ครูตอง-ชนนภัทร วิรัชชัย นักสู้ที่ทำให้คนไทยรู้จักการต่อสู้แบบผสมผสาน MMA

ถ้าพูดถึง “ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน” คนไทยอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่หากใช้คำว่า “MMA” ซึ่งมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Mixed Martial Arts หลายคนอาจร้องอ๋อ…ขึ้นมาทันที แต่ถึงอย่างนั้นก็เชื่อ ว่ามีคนไทยไม่มากนักที่จะเข้าใจการแข่งขันกีฬาประเภทนี้

แต่ยังดีที่มีผู้สนใจอย่างจริงจังถึงขั้นเอาตัวเข้าไปเรียนและฝึกฝนจนชำนาญสามารถใช้คำว่าเป็น “นักกีฬาระดับโลก” ได้ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนักกีฬาไทยที่มีเพียงไม่กี่คนในประเทศผู้หักร้างถางพง และบุกเบิกกีฬานี้ตั้งแต่สมัยที่คนไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ทั่วโลกกลับฮิตในกีฬานี้เอามากๆ ต้องมีชื่อของ “ครูตอง” ชนนภัทร วิรัชชัย นักกีฬาหนุ่มวัย 31 ปี

ชนนภัทร เป็นคนกรุงเทพฯ และเป็นลูกคนเดียวซึ่งมีพ่อเป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจชิ้นเนื้อ ขณะที่แม่เป็นอาจารย์พยาบาล ดังนั้นคงนึกภาพออกว่าสภาพแวดล้อมของเขาแตกต่างจากนักกีฬาการต่อสู้บ้านเราทั่วไปโดยเฉพาะนักมวยไทยที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน และต้องดิ้นรนช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

แต่สำหรับ ชนนภัทร นั้นเขาอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะดี แม้เจ้าตัวจะบอกว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่อย่างน้อยการที่พ่อแม่ส่งเขาไปเรียนในโรงเรียนชั้นนำระดับประเทศที่มุ่งเน้นในเรื่องวิชาการซะมากกว่าเรื่องกิจกรรมหรือกีฬา แถมยังส่งให้เขาไปฝึกวิชายูโดตามคำร้องขอของเขาได้ ก็พอจะแสดงให้เห็นว่าเงินทองไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับการลงทุนเรื่องการศึกษาสำหรับลูก

Advertisement

ชีวิตของ ชนนภัทร ถูกตีกรอบอยู่ภายใต้เรื่องของสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย เขาใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่ในโรงพยาบาลจนเป็นเรื่องคุ้นเคย แต่เขากลับปฏิเสธที่จะทำอาชีพหมอตามรอยพ่อแม่ ทั้งที่เป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน

วัยเด็กของ ชนนภัทร ค่อนข้างซนและอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็กผู้ชาย การเป็นลูกคนเดียวทำให้เขาใช้เวลาส่วนใหญ่เล่นอยู่ในบ้านตามลำพัง ซึ่งการดูหนังดูทีวีที่มีฉากบู๊ตามแบบฉบับลูกผู้ชายกลายเป็นการจุดประกายให้เขาสนใจในการต่อสู้

หนึ่งในภาพยนตร์ที่เข้ามากระแทกใจของ ชนนภัทร อย่างจัง คือภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “นายขนมต้ม” ซึ่งนำแสดงโดยวีรบุรุษเหรียญทองคนแรกของประเทศไทยอย่าง “สมรักษ์ คำสิงห์” ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาเห็นถึงความงดงามและมนต์เสน่ห์ของศิลปะการต่อสู้ ถึงขั้นปลุกใจให้เขาอยากจะศึกษาศาสตร์แขนงนี้ให้มากขึ้น

แต่แทนที่เขาจะได้เรียนมวยไทยอย่างในภาพยนตร์ แม่กลับพา ชนนภัทร ในวัย 10 ขวบไปสมัครเรียน ยูโด ซึ่งแม่เข้าใจว่าเป็น เทควันโด เพราะไม่รู้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร สุดท้าย ชนนภัทร จึงได้เรียนศาสตร์การต่อสู้ของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย แม้จะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยแต่เขาก็ทนเรียนได้ถึง 2-3 ปี

ชนนภัทร หยุดเรียนยูโดไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ชั้น ม.3 ในชมรมยูโดของโรงเรียน ครั้งนี้เหมือนมีแรงดึงดูดให้เขาสนใจในกีฬาการต่อสู้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน จนกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ในกีฬาต่อสู้หลากหลายแขนง เขาเริ่มเรียนกังฟูเพิ่มเติมจากเพื่อน

แถมยังเก็บความรู้วิชาบราซิลเลียนยิวยิตสูจากรุ่นพี่ที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกา ชนนภัทร นำศาสตร์การต่อสู้ทุกแขนงที่ร่ำเรียนมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และเสาะหาสถานที่ฝึกสอน “ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA)” ซึ่งเป็นศาสตร์วิชาที่ต้องใช้ทักษะความสามารถที่หลากหลายมารวมกันทั้งการยืนสู้และนอนสู้ แต่สมัยนั้นยังไม่มีที่ไหนเปิดสอนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่ออยู่มหาวิทยาลัย ชนนภัทร ศึกษาในคณะการโรงแรมและการท่องเที่ยวจีน ทำให้เขาสื่อสารภาษาจีนได้คล่องแคล่ว และยังเป็นการเอาใจพ่อแม่ที่อยากให้เขามีอาชีพเหมือนคนปกติทั่วไป แต่นั่นกลับไม่ใช่สิ่งที่ใจของเขาต้องการ พ่อแม่ของ ชนนภัทร มองภาพลักษณ์อาชีพนักกีฬาการต่อสู้ไม่ค่อยดีนัก แม่ซึ่งเป็นพยาบาลเห็นคนบาดเจ็บมาทั้งชีวิต จึงไม่อยากเห็นลูกชายตัวเองตกอยู่ในสภาพแบบนั้น

หลังจากเรียนจบเขายังมีความสุขกับการได้ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ และสอบผ่านคุณสมบัติการเป็นโค้ชสอนศิลปะการต่อสู้ แม้จะใช้เวลานานพอสมควร แต่ในที่สุดพ่อแม่ก็มองเห็นโอกาสและเริ่มสนับสนุนให้ ชนนภัทร เดินตามความฝันของตัวเอง แม้อีกใจหนึ่งจะอดห่วงลูกชายไม่ได้ก็ตาม

เมื่อ วัน แชมเปียนชิพ ซึ่งเป็นองค์กรศิลปะการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เข้ามาจัดการแข่งขันในประเทศไทย ชนนภัทร ได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากมายในกีฬาการต่อสู้แบบผสมผสาน ทั้งให้สัมภาษณ์ นักวิจารณ์ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่เคยลงแข่งขัน

จนกระทั่งเขาตัดสินใจขึ้นสังเวียนทดสอบขีดความสามารถของตัวเองในระดับอาชีพครั้งแรกในปี 2554 และเก็บชัยชนะได้สองครั้ง ก่อนก้าวเข้าไปเป็นนักกีฬาของ วัน แชมเปียนชิพ ในอีกหนึ่งปีต่อมา

เดิมที ชนนภัทร ยอมรับว่าหากมันไม่เวิร์กอย่างที่เขาตั้งใจก็แค่กลับไปเป็นโค้ชตามเดิม แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 8 ปีที่เขาเป็นนักกีฬาในสังกัดขององค์กรระดับโลก และขึ้นสังเวียนมาแล้วถึง 14 ไฟต์จนกลายเป็นที่รู้จักของแฟนกีฬาการต่อสู้ทั่วโลก

สำหรับ ชนนภัทร ในวัย 31 ปียังมีหนทางอีกยาวไกลที่เขาจะเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางสายนี้ ไม่ว่าจะในฐานะนักกีฬาที่ลงแข่งในสนาม หรือผู้ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ให้กับเยาวชนรุ่นต่อไปก็ตาม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image