วิทยาศาสตร์ vs ภูมิปัญญา ความห่วง ‘มวยไทย’ ที่ต่างแนวคิด

มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนวิชามวยไทยในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แห่งแรกของโลก มีนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้กันอย่างไม่ขาดสาย เคยมีนักศึกษาแต่ละคนได้ไปสร้างชื่อเสียงให้กับทางมหาวิทยาลัยมาแล้ว เช่น สำราญเดช ม.ราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง อดีตเจ้าของเข็มขัดแชมป์เปี้ยนมวยไทย เวทีราชดำเนิน และแชมป์สภามวยไทยโลก และ รุ่งเพชร ศ. สิทธิโชค

เมื่อมีประเด็นที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติมวยไทย พ.ศ.2542 โดยประเด็นสำคัญ คือ การห้ามเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ต่อยมวยไทย และเด็กอายุ 13-15 ต้องขออนุญาตก่อนขึ้นชก ทำให้คนมวยออกมาต่อต้านกันอย่างกว้างขวาง เพราะมองว่าเป็นการหยุดการพัฒนาและทำลายอัตตลักษณ์ของมวยไทยที่มีมาช้านาน

ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์

เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ของ มรภ.จอมบึง อย่าง ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ นายกสมาคมมวยไทยศึกษานานาชาติ จ.ราชบุรี และ อดีตอธิการบดี มรภ.หมู่บ้านจอมบึง มองว่า มีความเห็นมอง 2 มุม คือ มุมแรกเป็นมุมมองทางวิทยาศาสตร์ เรื่องของแพทย์ ที่วินิจฉัยมาเป็นห่วงเรื่องเยาวชน ที่จะต้องกระทบกระเทือนสมอง ส่วนอีกมุมหนึ่งมองเรื่องคือผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทย ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการใช้วิชาชีพนี้ ไต่เต้าไปสู่ช่วงชั้นสังคมที่สูง โดยมุมแรกของแพทย์จะมีผลกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาทำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ห้ามชก ซึ่งเด็ดขาด ทางกฎหมาย ใครขึ้นชกแจ้งตำรวจจับได้เป็นความผิดทางอาญา จะมีผลกระทบกับเด็กจำนวนหนึ่งจะหายไปจากวงการมวยไปเลย เพราะว่าเด็กช่วงก่อนอายุ 12 ปี ส่วนใหญ่กำลังอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง เริ่มชอบ แสวงหา ถ้าหากชอบมวยไทย ผู้ปกครองชอบก็สามารถมาเรียนรู้ได้และจะต้องชกตรงนี้จะหายไปเลยจากวงการ จะทำให้โอกาสที่เด็กจะมาเรียนมวยไทยถ่ายทอดทางด้านภูมิปัญญาที่สะสมประสบการณ์ไม่มีแล้ว แต่ข้อดีคือ สมองเด็กจะมีการทะนุถนอมจนกว่าถึงวัยอันควร

Advertisement

นายกสมาคมมวยไทยศึกษานานาชาติ บอกอีกว่า ส่วนแง่ของศิลปะผู้สืบทอดมวยไทยจะกระทบแน่นอน ทำให้คนยากจน ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมมีความแตกต่างกันมาก โดยคนชั้นล่างส่วนใหญ่จะมาชกมวยหากินและไต่ระดับขึ้นไปทางการศึกษา สู่ตำแหน่งหน้าที่การงาน ใช้มวยไทยก้าวไปสู่อาชีพที่มั่นคงในอนาคต สำหรับเรื่องมวยจะต้องฝึกตั้งแต่ยังเด็กเล็ก อย่างน้อยจะเป็นทักษะที่สะสมประสบการณ์ ยิ่งชกก็ยิ่งเก่ง มองว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับคนชั้นล่าง เพราะว่าไม่ได้ดูถึงเรื่องปัญหาความยากจนที่แท้จริงคืออะไร

“คนที่ยากจนมันไม่มีทางเลือกมากมายนอกจากชกมวย มีกางเกงตัวเดียวก็ชกมวยได้เงินแล้ว เด็กเหล่านี้ชกมวยเพื่อเอาเงินไปจุนเจือครอบครัว ส่งตัวเองเรียนสามารถพัฒนาตัวเองได้ ถึงแม้อาจจะมีบางช่วงที่กระทบกระเทือนอย่างหมอว่า แต่ก็เป็นช่วงเวลาช่วงหนึ่ง ผมมองว่าไม่ได้มองสังคมอย่างรอบด้าน เด็กส่วนหนึ่งจะหายไปจากสังคมการมวย หากรอให้เกินอายุ 12 ปีคิดว่าคงจะไปเรื่องอื่นกันหมดแล้ว”

Advertisement

ดร.ชาญชัย มองว่าทางออกคือ หาก พ.ร.บ.มวยฉบับนี้ทบทวนได้ แต่เรื่องอายุเด็กอย่าไปจำกัดอายุ เพราะอายุ 12 ปี หรืออายุ 60 ปี ก็ล้มหัวฟาดพื้นน็อกตายได้หมด ไม่ได้แปลว่าจะกระทบกระเทือนเรื่องอายุ เพียงแต่จะต้องป้องกันมีพื้นเวทีที่ตามระเบียบกติกามวยไว้อยู่แล้วจะต้องมีความหนาเท่าไหร่ ถ้าหนาไม่พอก็จะต้องให้พื้นนิ่มไม่แข็งเหมือนปัจจุบันนี้ และเรื่องกรรมการ ยิ่งมวยเด็กจะต้องเป็นกรรมการที่มีความรู้ความสามารถ ต้องผ่านการอบรมอย่างดีมาก เรื่องความปลอดภัยเด็กต้องมาอันดับหนึ่ง ถ้าเด็กมีอายุ ร่างกาย กระดูกใกล้เคียงกันก็ไม่มีผลอะไรมากนัก เรื่องอุปกรณ์ เช่น นวม การตรวจของแพทย์ก่อนชั่งน้ำหนักก็จะต้องตรวจว่ามีความพร้อมหรือไม่ของเด็กแต่ละคน ซึ่งเรื่องโภชนศาสตร์ของมวยไทยที่จะต้องดูแล ซึ่งต้องยอมรับว่ามวยไทยเป็นรายได้หลักเข้าประเทศส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวจะหายไปทันที

แพรทิพย์ ปวุตินันท์

ด้าน กฤตภาส ปวุตินันท์ พ่อของ “น้องแพร” แพรทิพย์ ปวุตินันท์ วัย 11 ปี ฉายามวย “เพชร แพรว พราว” ที่ชกมวยมากว่า 2 ปี แสดงความคิดเห็นว่า คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามเด็กต่อยมวย เพราะคนที่ยึดอาชีพนักมวย ถ้าไม่เริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 5 ขวบแล้ว กระดูกสู้เขาไม่ได้แน่นอน หากเริ่มช่วงตอนอายุ 15 ปีขึ้นไป ต่อยมวยไม่ได้แน่ แต่ถ้าฝึกไว้เพื่อป้องกันตัวได้ คนไทยที่เก่งมวยไทยได้ จะเริ่มฝึกมาตั้งแต่เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง เริ่มต่อยมาตั้งแต่เด็กจนเริ่มเติบโตมีการต่อยกันมาถึง 200-300 ไฟต์ กระดูกร่างกายจึงแข็งแรง มีความแข็งแกร่ง มีเหลี่ยม มีเชิงมวยบนเวทีมีครบ ตัวเองได้ส่งเสริมลูกให้ต่อยมวย เพราะสามารถเป็นตัวแทนให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย ซึ่งก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ขณะนี้นักมวยเริ่มหายากกว่าจะฝึกซ้อมเก่งแต่ละคน

ทุกฝ่ายมีความหวังในมุมของตัวเอง ขอเป็นกำลังใจให้หาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกฝ่าย เพราะมวยไทยเป็นของคนไทย ทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image