ส่องกฎ ‘ฟีฟ่า’ ไทยโต้โผอาเซียน ชิงเจ้าภาพบอลโลก

การประชุม “รัฐมนตรีกีฬาอาเซียน” ที่ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องสำคัญที่ทั้ง 10 ประเทศหารือคือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน “ฟุตบอลโลก ..2034 ของอาเซียน พร้อมกับให้ 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ร่วมกันจัดทำข้อมูลทางเทคนิคประกอบการเสนอตัว โดยมีไทยเป็นโต้โผหลัก

ตัวแทนประเทศไทยคือ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอบรับมติที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีความยินดีและเห็นชอบตามมติที่ประชุม อย่างไรก็ตาม ต้องนำผลการประชุมครั้งนี้ไปนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนก่อน

โดยที่ประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียนกำหนดให้คณะทำงานร่วมกันของ 5 ชาติอาเซียนประชุมครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียในโอกาสต่อไป

แนวคิดการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ.2034 นั้น เริ่มจาก ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมกับประชาคมอาเซียนประกาศจุดยืนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ใน 15 ปีข้างหน้า ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

Advertisement

ฟุตบอลโลก คือทัวร์นาเมนต์กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ชมเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านคนตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (1998-2018) ยังไม่รวมผู้ชมจากทางโทรทัศน์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดฉบับแดนหมีขาว ที่ประเทศรัสเซีย มีผู้ชมมากถึง 3.57 พันล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศระหว่าง “ทีมชาติฝรั่งเศส” กับ “โครเอเชีย” มีผู้ชมสูงถึง 1.12 พันล้านคน

ประเด็นดังกล่าวคือ ประโยชน์ที่ประชาคมอาเซียนจะได้รับจากการเปิดตัวให้โลกได้เห็นว่าชาติอาเซียนมีศักยภาพที่จะจัดอีเวนต์ใหญ่ระดับโลก และยังเป็นการปักหมุดภูมิภาคอาเซียนไปยังแผนที่โลกเพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้จักอีกด้วย

Advertisement

ยังไม่รวมถึงเรื่องของเม็ดเงินมหาศาล ที่จะไหลเวียนเข้ามาช่วยกระตุ้นเรื่องของเศรษฐกิจ, การท่องเที่ยว, การบริการต่างๆ, ร้านอาหาร รวมถึงโรงแรม ซึ่งจะก่อให้เกิดอัตราการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นในระยะสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ใครๆ อยากจะเป็นก็ได้…!!!

อันดับแรกคู่แข่งในการเสนอตัว ซึ่งฟุตบอลโลก 2034 ตอนนี้ที่ประกาศตัวขอเป็นเจ้าภาพเปิดหน้ามาแล้วหลายชาติ ทั้งที่ขอจัดเดี่ยวอย่างจีน, อียิปต์, ซิมบับเว, ไนจีเรีย หรือที่ขอเป็นเจ้าภาพร่วมอย่าง “ออสเตรเลีย” กับ “นิวซีแลนด์”

เราจะมาดูกันว่า การจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการเตรียมความพร้อมอีกหลายต่อหลายด้าน

ดังนั้นการจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกนั้น ต้องมีอะไรบ้าง

อันดับแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือ เรื่องของสนามแข่งขัน การจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ค.ศ.2034 นั้น อนุมานว่าฟีฟ่าเพิ่มจำนวนทีมเป็น 48 ทีม (ซึ่งจะเริ่มใช้จริงในฟุตบอลโลก 2026) จะทำให้ต้องมีสนามแข่งขันทั้งหมด 16 สนามด้วยกัน

แบ่งออกเป็นสนามที่จะใช้ในรอบแรก จนถึงรอบสอง ต้องมีความจุไม่ต่ำกว่า 40,000 ที่นั่ง จากนั้นรอบก่อนรองชนะเลิศขึ้นไป จะต้องเป็นสนามระดับ 60,000 ที่นั่ง และรอบชิงชนะเลิศกับนัดเปิดสนาม จะต้องเป็นสนามที่มีความจุไม่ต่ำกว่า 80,000 ที่นั่ง

ด้วยความที่ไทยเป็นโต้โผใหญ่ในการจะรวม 5 ชาติอาเซียน เชื่อว่าไทยต้องจองอย่างน้อยไม่พิธีเปิด ก็ต้องเป็นพิธีปิด ที่จะต้องใช้สนามของไทย แต่ปัญหาคือ ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีสนามที่มีความจุระดับ 80,000 ที่นั่ง

สนามของไทยที่มีความจุมากที่สุดเวลานี้คือ “ราชมังคลากีฬาสถาน”  ที่มีความจุประมาณ 43,000 ที่นั่ง ซึ่งไม่พอสำหรับการจัดในนัดเปิดหรือนัดปิดแน่นอน ซึ่งราชมังคลากีฬาสถานต้องปรับปรุงกันแบบยกเครื่อง ถ้าจะใช้เป็นสังเวียนฟุตบอลโลก

ถ้าจะจัดพิธีเปิด หรือปิด ไทยจะต้องสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่ขึ้นมา ที่มีระดับความจุไม่ต่ำกว่า 80,000 ที่นั่ง หรือไม่ก็อาจจะต้องยอมให้ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ที่มีสนามที่พร้อมกว่า ได้รับเกียรติในการจัดพิธีเปิด กับนัดชิงชนะเลิศไป

นอกจากนี้สนามเดียวยังไม่พอ จาก 16 สนาม 5 ประเทศ หารออกมาแล้วไทยจะต้องมีสนามอย่างน้อย 3-4 สนาม ซึ่งตอนนี้มีแค่ 1 เท่ากับว่าจะต้องสร้างในระดับ 80,000 ที่นั่ง สำหรับนัดชิง 1 สนาม, สนามระดับ 60,000 ที่นั่ง อีก 1 หรือ 2 (ถ้าหากราชมังคลาฯปรับให้ถึง 60,000 ไม่ได้) และสนามขนาด 40,000 ที่นั่ง อีกอย่างน้อย 1 สนาม

เงื่อนไขการสร้างสนาม ปัจจัยหลักต้องมาดูเรื่องการคมนาคม ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดคือ สนามบิน โดยเงื่อนไขของฟีฟ่าคือ สนามบินจะต้องไม่ห่างจากสนามแข่งขัน และรองรับผู้โดยสายได้ไม่ต่ำกว่า 1,450 คนต่อชั่วโมง

สุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ไม่ใช่ปัญหาแน่นอน ดังนั้นถ้าจะสร้างสนามก็ต้องอยู่ในละแวกกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล แต่ถ้าหากจะไปสร้างที่อื่น คงต้องไปพัฒนาเรื่องของสนามบินขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง

ถัดจากสนามแข่งขัน และการเดินทาง มาที่เรื่องของ ที่พัก เจ้าภาพฟุตบอลโลกจะต้องมีโรงแรมไม่ต่ำกว่า 1,700-8,000 ห้อง และยังจะต้องมีแคมป์ฝึกซ้อมในละแวกไม่ไกลจากที่พักมาก ให้กับแต่ละทีมที่มาเข้าแข่งขัน

อีกหนึ่งจุดใหญ่ที่น่าเป็นห่วงคือ การจัดร่วมกันของ 5 ประเทศ ซึ่งไม่สามารถบอกได้เลยว่าทั้ง 5 ชาติจะสามารถทำตามเงื่อนไขของฟีฟ่าพร้อมกันทุกเรื่องหรือไม่

ในประวัติศาสตร์มีการจัดฟุตบอลโลกที่เป็นเจ้าภาพร่วมมาแล้วครั้งหนึ่งในทวีปเอเชีย คือเมื่อปี ค.ศ.2002 ซึ่งครั้งนั้น ญี่ปุ่น กับ เกาหลีใต้ 2 ชาติที่พัฒนาเรื่องของฟุตบอลมาอย่างยาวนานและแข็งแกร่งแล้ว พวกเขามีความพร้อมในด้านสนามแข่งขัน แบบที่สร้างใหม่กันไม่กี่สนามเท่านั้น

หรืออย่างในอีก 7 ปีข้างหน้า เป็นครั้งที่สองที่มีเจ้าภาพร่วมคือ 3 ยักษ์ใหญ่แห่งทวีปอเมริกาเหนือ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา-แคนาดา-เม็กซิโก เรื่องความพร้อมไม่ต้องพูดถึง สหรัฐเคยจัดเดี่ยวๆ มาแล้วเมื่อปี 1994 หรือแคนาดา เคยจัดฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2015 ส่วนเม็กซิโกเป็นเจ้าภาพมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 1970 กับ 1986 ดังนั้นเรื่องความพร้อมของ 3 ชาติไม่มีอะไรน่ากังวล

จาก 5 ประเทศที่จะร่วมกันจัดฟุตบอลโลก ค.ศ.2034 นอกจากมาเลเซียกับอินโดนีเซีย ที่เหลือทั้ง ไทย, เวียดนาม และสิงคโปร์ ล้วนแต่ต้องสร้าง ต้องสร้างสนามกันยกใหญ่ ถ้าหากมีชาติใดชาติหนึ่งพลาดมา ก็อาจจะโดนยึดสิทธิได้เลย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของงบประมาณในการจัดการแข่งขัน ย้อนไปเมื่อปี 2014 ที่ บราซิล เป็นเจ้าภาพ ใช้งบประมาณ 11,600,000,000 เหรียญสหรัฐ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 353,000,000,000 บาท ซึ่งไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นการลงทุนจากภาคเอกชน เท่ากับว่ารัฐบาลต้องลงทุนเองเกือบ 265,000,000,000 บาท

งบประมาณของบราซิลนั้น ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสนามกีฬาและปรับปรุงเมืองในด้านต่างๆ ทั้งถนนหนทาง, การขนส่ง ซึ่งจาก 12 เมืองที่เป็นเจ้าภาพ มีถึง 5 เมืองที่ต้องปรับปรุงใหม่แบบทั้งหมด ดังนั้นด้วยต้นทุนการจัดการแข่งขันที่สูงมหาศาล ทำให้ไม่ค่อยได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนบราซิลจนก่อการจลาจลประท้วงรัฐบาลทั้งก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง และหลังแข่งขัน

ส่วนฟุตบอลโลกหนล่าสุด ที่ประเทศรัสเซีย ก็ใช้งบประมาณไปทั้งหมด 11,800,000,000 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 360,000,000,000 บาท

สรุปแล้ว การจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ว่ากันตามตรงตอนนี้ทั้ง 5 ชาติอาเซียน หากเป็นเด็กก็เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่เสียด้วยซ้ำ แม้จะมีเวลาในการเตรียมตัว 15 ปีก็ตาม

นี่เป็นภารกิจของชาติอาเซียนที่สาหัสสากรรจ์เลยทีเดียว…!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image