เสียงสะท้อนถึง ‘บิ๊กอ๊อด’ อนาคตบอลไทย 4 ปีต้องไปทางไหน?

หลังจาก “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ประมุขบอลไทยคนใหม่แต่หน้าเก่า แถลงนโยบายหลังจากชนะการเลือกตั้งว่า 4 ปีที่ผ่านมาเป็นการเตรียมความพร้อม ส่วน 4 ปีต่อจากนี้จะเดินหน้าทำตามแผนพัฒนา 20 ปี ที่วางไว้

เมื่อได้รับเลือกให้กุมบังเหียนกำหนดทิศทางฟุตบอลของประเทศอีกครั้ง ย่อมมีความคาดหวังจากบรรดาสโมสรต่างๆ โดยเฉพาะทีมขนาดเล็ก หรือระดับรากหญ้า ที่มีความต้องการให้ทางสมาคมช่วยสนับสนุนในหลายๆ ด้าน โดยทุกสโมสรมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข และเสริมสร้างต่างกันไป

แต่เรื่องสำคัญสโมสรระดับล่างหลายทีมเอ่ยถึง เห็นจะเป็นเรื่อง เงินสนับสนุน หรืออยากให้มีการถ่ายทอดฟุตบอลจะได้มีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด สำหรับทีมในระดับลีกล่างอย่างไทยลีก 3 และไทยลีก 4 ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาทีมแบบก้าวกระโดดได้เหมือนอย่างทีมใหญ่หลายทีมในลีกสูง ก็ด้วยปัญหาด้านการเงินของทีม ซึ่งแต่ละสโมสรก็อยากให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง สนับสนุนในแต่ละด้านต่างกันออกไป

Advertisement

ธัญญะ วงศ์นาค ผู้จัดการทีม โปลิศ เทโร เอฟซี แห่งศึกโตโยต้า ไทย ลีก กล่าวว่า โดยภาพรวมสิ่งที่นายกสมาคมฟุตบอลฯทำมานับว่าดีแล้ว จากนี้ขอรอดูว่าสิ่งที่ทางสมาคมจะนำมาใช้ สามารถใช้ได้จริง และพัฒนาต่อยอดได้หรือไม่ เช่น การนำ “วีเออาร์” (วิดีโอช่วยตัดสิน) มาใช้ช่วยลดข้อขัดแย้งระหว่างสโมสร และแฟนบอล การมีใบอนุญาตยืนยันการเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพที่ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์(คลับ ไลเซนซิ่ง) คือ ทำให้ทุกสโมสรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ เรื่องทีมชาติ อยากให้โอกาสสภากรรมการได้ทำงานต่อ ทั้งในเรื่องศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ และการพัฒนาทีมชาติ เพราะเรื่องของทีมชาติต้องใช้เวลา หลายๆ อย่างที่ พล.ต.อ.สมยศได้ทำมาถือเป็นการเริ่มสร้างรากฐานที่แข็งแรงของฟุตบอลไทยแล้ว อย่างการสร้างโค้ช ถ้ามีโค้ชที่ดีเพิ่มขึ้นจะสามารถไปสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพได้ ส่วนเงินสนับสนุน คิดว่าน่าจะได้เพิ่มขึ้น ต้องรอดูว่าผู้ที่ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลเป็นใคร มูลค่าเงินที่จะได้รับต่อทีมเท่าไร ถ้ามีเม็ดเงินลงไปสู่ทีมเยอะ แน่นอนบรรดาสโมสรจะมีทรัพยากรมาปรับปรุงพัฒนาทีมในด้านต่างๆ

อัฐพงษ์ เกษเมธีการุณ ประธานสโมสร นครราชสีมา ห้วยแถลง ยูไนเต็ด แห่งออมสิน ลีก(ที4) โซนภาคอีสาน กล่าวว่า ลีกภูมิภาค ที3 และ ที4 หลายฝ่ายมองว่ายังไม่ลงตัว อยากเสนอให้รวมทั้งสองลีกเข้าด้วยกัน จะทำให้มีทีมในลีกเดียวกันเพิ่มขึ้น มีการเดินทางน้อยลง ส่วนอีกเรื่องที่อยากเสนอนายกสมาคมฟุตบอลฯ คือมูลค่าทีม ลีกภูมิภาคยังขาดการถ่ายทอดฟุตบอลสู่สาธารณะชน ทำให้หาผู้สนับสนุนทีมได้จำกัด ต่างจากที 1 และที 2 ที่มีการถ่ายทอดแล้ว หากรวมลีกภูมิภาคเข้าด้วยกัน การถ่ายทอดฟุบอลคงไม่ใช่เรื่องยากเกินไป มีทั้งช่องโทรทัศน์ท้องถิ่น ช่องทางโซเชียลมีเดีย ถ้าเปิดช่องทางเหล่านี้เพิ่มขึ้น เชื่อว่ามูลค่าการตลาดของทีมจะสูงตาม

ศุภชัย ฤทธิสมาน ผู้จัดการทีม สุราษฏร์ ซิตี้ จากออมสิน ลีก โซนภาคใต้ กล่าวว่า การมีโครงการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่หากเป็นไปได้อยากให้มีศูนย์ฝึกในทุกภาคของประเทศไทย และสิ่งสำคัญคือโครงการพัฒนาเยาวชน ส่วนปัญหาหลักอยากให้ปรับปรุงเรื่อง กรรมการผู้ตัดสิน ฤดูกาลที่แล้วหลายเกมการแข่งขันต้องเสียผลประโยชน์ในสนามจากการตัดสินที่ผิดพลาด แม้ช้ำใจแต่ต้องยอมรับผลการตัดสินแบบไม่เต็มใจนัก

ขจรศักดิ์ สิงห์โคตร เลขานุการทีม ขอนแก่น ยูไนเต็ด จากศึก เอ็ม-150 แชมเปี้ยนชิพ กล่าวว่า ต้องการให้ทางสมาคมพัฒนาวงการฟุตบอลไทยต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทีมชาติ ลีกฟุตบอลอาชีพ รายการต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของสมาคมให้พัฒนาต่อยอดขึ้นไป อยากให้เน้นดูแลโครงสร้างหลักที่เกี่ยวข้องกับคลับ ไลเซนซิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ ตั้งแต่ทีมรากหญ้าไปจนถึงทีมระดับท็อป เรื่องเงินสนับสนุนอยากขอให้ทางสมาคมให้ความสำคัญกับทีมในลีกล่าง ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งเรื่องการเดินทาง และค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ที่ค่อนข้างสูง

วรฉัตร ชื่นชอบ ประธานสโมสร เชียงราย ล้านนา เอฟซี จากออมสิน ลีก โซนภาคเหนือ กล่าวว่า อยากขอให้ทางสมาคมช่วยอุดหนุนเงินสนับสนุนสโมสร เพิ่มงบประมาณการทำทีมของระดับภูมิภาคมากขึ้น เงินสนับสนุนของระหว่างสองลีกบน และสองลีกล่างมีช่องว่างแตกต่างกันเกินไป ทุกวันนี้พยายามหาสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาสนับสนุนทีม แต่ยังไม่ได้ตามที่คาดไว้ หากทางสมาคมมีนโยบายจะเพิ่มเงินสนับสนุนให้ก็ยินดีเป็นอย่างมาก และมองว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้ามีสื่อที่เป็นตัวกลางถ่ายทอดฟุตบอลลีกระดับภูมิภาค มีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดให้กับสโมสร ส่วนเรื่องอื่นทางสมาคมทำได้ดีมากอยู่แล้ว

เห็นได้ว่าฟุตบอลลีกอาชีพของไทยมีความเหลื่อมล้ำกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเงินงบประมาณ ในสองลีกบนมีจำนวนเงินสนับสนุนมาก มีผู้สนับสนุนรายใหญ่ชื่อดังรายล้อม เพราะมีชื่อเสียงโด่งดัง และมีการถ่ายทอดสดฟุตบอล มีจำนวนเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาทีมได้อย่างกว้างขวาง เช่น มีอคาเดมีทีมเยาวชนของตัวเอง สามารถสร้างและผลักดันแข้งดาวรุ่งที่มีแววขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ได้ ในขณะที่ทีมในสองลีกล่างและลีกสมัครเล่น นอกจากเม็ดเงินสนับสนุนที่ไม่ค่อยสูงนัก การหาสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาสันบสนุนก็ทำได้ยาก เนื่องด้วยไม่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลแก่ประชาชนในประเทศ บางสโมสรพยายามอาศัยช่องทางในท้องถิ่น หรือทางโซเชียลมีเดีย แต่ก็ยังต้องการแรงสนับสนุนเพิ่ม เพราะด้วยจำนวนเงินที่ไม่มาก การจะพัฒนาทีมให้ก้าวหน้าไปไกลจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก ด้วยทรัพยากรที่ไม่มากพอเมื่อเทียบกับทีมในสองลีกบน

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนจาก 5 สโมสรเท่านั้น งานที่บิ๊กอ๊อดจะต้องทำในระยะเวลา 4 ปีหลังจากนี้ ไม่ใช่แค่การยกระดับทีมชาติ หรือสร้างลีกระดับบนให้แข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังมีสโมสรที่รอแนวทางในการพัฒนาให้พวกเขายืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้อย่างมั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งไม่ใช่งานง่าย แต่เชื่อว่าถ้าเข้าใจถึงสิ่งที่เหล่าสโมสรสมาชิกเจออยู่จริงๆ และร่วมกันแก้ ร่วมกันพัฒนา โอกาสที่ฟุตบอลไทยจะเดินหน้าไปด้วยดี เหมือนที่ได้ประกาศไว้ว่า 4 ปีหลังจากนี้จะเป็นการ “ก้าวให้ไกล ไปด้วยกัน” ในวันที่ชนะการเลือกตั้ง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image