วันที่ต้นกล้าในกระถาง ‘เอสซีจี’ ผลิดอกออกผลสู่แบดมินตันโลก

การจะก้าวเป็นนักกีฬา ความมุ่งมั่น ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้น การฝึกซ้อมเป็นเหมือนแรงขับเคลื่อน การแข่งขันเป็นพื้นที่พิสูจน์ตัวเอง โค้ช สโมสรและโรงเรียนเป็นที่สร้างความมั่นใจว่า การเดินทางไปสู่ความเป็นเลิศนั้นมาถูกทางแล้วหรือไม่

การแข่งขันแบดมินตัน เอสซีจี ออล ไทยแลนด์ แบดมินตัน แชมเปี้ยนชิพส์ 2019 หรือ ศึกชิงแชมป์ประเทศไทย 2562 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้เห็นแล้วว่าองค์ประกอบข้างต้น ทั้งครอบครัว การฝึกซ้อมการแข่งขัน โค้ชและแรงสนับสนุนที่ถูกทาง จะนำมาพาความสำเร็จมาให้นักกีฬาได้

ถึงแม้ในปีนี้จะขาดดาวรุ่งส่วนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปแข่งขันเยาวชนชิงแชมป์โลก ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียในช่วงเดียวกัน และนักแบดมินตันทีมชาติไทยมือระดับโลกบางส่วนที่ไม่ได้ลงแสดงฝีมือในครั้งนี้ บทสรุปทำเนียบแชมป์และรองแชมป์ที่ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศเอสซีจี ออล ไทยแลนด์ แบดมินตัน แชมเปี้ยนชิพส์ 2019 ทุกประเภทยังคงเป็นนักแบดมินตันมือวางทีมชาติไทยมือชั้นนำระดับโลกที่กวาดแชมป์ และครองถ้วยพระราชทานฯอย่างต่อเนื่อง โดยถือเป็นเวทีที่สำคัญระดับประเทศทุกๆ ปีที่บรรดาเยาวชนดาวรุ่งหน้าใหม่ของวงการแบดมินตันไทยมีโอกาสได้ประลองฝีมือกับรุ่นพี่ๆ ทีมชาติมือระดับโลกแนวหน้าของเมืองไทย และแฟนๆ กีฬาแบดมินตันได้ติดตามชมอย่างใกล้ชิดถึงขอบสนามอีกด้วย

Advertisement

หากแฟนกีฬาขนไก่ที่ติดตามผลงานของนักกีฬาชั้นนำมาตลอดจะเห็นว่าเส้นทางของการเป็นนักตบขนไก่ฝีมือดี ล้วนเริ่มต้นมาจากเวทีระดับเยาวชน โดยเฉพาะดาวรุ่งที่ผ่านเวทีเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทยหรือ เอสซีจี จูเนียร์ แบดมินตัน แชมเปี้ยนชิพส์ ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี เห็นได้ชัดว่า เส้นทางความสำเร็จของรุ่นพี่ทีมชาติไทยล้วนแต่เคยประสบความสำเร็จในเวทีนี้มาแล้วนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เลือกเดินตามรอยเพื่อจะได้สัมผัสความรู้สึกเดียวกันในอนาคต เพราะเมื่อขึ้นสู่ระดับสูงสุดของเยาวชนในระดับประเทศแล้ว นักกีฬาที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ และได้รับการสนับสนุนอย่างถูกทางก็จะก้าวไปสู่ความสำเร็จในระดับประเทศ รวมถึงเป็นกำลังสำคัญทดแทนรุ่นพี่ทีมชาติต่อไป

“ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย แชมป์ยูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 1

บทพิสูจน์แชมป์และรองแชมป์ทุกประเภทจากเวทีเอสซีจี ออล ไทยแลนด์ ในปีนี้ ทุกคนผ่านเวทีระดับเยาวชนเอสซีจี จูเนียร์ แบดมินตัน แชมเปี้ยนชิพส์ มาแล้วทั้ง 14 คน ไล่เรียงตั้งแต่ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์, “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย, “ต้นน้ำ” นิพิฐพนธ์ พวงพั่วเพชร, “โอ๊ต” สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์, “เพชร” โฆษิต เพชรประดับ, “มาร์ค” ตนุภัทร วิริยางกูร, “ติณ” ติณณ์ อิสริยะเนตร, “สกาย” กิตตินุพงษ์ เกตุเรน, “เอิร์ธ” พุธิตา สุภจิรกุล, “ครีม” บุศนันท์ อึ๊งบำรุงพันธ์, “เอ็มเอ็ม” สาวิตรี อมิตรพ่าย, “เมย์” ศุภนิดา เกตุทอง, “นั่ง” ชาสินี โกรีภาพ, “เจน” ขวัญชนก สุดใจประภารัตน์

คู่ของบาสและปอป้อที่คว้าแชมป์คู่ผสมประเทศไทยมาครองเป็นสมัยที่ 3 (แชมป์ปี 2559-2560) ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเส้นทางเดินที่เติบโตต่อเนื่องดังกล่าว

Advertisement
“บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์

ย้อนไปดูผลงานในระดับเยาวชนเอสซีจี จูเนียร์ แบดมินตัน แชมเปี้ยนชิพส์ ของทั้ง 2 คน ทรัพย์สิรีเริ่มฝึกซ้อมจากสโมสรตรีเลิศ จ.อุดรธานี คว้าแชมป์หญิงเดี่ยว 15 ปี (2549) และ 18 ปี (2550) ส่วนเดชาพลเริ่มฝึกซ้อมจากสโมสรศรีราชาสปอร์ตคลับ จ.ชลบุรี คว้าแชมป์ชายเดี่ยวและชายคู่ 14 ปี (2554), แชมป์คู่ผสม 18 ปี (2556) โดยทั้งสองได้เข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมในแคมป์ เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ เพื่อพัฒนาศักยภาพทักษะฝึมือแบดมินตันและเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายด้วยระบบวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมทั้งได้รับการสนับสนุนในการเดินทางไปแข่งขันรายการต่างๆ จนสามารถก้าวขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ไปสู่การเป็นนักตบขนไก่อาชีพมือท็อปของโลก เก็บเกี่ยวความสำเร็จมาแล้วทั้งในซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, แบดมินตันชิงแชมป์โลก, สุธีรมานคัพ, โธมัส-อูเบอร์คัพ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ

ภารกิจของบาสและปอป้อ ไม่ได้อยู่กับความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ยังต้องพัฒนาแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง หยิบความสำเร็จที่ใหญ่กว่าเดิม โดยเฉพาะเหรียญรางวัลที่ยังไม่เคยมีนักตบขนไก่ไทยคนไหนได้สัมผัสมาก่อนซึ่งก็ขยับเข้าใกล้มาเรื่อยๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นคือ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

มันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทุกองค์ประกอบมาพร้อมกัน การฝ่ากำแพงสูงก็เป็นไปได้เสมอ

ติดตามข่าวเด็ดกีฬาดัง ทาง Line@ มติชนกีฬา (@matisport) คลิกเลย
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image