีจี ปทุมธานี, เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด และสนามอื่นๆ ในช่วงที่มาตรวจสนามช่วงเดือนกุมภาพันธ์

นายพาทิศกล่าวอีกว่า เมื่อแจ้งว่าสนามเชียงใหม่ใช้ไม่ได้ เอเอฟซีได้อนุญาตให้นำเสนอข้อมูลของสนามต่างๆ ซึ่งนำเสนอสนามที่เคยจัดการแข่งขันระดับเอเอฟซี เนื่องจากรู้มาตรฐานอยู่แล้ว จากเวลาที่เหลืออยู่ สนามช้าง อารีนา ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีส่วนที่ต้องปรับปรุงน้อยที่สุด ทำให้เอเอฟซีเลือกสนามแห่งนี้

“ท่านประธานในการประชุมก็ให้การบ้าน หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าต้องนำมาตรฐานระเบียบต่างๆ ของการสร้างสนามกีฬาส่งให้กับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อศึกษาเป็นแนวทาง เพื่อปรับปรุงสนามกีฬาให้ได้มาตรฐานให้มีความพร้อมรองรับการแข่งขันกีฬาในอนาคตอยู่ตลอดเวลา” นายพาทิศกล่าว

Advertisement

สำหรับ 4 สนามที่ได้รับเลือก จัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี รอบสุดท้าย มี สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต, สนามติณสูลานนท์ และสนามช้าง อารีนา นอกจากนี้ เอฟเอซีมีกำหนดการเดินทางมาประเทศไทย เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการปรับปรุงสนามอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และจะส่งมอบภายในวันที่ 15 ธันวาคม ต่อไป

ติดตามข่าวเด็ดกีฬาดัง ทาง Line@ มติชนกีฬา (@matisport) คลิกเลย
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image