‘ลูกหนังไทย’ ฝ่ามรสุมโควิด กู้เงินพยุงวงการ

‘ลูกหนังไทย’ ฝ่ามรสุมโควิด กู้เงินพยุงวงการ

ฟุตบอลไทย – กลายเป็นปัญหาใหญ่โตไปแล้ว สำหรับวงการฟุตบอลไทย เมื่อ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เตรียมจะต้องหาเงินกู้เพื่อมาพยุงการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของเมืองไทยให้สามารถดำเนินไปได้

ปัญหาดังกล่าวเริ่มจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โรคโควิด-19 ทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศ ต้องหยุดพักไปตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ก่อนที่จะมีมติเลื่อนและปรับปฏิทิน มาเป็นการแข่งขันระหว่างเดือน กันยายน-พฤษภาคม

ทว่าการเลื่อนดังกล่าว บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (มหาชน) จำกัด หรือ ทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเดิม ไม่เห็นด้วย เนื่องจากว่าสัญญาเดิมจะหมดลงในวันที่ 25 ตุลาคม ขณะที่ทรูวิชั่นส์ เมื่อไม่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลในฤดูกาลหน้า จึงได้มีการวางผังโปรแกรมใหม่ ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกต่อไปได้

ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของทรูวิชั่นส์ ฤดูกาลนี้อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งได้มีการจ่ายเงินก้อนแรกให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไปแล้ว 400 ล้านบาท เท่ากับว่าถ้าหากฟุตบอลไทยลีกแข่งไม่ถึง 1 ใน 3 ของฤดูกาล (เป็นอย่างน้อย) ก่อนถึงวันที่ 25 ตุลาคม สมาคมจะต้องนำเงินไปคืนให้กับทรูวิชั่นส์ตามจำนวนนัดที่ขาดไป

Advertisement

แต่ที่แน่นอนแล้วคือ สมาคมฟุตบอลฯ จะไม่ได้รับเงินอีกจำนวน 800 ล้านบาท ที่ต้องได้จากทรูวิชั่นส์ ที่เป็นส่วนของค่าลิขสิทธิ์ที่เหลือ มันจึงทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับการจัดแข่งขัน

เนื่องจากว่า โดยปกติแล้ว เงินสำหรับการจัดฟุตบอลลีกภายในประเทศ นอกเหนือจากเงินจากสปอนเซอร์ที่เป็นไตเติ้ลสปอนเซอร์อย่าง โตโยต้า ที่สนับสนุน “โตโยต้า ไทยลีก” หรือ เอ็ม-150 ที่สนับสนุนระดับไทยลีก 2 เงินในส่วนของการจัดการแข่งขันและเงินสนับสนุนทีมทั้งหมด ล้วนแล้วแต่มาจากเงินค่าลิขสิทธิ์ของทรูวิชั่นส์ล้วนๆ

จากการประมาณการด้านรายรับ-รายจ่าย ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่เปิดเผยออกมาล่าสุดนั้น ปี 2563 จะมีรายได้รวม 1,830,495,825.59 บาท รายจ่ายรวม 1,767,985,024.46 บาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่าย ภาษีเงินได้ 65,000,000 บาท จะทำให้สมาคม นั้นขาดทุนอยู่แล้ว 2,489,189.87 บาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรก จากรายรับรวมที่คาดเอาไว้ราว 1,800 ล้านบาทนั้น สมาคม

ได้รับมาแล้วแค่ 745,126,296.77 บาท ซึ่งประมาณการรายได้ครึ่งปีหลังที่คาดเอาไว้ 1,085,396,528.82 บาท แต่ด้วยจากสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งเรื่องของทรูวิชั่นส์ ที่จะขาดเงินจำนวน 800 ล้านบาทไป รวมถึงสปอนเซอร์รายอื่นๆ ที่มีการถอนตัวไปกว่า 80% จะทำให้เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้เท่าที่คาดเอาไว้แน่นอน

ทำให้สมาคมจำเป็นจะต้องไปหาเงินเพื่อมาใช้สำหรับจัดในฤดูกาลนี้ หลังจากที่หมดสัญญากับทรูวิชั่นส์

“บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ บอกว่า ทาง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ดำเนินการหาเงินช่วยเหลือสมาคมตามช่องทางที่สามารถทำได้ คือ เรื่องเงินรางวัล และค่าตอบแทนบุคลากร ที่ กกท.เคยสนับสนุนมาตั้งแต่อดีต ก่อนหยุดชั่วคราวเมื่อปี 2559

ส่วนเงินก้อนอื่นนั้น จากการประชุมสภากรรมการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่่ผ่านมา ได้มีมติให้สมาคม สามารถไปหาเงินกู้จากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการแข่งขัน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ

พล.ต.อ.สมยศ บอกอีกว่า เงินจำนวนดังกล่าว ก็จะมาจากการหาเงินสนับสนุนจากองค์กรนอกประเทศอย่าง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ในการขอนำเงินสนับสนุนในปีถัดไปมาหมุนเวียนใช้ก่อน ขณะที่เอกชนในประเทศนั้น ได้มีการพูดคุยกับ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานบริหารกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ที่ได้รับปากว่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ และยังมีอีกหลายบริษัทที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกสุดท้ายคือ การนำเงินจากครอบครัวตัวเอง มาให้สมาคมกู้ยืม อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เงินจำนวนเหล่านี้ จะต้องเร่งหามาให้ได้ก่อนที่จะกลับมาคิกออฟกันอีกครั้ง วันที่ 12 กันยายนนี้ ถ้าหากว่าไม่สามารถหามาได้ อาจจะทำให้ไม่สามารถกลับมาแข่งขันกันต่อได้

นอกจากนี้ ในการจะกลับมาแข่งขัน ยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามระเบียบของ ศบค. ซึ่งทางสมาคม เองรับปากว่าจะช่วยออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับทุกทีม

แต่สมาคมก็มีมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ อย่างเช่น การลดเงินผู้ตัดสิน และผู้ควบคุมการแข่งขันครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการตัดงบประมาณในส่วนของการใช้เทคโนโลยีอย่าง วิดีโอช่วยตัดสิน (วีเออาร์) ที่มีค่าใช้จ่ายต่อนัดที่ 78,000 บาท ออกไป เพียงแต่เปิดช่องให้ทีมใดที่ต้องการใช้ สามารถออกเงินด้วยตัวเองได้

ปกติแล้ว ทีมในระดับไทยลีก 1 จะได้รับเงินสนับสนุนทีม ทีมละ 20 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับเงินพัฒนาทีมอีก 5 ล้านบาท ส่วนไทยลีก 2 จะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 3 ล้านบาท กับเงินพัฒนาทีมอีก 1 ล้านบาท และไทยลีก 3 ที่ยุบรวมกับไทยลีก 4 เป็นปีแรก จะได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 1 ล้าน และเงินพัฒนาทีมอีก 1 ล้านบาท

ส่วนของไทยลีก 1 ถ้าหากว่าสามารถหาผู้มารับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดต่อจากทรูวิชั่นส์ได้ จะสามารถมีเงินสนับสนุนให้แต่ละทีมได้ แต่ในส่วนของไทยลีก 2 กับ 3 นั้น เนื่องจากว่ามูลค่าน้อยกว่า ทำให้อาจจะไม่สามารถหาผู้สนับสนุนได้ และจะทำให้แต่ละทีมไม่ได้รับเงินหนุนทีม

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยที่ดีขึ้นตามลำดับทำให้พอจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่เล็กน้อยคือ มีโอกาสที่แฟนฟุตบอลจะกลับเข้าไปสู่สนามแข่งขันได้เร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับสโมสรได้บ้าง จากที่ก่อนหน้านี้อาจต้องเตะแบบปิด ที่ทำให้ขาดรายได้ส่วนนี้ไป

ยิ่งจากผลของการจัดฟุตบอลนัดพิเศษที่จังหวัดระยอง มีการเปิดให้แฟนบอลบางส่วนเข้าสนามได้ จะเป็นเหมือนต้นแบบสำหรับฟุตบอลที่จะกลับมาแข่งขันวันที่ 12 กันยายนนี้

ตอนนี้อาจจะมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกู้ยืมเงินของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แต่มันคือ วิธีการแก้ไขปัญหาทางหนึ่งเพื่อให้การแข่งขันสามารถเดินหน้าจบไปได้

เมื่อถึงฤดูกาลหน้าที่มีผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายใหม่เข้ามา น่าจะได้เงินปีละ 1,500 ล้านบาท จะทำให้ฟุตบอลอาชีพในประเทศกลับมาเดินหน้าได้ตามปกติ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image