‘พาทิศ’ มองแง่ดีคิวเตะไทยลีกชนพรีเมียร์ ชี้คนดูบอลต่อเนื่อง-รอหาผู้หนุนถ่ายสดรายใหม่
ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ กำหนดวันเปิดฤดูกาล 2020/21 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเปิดในวันที่ 12 กันยายน และไปสิ้นสุดในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ตรงกับการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก ฤดูกาล 2020/21 ที่จะกลับมาลงเล่นเกมที่ 5 ในวันที่ 12 กันยายนนี้ และแข่งไปจนจบเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ.2564 เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยัง “พ่อบ้านโจ” นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ถึงกรณีที่โปรแกรมไทยลีกตรงกับลีกที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลกอย่างพรีเมียร์ลีก จะมีผลกระทบต่อการชมฟุตบอลไทยหรือไม่ โดยนายพาทิศ กล่าวว่า ในมุมของคนดูฟุตบอลคิดว่าน่าจะเป็นการเกื้อหนุนกัน เมื่อดูฟุตบอลไทยลีกในช่วงเย็น-หัวค่ำ แล้วก็สามารถดูฟุตบอลอังกฤษต่อได้เลย ขณะเดียวกันฟุตบอลของทั้งสองลีกนั้นก็มีแฟนบอลเป็นของตัวเอง และแน่นอนว่าต้องมีคนที่ชอบทั้งสองลีกเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องดูทุกคู่ คิดว่าแฟนบอลไทยนั้นจะเลือกดูเฉพาะทีมที่ตัวเองเชียร์ หรือคู่ที่เป็นการเจอกันของทีมใหญ่ๆ หรืออย่างในไทยลีก ก็จะเชียร์ทีมที่ตัวเองมีความใกล้ชิด ทีมจังหวัดตัวเอง ทีมท้องถิ่นตัวเอง ก็จะตามไปให้กำลังใจกันได้
ขณะที่โปรแกรมการแข่งขันไทยลีกนั้น จะเป็นช่วงเวลา 18.00 น., 19.00 น. และ 20.00 น. จะมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเพื่อไม่ให้ชนกับพรีเมียร์ลีก หรือไม่ นายพาทิศ กล่าวว่า คงจะต้องปรึกษากับบริษัทที่จะได้รับหน้าที่ถ่ายทอดสด ว่าสะดวกหรือคิดว่าช่วงเวลาใดเหมาะสม เวลาเดิมนั้นเป็นการหารือกับทรูวิชั่นส์ แต่พ้น 25 ตุลาคม ก็หมดสัญญาแล้ว ดังนั้นต้องรอคุยกับเจ้าใหม่แทน
ส่วนกรณีที่การเจรจาระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กับบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือทรูวิชั่นส์ ได้ข้อสรุปว่าทรูวิชั่นส์ จะถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก ไปจนสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคมนี้เท่านั้น พร้อมให้สมาคมฯ ไปหาผู้ถือลิขสิทธิ์รายใหม่ เพื่อเข้ามาสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ แต่เปิดช่องให้ใช้ช่องทางในการถ่ายทอดสดได้นั้น
นายพาทิศ กล่าวว่า จากการประชุมดังกล่าวทำให้ชัดเจนแล้วว่าทรูวิชั่นส์จะรับสัญญาณถ่ายทอดสดถึงแค่ 25 ตุลาคมเท่านั้น ต้องให้เวลากับพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในการหาช่องทางให้รายอื่นเข้ามาสนับสนุนต่อ แนวทางนั้นเป็นไปได้ทั้งเอกชน หรือภาครัฐบาล แต่ก็ยอมรับว่าถ้าเป็นเอกชนคงไม่ง่าย เพราะบริษัทนั้นๆ ต้องไปคำนวณตัวเลขด้านการตลาด เพื่อให้ได้กำไร ส่วนฝั่งของรัฐบาลนั้น ทางสมาคมฯ ก็ต้องคิดตัวเลขว่าตัวเลขขั้นต่ำเพื่อพยุงให้ฟุตบอลอาชีพแข่งขันจนจบได้ อยู่ที่เท่าไหร่