นักกีฬาผู้ลี้ภัย จุดกำเนิดและความหวังบนเวทีโอลิมปิก

REUTERS/Jackson Njehia

นักกีฬาผู้ลี้ภัย จุดกำเนิดและความหวังบนเวทีโอลิมปิก

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ เมื่อมีนักกีฬา “ชาติ” หนึ่งเข้าร่วมแข่งขัน แม้ไม่มีตัวตนบนแผนที่โลก

เรียกกันว่านักกีฬา ทีมผู้ลี้ภัย หรือ ทีมผู้อพยพ (Refugee Team) ซึ่งเกิดจากความพยายามให้โอกาสชนกลุ่มน้อยที่โดนข้อจำกัดทางสังคมและการเมือง

มา โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเปิดฉากในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ นักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยก็จะเข้าร่วมแข่งขันอีกครั้ง ประกอบด้วยนักกีฬา 29 คน ซึ่งกระจัดกระจายอาศัยใน 14 ประเทศทั่วโลก
เพื่อทำความรู้จักทีมชาติที่แสนพิเศษนี้ ขอเล่าเรียงประวัติศาสตร์การถือกำเนิดจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปกันง่ายขึ้น

REUTERS/Jackson Njehia

จุดเริ่มต้น

Advertisement

กูออร์ มาเรียล เป็นผู้ลี้ภัยชาวซูดานที่หนีความวุ่นวายในประเทศไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอนใน โอลิมปิกเกมส์ 2012 ในฐานะนักกีฬาอิสระ ไม่มีสังกัด หลังจากทำเวลาผ่านเกณฑ์เข้าร่วม เนื่องจากเวลานี้ ชาติเกิดใหม่ เซาธ์ซูดาน ยังไม่มีคณะกรรมการโอลิมปิกของตัวเอง จึงไม่สามารถส่งนักกีฬาแข่งขันในนามทีมชาติได้

ด้วยปัญหาผู้ลี้ภัยที่กลายเป็นวิกฤติการณ์ระดับโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) โดยประธาน โธมัส บาค เล็งเห็นถึงการให้คุณค่าความเสมอภาคและโอกาสในการเข้าร่วมแข่งขันของนักกีฬากลุ่มผู้ลี้ภัยเหล่านี้ โดยประกาศจัดตั้งทีมผู้ลี้ภัยขึ้นในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคมปี 2015

ตั้งแต่รีโอเกมส์ถึงปัจจุบัน ไอโอซีมอบทุนในการฝึกซ้อมและอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับนักกีฬาผู้ลี้ภัยทั่วโลกร่วมแล้วเป็นเงินราว 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (64 ล้านบาท)

Advertisement

ต่อมาในปี 2017 จึงจัดตั้ง มูลนิธิโอลิมปิกผู้ลี้ภัย เพื่อมอบโอกาสให้เยาวชนนับล้านที่เข้าข่ายผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการเล่นกีฬาได้อย่างถ้วนทั่วภายในปี 2024

นักกีฬาผู้ลี้ภัยใช้สัญลักษณ์ธงโอลิมปิกขึงบนชั้นที่พัก เหนือทีมชาติเช็ก) ในหมู่บ้านนักกีฬา (Photo by Behrouz MEHRI / AFP)

ธงและเพลงชาติ

นักกีฬาผู้ลี้ภัยที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ จะแข่งภายใต้ธงของโอลิมปิก หากมีการคว้าเหรียญทองเกิดขึ้น ก็จะบรรเลงเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์แทนเพลงชาติของนักกีฬาคนนั้นๆ

ส่วนโค้ดประเทศของนักกีฬากลุ่มนี้ คือ EOR ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Equipe Olympique des Refugies หมายถึงนักกีฬาโอลิมปิกผู้ลี้ภัย

ส่วนลำดับการเดินเข้าสู่สนามในพาเหรดนักกีฬาในพิธีเปิดการแข่งขันนั้น นักกีฬาผู้ลี้ภัยจะเดินออกมาเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากกรีซซึ่งได้รับเกียรติให้เดินเข้าสู่สนามเป็นชาติแรกในฐานะประเทศผู้ให้กำเนิดกีฬาโอลิมปิกยุคโบราณ

REUTERS/Jackson Njehia

รีโอ 2016

โอลิมปิกเกมส์ที่นครรีโอเดจาเนโร เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีนักกีฬาผู้ลี้ภัยเข้าร่วมทั้งสิ้น 10 คน แบ่งเป็นนักกีฬาที่อพยพจากเซาธ์ซูดาน 5 คน, ซีเรีย 2 คน, สาธารณรัฐคองโก 2 คน และเอธิโอเปีย 1 คน

ในกลุ่มนี้ 6 คนร่วมแข่งขันกรีฑา, 2 คนร่วมแข่งขันว่ายน้ำ และ 2 คนร่วมแข่งขันกีฬายูโด

โรส โลโคเนียน นักวิ่ง 800 เมตร หญิง ที่หนีภัยสงครามจากเซาธ์ซูดานไปอยู่เคนยาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทำหน้าที่ถือธงในพิธีเปิดการแข่งขัน ขณะที่ โปโปล มิเซนก้า นักกีฬายูโดที่หนีจากสาธารณรัฐคองโกไปอยู่บราซิล ถือธงในพิธีปิดการแข่งขัน

โตเกียว 2020

ไอโอซีมอบทุนสนับสนุนนักกีฬา 56 คน ในจำนวนนี้ได้รับเลือกเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 รวม 29 คน โดยยึดที่ผลงาน รวมถึงการรับรองคุณสมบัติจากหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ยังพยายามบาลานซ์เรื่องชนิดกีฬาที่ร่วมแข่งขัน รวมถึงเพศของนักกีฬา เพื่อกระจายให้มีความหลากหลาย

สำหรับนักกีฬา 29 คน ประกอบด้วยนักกีฬาเชื้อชาติซีเรีย 9 คน, อิหร่าน 5 คน, เซาธ์ซูดาน 4 คน และอัฟกานิสถาน 3 คน แข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา โดยมีนักกีฬาจากชุดรีโอเกมส์ได้สิทธิแข่งขันในครั้งนี้ด้วยรวม 6 คน ซึ่งรวมถึงโลโคเนียนและมิเซนก้า ผู้ถือธงจากพิธีเปิดและปิดในครั้งก่อน

ที่น่าสนใจคือครั้งนี้มีนักกีฬาที่มีดีกรีผลงานในสนามด้วย นั่นคือ คิเมีย อาลิซาเดห์ นักกีฬาเทควันโดเชื้อสายอิหร่านที่ลี้ภัยไปอาศัยที่เยอรมนี โดยปีที่แล้ว เขาคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันระดับนานาชาติมาครอง

ขณะที่ จาวาด มาห์จูบ นักกีฬายูโดที่ลี้ภัยจากอิหร่านไปอยู่แคนาดา เคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันยูโดชิงแชมป์เอเชียเมื่อปี 2013 มาก่อน

และ ฮามูน ดาราฟชิปูร์ นักคาราเต้-โดเชื้อสายอิหร่านที่อยู่แคนาดาเช่นกัน ก็เคยได้เหรียญทองแดงจากศึกคาราเต้ชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2018 มาแล้ว

REUTERS/Ralph Orlowski

สารจากผู้เกี่ยวข้อง

โธมัส บาค ประธานไอโอซี กล่าวว่า การเข้าร่วมของนักกีฬาผู้ลี้ภัยจะส่งสารที่ทรงพลังไปยังชาวโลก เพื่อสื่อถึงความสมัครสมานสามัคคี ความเข้มแข็ง และความหวัง ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมโอลิมปิก

ขณะที่ ฟิลิปโป้ กรันดี้ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าวว่า การมีชีวิตรอดจากภัยสงคราม การข่มเหง และความทุกข์ทรมานจากการต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน ก็ทำให้พวกเขาเหล่านี้เป็นคนพิเศษมากอยู่แล้ว แต่การที่พวกเขาสามารถแสดงออกเรื่องศักยภาพทางการกีฬาในเวทีระดับโลกได้ยิ่งเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ

และแสดงให้เห็นว่า เมื่อได้รับโอกาส พวกเขาก็ทำสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยสรรพกำลังทั้งหมดที่ตัวเองมี

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image