‘ส.บอล’ ชี้ต้องยกเลิกใช้ ‘วีเออาร์’ เพราะมีปัญหาค่าลิขสิทธิ์

‘ส.บอล’ ชี้ต้องยกเลิกใช้ ‘วีเออาร์’ เพราะมีปัญหาค่าลิขสิทธิ์

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงกรณีที่ ประธานสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด, ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี ร่วมแถลงข่าวเรื่องการใช้เทคโนโลยีวีเออาร์ ในการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ประจำฤดูกาล 2563 ว่า การนำวีเออาร์มาใช้ในการตัดสิน เกิดขึ้นตามนโยบายของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นอันดับต้นๆ ในทวีปเอเชีย และไม่กี่ประเทศของโลก โดยได้มีการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร นำเทคโนโลยีวีเออาร์ เข้ามาเพื่อให้การแข่งขันกีฬาฟุตบอลลีกอาชีพ และรายการอื่นๆ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมฯ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมีปัญหามากที่สุด และต้องใช้ความพยายามและเวลาเป็นอย่างยิ่งจนได้รับการอนุมัติรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติในที่สุด จึงเห็นได้ว่านี่คือเจตนารมณ์ของสมาคม ที่ต้องการยกระดับและพัฒนาวงการฟุตบอลไทยมาตั้งแต่แรก หากไม่มีวิกฤตโควิด-19 และปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกับบริษัท ทรูวิชั่นฯ ซึ่งทำให้เงินค่าลิขสิทธิ์หายไป 800 ล้านบาท เชื่อว่าสมาคมไม่ยกเลิกการใช้เทคโนโลยีวีเออาร์อย่างแน่นอน

พล.ต.ท.อำนวยกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเรื่องความชัดเจนในการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ทั้งนี้ ในการลงมติของสโมสรสมาชิก เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 มีความเห็นเป็นให้กลับมาแข่งขัน ในวันที่ 12 กันยายน 2563 และจบฤดูกาล เดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งกำหนดการดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ และยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม เรื่องเงินสนับสนุนสมาคมฯ จัดสรรเงินสนับสนุนจากค่าลิขสิทธิ์บางส่วนให้กับทีมสโมสรสมาชิก ในทุกฤดูกาล เมื่อ บริษัท ทรูวิชั่น จำกัด ยืนยันจะถ่ายทอดสด ถึงแค่วันที่ 25 ตุลาคม 2563 จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินสนับสนุนของทีมสโมสรสมาชิก ซึ่งขณะนี้สมาคมฯกำลังดำเนินการเจรจาเพื่อหาผู้ถ่ายทอดหรือถือลิขสิทธิ์รายใหม่ เพื่อนำเงินมาจัดสรรให้แก่ทีมสโมสรสมาชิก และช่องทางการถ่ายทอดสด จำนวนนัดที่จะมีการแพร่ภาพหากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้น สมาคมฯ จะแจ้งให้ทราบโดยเร็วต่อไป

โฆษกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบงบดุล งบกำไร-ขาดทุน รายรับ-รายจ่าย ของสมาคม นั้น สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคล และได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.55 ตาม ม.68 และ ม.69 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นเอกสารที่เปิดเผยต่อสาธารณะ นอกจากนี้สมาคมฯ ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อชี้แจงงบดุล งบกำไร-ขาดทุน รายรับ-รายจ่าย ต่างๆ ของสมาคมฯ และได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้แก่สโมสรสมาชิกก่อนการประชุม 30 วัน เป็นการเฉพาะ โดยในปี 2563 ได้จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุม ชั้น 24 ตึก 25 ชั้น การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากยังมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อประสานงานเพื่อขอรับคำชี้แจงจากทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯโดยตรงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image